TEV ติดเครื่องทำตลาด city ev bus หลังจากทดลองวิ่งนาน 4 ปี
'ไทยยานยนต์ไฟฟ้า' พร้อมที่จะทำการตลาดรถบัสไฟฟ้า (EV BUS) ในปี 2563 หลังจากทำการทดสอบและเก็บข้อมูลเชิงลึกอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมา หนุนด้วยปัจจัยแวดล้อมทั้งฝุ่น pm2.5 ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ทำให้ราคาถูกลง ระยะใช้งานนานขึ้น
บริษัท ไทยยานยนต์ไฟฟ้า จำกัด หรือ TEV จัดตั้งเมื่อปี 2559 จากการรวมกลุ่มของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ 34 บริษัทในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสนับสนุนที่ใช้พื้นฐานด้านวิศวกรรมเครื่องกลและการผลิต ที่เล็งเห็นว่า ในอนาคตรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เพื่อลดปัญหามลภาวะ และส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้มีโอกาสผลิตในประเทศ
สมบูรณ์ ทิพยรังสฤษฏ์ ประธานกรรมการบริหาร TEV กล่าวว่า บริษัทได้รับสนับสนุนจากสํานักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี (สส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และสมาคมเครื่องจักรกลไทย ภายใต้โครงการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่าหรือวิศวกรรมย้อนรอย (Reverse Engineering) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี เครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อการผลิตต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าแบบโครงสร้างโมโนค็อก (Monocoque) ชนิดใช้แบตเตอรี่แบบชาร์จเร็ว (Pure Electric Vehicle; Quick Charge battery) รองรับความต้องการภายในประเทศ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับความต้องการของคนเมืองในปัจจุบัน และอนาคต เหมาะสมต่อการบริการขนส่งมวลชนของประเทศไทยในทุกฤดูกาล
ขณะเดียวกันก็ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือและรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต และประกอบรถต้นแบบจากผู้ประกอบการในจีนและไต้หวัน ที่มีชื่อเสียงด้านยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งจะทำให้ทราบถึงเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่แตกต่างกันของทั้งสองประเทศด้วย ซึ่งทั้งสองสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสภาพความต้องการใช้งานในไทย
“ผลผลิตจากโครงการฯ คือ รถบัสไฟฟ้าแบบโครงสร้างโมโนค็อกขนาด 6.5 เมตร จำนวน 20 ที่นั่ง และขนาด 10.5 เมตร จำนวน 32 ที่นั่ง ที่ออกแบบวางแบตเตอรี่ไว้บนหลังคา สามารถผจญกับปัญหาน้ำท่วมขังได้ดี เนื่องจากรถที่นําเข้ามาจากต่างประเทศทั้งหลาย มีการออกแบบวางแบตเตอรี่ไว้ด้านล่างและท้ายรถ ซึ่งเสี่ยงต่อเหตุการณ์น้ำท่วมถึงหรือกระเซ็นเข้าถึง ขณะที่ผู้ผลิตต่างประเทศไม่ได้ตระหนักถึงประเด็นนี้ เพราะล้วนแต่อยู่ในเขตหนาวเย็น ที่มีสภาพอากาศแตกต่างจากเขตร้อนชื้น”
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา EV BUS ต้นแบบได้ทดลองให้บริการรับส่งแก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานตามสภาพความเป็นจริงทั้งขณะที่บรรทุกผู้โดยสารเต็มคัน และขณะวิ่งรถเปล่า เช่น ข้อมูลระยะทางต่อการชาร์จแบตเตอรี่ การขับขี่ในสภาพการจราจรติดขัดที่ต้องเบรกสลับการเร่งไปเรื่อยๆ การไต่ขึ้นเนินหรือคอสะพาน ตลอดจนข้อมูลความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ ผู้ขับขี่และข้อมูลความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น กระทั่งได้ข้อมูลครบถ้วนตามต้องการ ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ที่ทำให้ใช้งานได้ยาวนานขึ้นในราคาที่ถูกลง จึงพร้อมสำหรับการทำตลาด โดยรับผลิตและประกอบตามสเปคที่ลูกค้าต้องการ
วนิดา บุญนาคค้า ผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมฯ กล่าวว่า กระทรวง อว. จัดทำโครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรด้วยกระบวนการวิศวกรรม เพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า หรือโครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบ ด้วยกระบวนการวิศวกรรมย้อนรอย โดยมุ่งพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการ ผ่านกระบวนการให้คําปรึกษาและการอุดหนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งสํานักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สํานักงานปลัดกระทรวง อว. ร่วมมือกับ MTEC (สวทช.) ผลักดันผลงานมานานกว่า 10 ปี และได้รับความร่วมมืออันดีกับกลุ่มผู้ประกอบการในเครือข่ายของสมาคมเครื่องจักรกลไทย ในการนําเอาผลงานจากโครงการไปขยายผลสู่เชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ หนึ่งในผลงานจากสมาคมเครื่องจักรกลไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการฯ ประสบผลสําเร็จ มีศักยภาพในการขยายผล พร้อมส่งมอบสู่การใช้งาน นั่นคือ รถบัสไฟฟ้า ที่พัฒนาขึ้นด้วย ความสามารถของสมาคมเครื่องจักรกลไทย, บ.ไทยเซ็นทรัลเมคคานิคส์ฯ และบ.ไทยยานยนต์ไฟฟ้าฯ
สำหรับการดําเนินโครงการดังกล่าว เริ่มต้นศึกษาจาก EV BUS ต้นแบบของ TEV ที่มีอยู่ ควบคู่ไปกับการทํา ข้อตกลงความร่วมมือและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและประกอบรถบัสไฟฟ้าแบบโครงสร้าง Monocoque จากต่างประเทศ เพื่อพัฒนารถบัสไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับประเทศไทย สำหรับการจัดหา-จัดส่ง อุปกรณ์มาตรฐานหรือบางชิ้นส่วนที่สําคัญ ไทยไม่สามารถทําได้หรือยังไม่คุ้มค่ากับการทำ จึงดำเนินการส่งวิศวกรเครื่องกล วิศวกรไฟฟ้าและควบคุม รวมถึงช่างฝีมือ เข้ารับการฝึกอบรมทางวิชาการ และแบบ On the job training เพื่อให้ได้รับประสบการณ์จริงในกระบวนการผลิตรถบัสไฟฟ้า จากสถานที่ปฏิบัติงานจริงในโรงงาน ซึ่งจะช่วยให้ไทยพัฒนาได้ทันตามความต้องการ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงในขั้นตอนการดําเนินงาน สามารถทําการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อไปในอนาคตได้ เมื่อผู้ผลิตสามารถเสริมสร้างศักยภาพการผลิตได้จนเป็นที่ยอมรับ จะทําให้เกิดความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมไทยที่สมบูรณ์ขึ้น
ข้อมูลและองค์ความรู้ที่ได้มาจากการดําเนินโครงการฯ ช่วยส่งเสริม สนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ ทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ รวมทั้งภาคบริการด้านยานยนต์ภายในประเทศ ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถดำเนินการผลิตได้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของไทย ทั้งต้นทุนการผลิตที่สามารถเสนอราคาขายได้ในราคาที่ต่ำลง สามารถแข่งขันราคากับคู่แข่งต่างประเทศได้ง่าย สามารถผลิตออกจําหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในประเทศ นอกจากช่วยลดการนําเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศแล้ว ยังช่วยให้เกิดธุรกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าต่อเนื่องในประเทศได้เร็วขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต