'ซิลิคอน คราฟท์' ผลิตไมโครชิพอัจฉริยะรุกสมาร์ทเฮลท์
“ซิลิคอน คราฟท์” ผู้ผลิตไมโครชิฟสัญชาติไทยส่งออกทั่วโลก ชูเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีอัจฉริยะเปลี่ยนโลก ต่อยอดผลิตภัณฑ์ยุคไอโอทีสร้างมูลค่าเพิ่มทุกธุรกิจ พร้อมรุกตลาดสมาร์ทเฮลท์พัฒนาชิพตรวจสุขภาพผ่านสมาร์ทโฟน เล็งวางแผนเข้าตลาดเอ็มเอไอขายหุ้น IPO ปี 63 นี้
บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 เป็นผู้ประกอบการไทยรายแรกและรายเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประกอบธุรกิจหลักด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์วงจรรวมอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การวิจัย พัฒนา ผลิตไมโครชิพ ส่งทดสอบ ทำการตลาดและจัดจำหน่ายเทียบเคียงกับบริษัทชั้นนำในซิลิคอนวัลเลย์ของสหรัฐ โดยส่งออกไปทั่วโลก อาทิ กลุ่มยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีนและสหรัฐ
เทคโนโลยีคลื่นวิทยุอัจฉริยะ
มานพ ธรรมสิริอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทฯ หรือ SIC กล่าวว่า ธุรกิจหลักของบริษัทจัดอยู่กลุ่มเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในกลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 โดยมีบทบาทสำคัญในการเป็นกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิมสู่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และนับเป็นผู้ประกอบการไทยที่เป็นภาคเอกชนเพียงรายเดียวในประเทศที่มีทีมผู้บริหารและทีมงานวิศวกรผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยและพัฒนาไมโครชิพสำหรับระบบอาร์เอฟไอดีมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 20 ปี
ผลิตภัณฑ์ของบริษัทแบ่งเป็น 4 กลุ่มตามลักษณะการใช้งานของลูกค้า ได้แก่ 1.ไมโครชิพสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์ (Animal Tag) เพื่อเพิ่มผลผลิตและความปลอดภัยในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น แคปซูลจิ๋วฝังใต้ผิวหนังสัตว์เพื่อใช้บันทึกประวัติและการตรวจสอบย้อนกลับ ครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 20% ในออสเตรเลีย แต่สามารถเติบโตได้มากกว่า 30% ต่อปี บริษัทยังเป็นผู้ผลิตไมโครชิพ Animal ID รายใหญ่อันดับ 3 จาก 5 รายของโลก
2.ไมโครชิพสำหรับระบบกุญแจสำรองอิเล็กทรอนิกส์ของยานยนต์ (Immobilizer) โดยดอกกุญแจสำรองกับช่องกุญแจรถจะถูกฝังชิพที่มีคลื่นตรงกัน เป็นอีกหนึ่งตลาดส่งออกที่สำคัญในระดับนิชมาร์เก็ต ที่บริษัทให้ความสำคัญ
3. ไมโครชิพสำหรับระบบเข้าออกสถานที่ อาทิ โรงแรม ที่พักอาศัย สำนักงาน
4. ไมโครชิพในกลุ่มคลื่นความถี่สูงแบบไร้สายในระยะประชิด (NFC) สำหรับสินค้าในกลุ่มเครื่องตรวจวัดค่าทางไฟฟ้า กายภาพและเคมี
นอกจากนี้ อาร์เอฟไอดียังนำไปใช้ในชีวิตประจำวันให้ได้รับความสะดวกสบายและรวดเร็ว ด้วยการพัฒนาสินค้าให้สามารถสื่อสารระหว่างกันตามเทรนด์ไอโอที อาทิ การเชื่อมโยงระบบการจ่ายชำระเงินกับเครื่องจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามร้านค้าหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ (อี-เพย์เมนท์) การนำไปใช้เป็นฉลากอัจฉริยะพิสูจน์การปลอมแปลงสินค้าได้ทันทีในกลุ่มธุรกิจสินค้าที่มีมูลค่า
ปรับสเกลบุกตลาดสมาร์ทเฮลท์
มานพ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาไมโครชิพสำหรับเครื่องตรวจวัดอัจฉริยะ (สมาร์ทเซ็นเซอร์) ชิ้นงานที่ทำสำเร็จแล้วคือ เครื่องวัดคุณภาพน้ำ TDS (Total Dissolve Solid) ที่ร่วมกับแบรนด์ต่างประเทศและนำร่องใช้แล้วกับผู้บริโภคเพื่อตรวจวัดปริมาณของแข็งที่แขวนลอยหรือละลายในน้ำ ตรวจวัดสารเคมีตกค้างในน้ำประปาหรือน้ำในแม่น้ำลำคลอง การตรวจวัดองค์ประกอบทางเคมีในพืชผลการเกษตรเพื่อการส่งออก
บริษัทยังมีแผนขยายตลาดเพิ่มอีก 1 กลุ่มคือ ธุรกิจการออกแบบไมโครชิพที่เชื่อมต่อกับเซ็นเซอร์ต่างๆ เพื่อตรวจวัดสุขภาพโดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุระยะสั้น (NFC) เช่น สามารถอ่านค่าได้ผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งนำไปพัฒนาเป็นอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์เบื้องต้นได้ อาทิ การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจวัดเชื้อโรคในสารคัดหลั่งที่อาจจะมาจากเหงื่อหรืออื่นๆ
“ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาปรับปรุงให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกับเครื่องมือวัดชั้นสูงในโรงพยาบาล ที่เข้าถึงได้ในค่าใช้จ่ายที่เอื้อมถึง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักของสมาร์ทเฮลท์ในอนาคต โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาลและเสียค่าตรวจถึงหลักพันบาท ในสิ้นปีนี้อาจจะเห็นกระบวนการในเรื่องของความร่วมมือ”
มานพ อธิบายอีกว่า ด้วยความที่อยู่ในอุตสาหกรรม 4.0 มานาน ได้ใช้ทักษะความรู้พัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นเอง มีกระบวนการทำงานแบบสมองไหลกลับ คือดึงดูดคนเก่งจากต่างประเทศให้กลับเข้ามาพัฒนาประเทศ เพื่อต้องการนำความรู้และประสบการณ์จากการทำงานด้านการออกแบบวงจรรวม (IC) มาถ่ายทอดและพัฒนาให้เห็นว่างานวิจัยหรือความรู้ด้านวงจรรวมสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้สูงมาก
จ่อเข้าเทรดตลาดเอ็มเอไอ
ทั้งนี้ ภายใต้การดำเนินงานในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีดังกล่าวมาเกือบ 20 ปี ซิลิคอน คราฟท์ ยังมีเป้าหมายสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผ่านงานวิจัยสิ่งใหม่ๆ พร้อมนำเสนอนวัตกรรมทางการออกแบบขั้นสูง รวมถึงสร้างผลิตภัณฑ์อัจฉริยะที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์บริโภคยุคใหม่ เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำของไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต
เพื่อรองรับแผนงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง บริษัทมีเป้าหมายที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (MAI) ในปี 2563 แต่กำลังหาจังหวะและบรรยากาศการลงทุนที่เหมาะสมก่อนออกหุ้น IPO โดยมีวัตถุประสงค์การดำเนินงาน 4 ประเด็นคือ 1.นำทุนเหล่านี้ไปจัดจ้างนักวิจัยและพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูง 2.พัฒนาระบบและผลิตผลงานให้มีศักยภาพทันสมัยต่อโลกปัจจุบัน 3.ทุนในการเข้าพันธมิตร 4.ทุนหมุนเวียนทำวิจัย เนื่องจากการลงทุนด้านการวิจัยค่อนข้างสูงและการที่จะพัฒนานาระบบเซ็นเซอร์จะต้องมีความเสถียร ดังนั้น IPO จะเป็นจุดเชื่อมต่อเทคโนโลยีเหล่านี้ได้