'เทคโนโลยีสองทาง' เพื่อความมั่นคง

'เทคโนโลยีสองทาง' เพื่อความมั่นคง

การพัฒนา 'วัสดุอุปกรณ์' และ 'เทคโนโลยีที่ใช้ได้สองทาง' ที่สามารถนำไปใช้ได้ในทางสันติหรือทางพาณิชย์ทั่วไป โดยอาศัยการบูรณาการข้อมูลร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนสามารถนำไปพัฒนาเป็นสินค้าที่กลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ สร้างรายได้เข้าประเทศได้อีกมากมาย

ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Emerging technologies) ทั้งที่มีวัตถุประสงค์เริ่มต้นเพื่อการทหารหรือจากภาคพลเรือน ต่างสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการป้องกันอธิปไตยของชาติ รวมถึงสามารถใช้ตอบสนองเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนได้เช่นเดียวกัน จึงก่อเกิดอุตสาหกรรมที่ใช้ได้ทั้งในภาคพลเรือนและด้านความมั่นคง (Dual-Use Industrial) และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (Defense Industries) ซึ่งนับเป็นเอส-เคิร์ฟที่ 11 ของประเทศ ต่อจาก 10 อุตสาหกรรมเอส-เคิร์ฟ ที่รัฐบาลเคยประกาศก่อนหน้านี้ 

158272891212

การพัฒนาวัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use technologies) หรือสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Goods) ซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถนำไปใช้ได้ในทางสันติหรือทางพาณิชย์ทั่วไปนั้น ต้องอาศัยการบูรณาการข้อมูลร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนสามารถนำไปพัฒนาเป็นสินค้าที่กลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ สร้างรายได้เข้าประเทศ

ในการส่งเสริมการสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จากการนำเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์เข้ามาประยุกต์ใช้ในระยะต้นนั้น ควรให้ความสำคัญกับพื้นฐานความพร้อมของอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ ที่จะสามารถเกื้อหนุนเชื่อมโยงให้เกิดอุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้ก่อนเป็นสำคัญ 

158272896486

จากการส่งเสริมการลงทุนของไทยตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมายานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มีการเข้ามาลงทุนภายในประเทศและสร้างเม็ดเงินมากถึงประมาณ 5.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2558 ซึ่งไทยได้ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ในอนาคตจะหลอมรวมอุตสาหกรรมข้างเคียงอื่นๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนผ่านผู้ประกอบการไทยตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า ทั้งในส่วนของแบตเตอรี่ เซนเซอร์อัจฉริยะ ระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ระบบอัตโนมัติ รวมถึงชิ้นส่วนต่างๆ ที่เทคโนโลยีเชิงพาณิชย์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่สามารถนำเข้ามาประยุกต์ใช้และต่อยอดในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศต่อไปได้ 

สำหรับการผลิตยุทโธปกรณ์ของไทย แม้จะยังผลิตได้บางส่วนจากโรงงานสรรพาวุธ สังกัดกระทรวงกลาโหม 48 แห่ง แต่เป็นเพื่อการซ่อมบำรุงให้แก่กองทัพเท่านั้น หากแต่ปัจจุบันได้เริ่มมีผู้ประกอบการ ประมาณ 60 บริษัท ผลิตสินค้าเชิงพาณิชย์และมีความสามารถในการผลิตยุทโธปกรณ์ส่งออก อย่างรถยนต์นั่งกันกระสุน ยานพาหนะช่วยรบ เรือไร้คนขับ อากาศยานไร้คนขับ รวมถึงเสื้อเกราะกันกระสุนร่วมกับทางกองทัพ 

นอกจากนี้ยังมีการวิจัยและพัฒนาระบบวิเคราะห์ประมาณผลเพื่อใช้ในเชิงความมั่นคง ร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ อีกด้วย เช่น ระบบตรวจจับและรู้จำใบหน้า ระบบประมวลผลภาพ ระบบการป้องกันภัยทางไซเบอร์ รวมถึงหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการหยั่งรากฐานในการก่อร่างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ให้เข้าสู่ตลาดและสามารถแข่งขันได้ต่อไปในอนาคต 

158272892538

ขณะเดียวกัน สวทช.ได้จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ เพื่อวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีสองทางสนับสนุนและยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีสองทางที่วิจัยได้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์และในกองทัพ ตลอดจนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้อุตสาหกรรมเอส-เคิร์ฟที่ 11 ก้าวไกลไปสู่อุตสาหกรรมที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

158272893870

(ข้อมูลบางส่วนจาก รายงานเชิงวิเคราะห์ เรื่อง สถานภาพปัจจุบันและสัญญาณอนาคตของอตุสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ 10 Technological Development Groups (TDGs) ของ สวทช. )

คอลัมน์ : เทคโนโลยีปริทรรศน์ ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช. เมธีวิจัยอาวุโส สกว.