ทปอ.ปิดฉาก 'อินโนเวชั่นฮับส์' ผลลัพธ์ส่งต่อเศรษฐกิจบีซีจี
ทอป. แถลงผลงานความสำเร็จของโครงการ 'อินโนเวชั่นฮับส์' หลังจากรัฐบาลทุ่มทุนสนับสนุน 1,423 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นใน 5 กลุ่มเรื่อง พร้อมเตรียมขยายผลงานต่อยอดสู่โครงการ 'บีซีจี'
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้มหาวิทยาลัยในสังกัดที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โดยการสนับสนุนของดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสานพลังประชารัฐ D1 การยกระดับนวัตกรรมและการผลิต (Innovation & Productivity) โดยใช้งบประมาณกลางปี 2560 จำนวน 1,423 ล้านบาท ภายใต้ “โครงการ Innovation Hubs เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยสู่ภาคเอกชน วิสาหกิจชุมชน และการพัฒนานวัตกรรมโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย อันนำไปสู่การสร้างผู้ประกอบการใหม่และยกระดับผู้ประกอบการเดิม
ด้วยการสนับสนุนให้มีโครงสร้างพื้นฐานประเภทเครื่องมือที่สามารถขยายงานวิจัยสู่ระดับต้นแบบ ทุนพัฒนานวัตกรรมต่อยอดงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการสู่เชิงพาณิชย์ และการสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรมรายใหม่หรือ Startup ผลผลิตหลักของโครงการนี้ประกอบไปด้วย จำนวนผู้ประกอบการใหม่ การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ผลงานวิจัยที่ออกสู่เชิงพาณิชย์ การยกระดับชุมชน เป็นต้น
"เพื่อให้สอดคล้องกับการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมจึงมีความจำเป็นในการกระจายการพัฒนาไปสู่ภูมิภาคของประเทศ ดำเนินการในรูปแบบศูนย์กลางนวัตกรรม (Innovation Hubs) ของแต่ละประเด็น อาศัยกลไกการทำงานของทุกภาคส่วนแบบประชารัฐ (Public Private Partnership – PPP) ประกอบไปด้วยเครือข่ายมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน วิสาหกิจชุมชน และหน่วยงานรัฐ โดยมุ่งเน้นใน 5 กลุ่มเรื่องดังนี้ 1.เกษตรและอาหาร 2.พลังงานชีวภาพ 3.สังคมสูงอายุ 4.เมืองอัจฉริยะ และ 5.เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ส่วนผลการดำเนินงานสามารถสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ สร้างมูลค่าเพิ่มจากงานวิจัยและพัฒนา มีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ ๆ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนผู้ประกอบการต่อไปในอนาคต"
ส่วนทางด้านผลการดำเนินงานภาพรวมของโครงการ Innovation Hubs รศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ผู้อำนวยการโครงการ Innovation Hubs ทปอ. กล่าวว่า โครงการ Innovation Hubs เป็นโครงการริเริ่มในการสร้างเศรษฐกิจนวัตกรรมจากโมเดล Thailand 4.0 งบประมาณที่สนับสนุนให้กลุ่มมหาวิทยาลัยของ ทปอ. ได้นำมาขับเคลื่อนและผลักดันผลงานจากการวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ออกมาสู่การใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมใน 5 กลุ่มเรื่องที่เป็นจุดเด่นของประเทศคือ 1.เกษตรและอาหาร มุ่งเน้นการผลิตสินค้าเกษตร และอาหารคุณภาพชั้นนำเพื่อการบริโภคและส่งออก 2.พลังงานชีวภาพ มุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานชีวภาพที่เป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะก๊าซชีวภาพ และชีวมวลสำหรับชุมชน 3.สังคมสูงอายุ มุ่งเน้นอาหารเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุ และการดูแลและฟื้นฟูสุขภาพ ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศและของโลก 4.เมืองอัจฉริยะ มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ ของเมือง เช่น การคมนาคม การขนส่งสินค้า การจัดการด้านพลังงาน ความปลอดภัย การส่งเสริมระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ ตลอดจนนวัตกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อม และ 5. เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมด้วยการบูรณาการความรู้และเทคโนโลยีกับต้นทุนภูมิปัญญาและศักยภาพท้องถิ่น สร้างสรรค์ให้เกิดแผ่นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
"โดยมหาวิทยาลัยได้ร่วมมือร่วมใจกันทำงานด้วยกันและร่วมกับภาคเอกชน SME และวิสาหกิจชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการจากนวัตกรรม ผลการดำเนินงานโดยรวมของโครงการนี้ทำให้เกิดการถ่ายทอดผลงานจากการวิจัยถึง 569 โครงการ เกิดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากการวิจัยถึง 549 ผลิตภัณฑ์ มีเครือข่ายวิจัยที่เข้มแข็ง ในระยะเวลาเพียง 2 ปี สามารถเพิ่มยอดขายจากผลิตภัณฑ์นวัตกรรมไม่ต่ำกว่า 1,407 ล้านบาท เท่ากับงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุน มูลค่าที่ได้จะเพิ่มขึ้นหลังจากนี้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เกิดบริษัท Startup ไม่น้อยกว่า 179 บริษัท สามารถจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและนำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีไม่ต่ำกว่า 158 รายการ สามารถยกระดับ SME ให้มีความสามารถในการแข่งขันไม่น้อยกว่า 347 ราย และที่สำคัญคือมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับผู้ประกอบการในทุกภูมิภาคของประเทศ เช่น โรงงานต้นแบบแปรรูปอาหาร ห้องปฏิบัติการผลิตชุดวินิจฉัย และศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์"
ปัจจุบันโครงการ Innovation Hubs ได้เป็นฐานต่อยอดไปสู่เศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลปัจจุบันอันจะนำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำ และกับดักความไม่สมดุลต่อไปในอนาคต
ฐานต่อยอดสู่เศรษฐกิจบีซีจี
โครงการ Innovation Hubs กลุ่มเรื่องสังคมผู้สูงอายุ สนับสนุนการดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 98 โครงการแก่ 16 มหาวิทยาลัยสังกัด ทปอ. และบริษัทสตาร์ทอัพ 89 โครงการ เช่น โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านชุดตรวจวินิจฉัย (Diagnostic) โครงการการพัฒนาบ้านอัจฉริยะเพื่อผู้สูงอายุ รวมถึงความปลอดภัยทางอาหาร แอพพลิเคชั่นหรือระบบจัดการต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือ แจ้งเตือน ป้องกัน อำนวยความสะดวก รวมถึงการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ยา/อาหาร/อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ตลอดจนผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรชนิดใหม่ ชุดเวชสำอาง และ ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ
อาทิ เช่น วุ้นไคโตซานจับไขมัน ปัจจุบันมีรายได้โดยรวมเกิดขึ้นประมาณ 250 ล้านบาท และได้จัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อการส่งออกเรียบร้อยแล้ว ศูนย์ทดสอบยาและเวชภัณฑ์ทางคลินิกระดับประเทศ เพื่อส่งเสริมงานวิจัยทางคลินิก ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ก่อนที่จะขึ้นทะเบียนและสามารถนำมาใช้โดยผู้ป่วยและผู้บริโภคทั่วไป
รศ.พีระพงศ์ กล่าวว่า แม้จะได้รับงบประมาณสนับสนุนเพียง 1 ปี แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้เป็นฐานต่อยอดไปสู่เศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลปัจจุบัน ที่จะนำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำและกับดักความไม่สมดุลต่อไปในอนาคต