‘ฮิลล์คอฟฟ์’ พึ่งวิจัยพัฒนา ‘ซูเปอร์ดริงก์’ จากกาแฟ

‘ฮิลล์คอฟฟ์’ พึ่งวิจัยพัฒนา ‘ซูเปอร์ดริงก์’ จากกาแฟ

ผู้บุกเบิกกาแฟไทยรุ่นเดอะ ขยับตัวสู่ธุรกิจนวัตกรรม เดินหน้าพัฒนางานวิจัยเปลี่ยนเปลือกกาแฟให้เป็น “ชาเชอร์รี่กาแฟ” สารต้านอนุมูลอิสระสูง เพิ่มมูลค่าเท่าตัว สอดรับนโยบายบีซีจี พร้อมตั้งเป้าพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมปูทางนำไทยสู่ “ฮับกาแฟ”

จากจุดเริ่มต้นของ “ฮิลล์คอฟฟ์” มาจากบรรพบุรุษที่ส่งเสริมชาวเขาให้ปลูกกาแฟทดแทนฝิ่น ตกทอดกลายเป็นธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ส่งเสริมการปลูก รับซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกรเข้าสู่โรงคั่วมาตรฐานและจำหน่ายไปยังร้านกาแฟสดทั่วประเทศ ปัจจุบันบริษัทมีเครือข่ายหมู่บ้านเกษตรกรในภาคเหนือประมาณ 90 หมู่บ้าน อาทิ ดอยช้าง ป่าแป๋ หรือแม้กระทั่งภูเรือ เพชรบูรณ์ ตาก โดยทั้งหมดเป็นกาแฟพันธุ์อาราบิก้า

ธุรกิจผูกมิตรสิ่งแวดล้อม

เราเป็นบริษัทที่รับซื้อกาแฟมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เริ่มจากผลผลิตเมล็ดแรกของเกษตรกรออกจนถึงผลผลิตเมล็ดสุดท้ายจบฤดูกาล เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับพันธุ์กาแฟ และได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการเพาะปลูก การจัดการเพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพสูง โดยบริษัทจะรับซื้อผลผลิตคืนทุกเกรดของเมล็ดกาแฟในราคายุติธรรม แล้วนำมาพัฒนาต่อยอดออกมาเป็นสินค้า” นฤมล ทักษอุดม กรรมการผู้จัดการ บริษัทฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด กล่าว

158160492245

ฮิลล์คอฟฟ์รับซื้อผลกาแฟสดมากกว่า 10 ตันต่อวัน แต่ละวันมีขยะเปลือกกาแฟที่เป็นต้นทุนการจัดการ จึงต้องพึ่งพางานวิจัยเพื่อต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ จึงเดินเข้าหาพันธมิตรภาครัฐ ประกอบด้วย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สมาคมส่งเสริมนวัตกรรมและการประดิษฐ์ไทย (ATIP) อีกทั้งยังมีกลุ่มนักวิจัยรุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ

งานวิจัยเริ่มกระบวนการนำเปลือกเมล็ดกาแฟมาเข้าเครื่องไมโครเวฟฟรีซดราย เพื่อรักษาสารอาหารได้มากที่สุด โดยเฉพาะ “กรดคลอโรจินิก” (Chlorohgenic Acid) พบมากถึง 11% ในเมล็ดกาแฟ ซึ่งมีงานวิจัยรับรองว่าเป็นสารสำคัญ โดยได้พัฒนาเป็น “ชาเปลือกกาแฟ” และต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น Coffogenic Drink ฟังก์ชันนัลดริงก์ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาร่วมกันของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยพะเยา

158160494421

จากที่ฮิลล์คอฟฟ์มองเห็นคุณค่า ที่นอกจากจะนำไปทำเป็นชาได้แล้ว ยังพัฒนาให้กลายเป็นเครื่องดื่มพร้อมดื่ม และรสชาติกาแฟที่มาจากเมล็ดกาแฟทั้งลูก ขณะเดียวกันก็พัฒนาเครื่องดื่มใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น กาแฟข้าวหอมที่ใช้กลิ่นข้าวหอมมะลิเติมไปยังเมล็ดกาแฟคั่ว หรือชาต้มยำ จึงนับว่าเป็นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างรายได้อย่างชัดเจน

ด้านสิ่งแวดล้อม นฤมล กล่าวว่า ฮิลล์คอฟฟ์ได้ดำเนินการหลายด้านเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบบำบัดกลิ่นและควันที่ช่วยลดมลภาวะจากฝุ่นและควันของโรงคั่วสู่ชุมชน การดำเนินงานในเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ผ่านการกระบวนการศึกษาหาวิธีด้วยงานวิจัย เช่น การหาวิธีป้องกันเปลือกของเมล็ดกาแฟเชอร์รีที่เหลือทิ้งเน่าและสร้างสารพิษออกมา ช่วยลดค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ถึง 16%

158160496233

ทั้งยังได้พัฒนาโรงตากเมล็ดกาแฟโดยใช้ “พาราโบลาโดม” จากพลังงานแสงอาทิตย์ และการบำบัดควันในโรงคั่วด้วยน้ำ โดยในอนาคตตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ทั้งกระบวนการผลิตไม่มีขยะหรือคาร์บอนไดออกไซด์หลงเหลือ อีกทั้งยังวิจัยแปรรูปเปลือกกาแฟเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง แผ่นแปะสิว ถือได้ว่าดำเนินอยู่บนเส้นทางของ zero waste ที่เป็นกระบวนการจัดการแบบ Circular System ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

วิจัยชี้โลกร้อนทำกาแฟสูญพันธุ์

ข้อมูล World Coffee Research ระบุว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้กาแฟหายไปภายในปี 2568 จึงเกิดเป็นกระแสที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างช่วยกันค้นคว้าวิจัยหาสายพันธุ์ที่ทนต่อสถานการณ์นั้น และในฐานะที่ประเทศไทยผลิตกาแฟมากเป็นอันดับที่ 23 ของโลก มีผลผลิต 3 หมื่นตันต่อปี ซึ่งฮิลล์คอฟฟ์ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ผลิตกาแฟ จึงได้เลือกกระโดดออกจากถ้วยกาแฟ (jump out of the cup) โดยเริ่มจากการสร้างอีโคซิสเต็มร่วมกับองค์กรต่างๆ

158160498837
สิ่งที่ฮิลล์คอฟฟ์ทำคือ การนำความรู้จากเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) สวทช. ด้วยการการเอาใจใส่สร้างอีโคซิสเต็มสิ่งแวดล้อม มุ่งเข้าหางานวิจัย เพื่อเสาะแสวงหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เกิดจากกาแฟ และการทำให้กาแฟยังคงอยู่คู่ผู้บริโภค

“ถนนเส้นใหม่นี้คาดว่าจะเป็นคำตอบของคำว่า “ยั่งยืน” เราไม่ได้เติบโตอยู่คนเดียว แต่สามารถทำให้ทุกคนในอุตสาหกรรมกาแฟสามารถเติบโตพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ทำยังไม่ใช่คำตอบของทั้งหมดเพราะธุรกิจกาแฟไทยยังก้าวหน้าไปได้อีกมาก”

158160500919