ซีพีวิจัย ‘กรีนแพกเกจจิ้ง’ ตอบโจทย์ไมโครเวฟ-แช่แข็ง
ซีพีออลล์สานต่อเส้นทางองค์กรสายกรีน ส่งมอบโจทย์พัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารย่อยสลายได้ 100% ให้เอ็มเทคขบคิด พร้อมทุนสนับสนุนการวิจัยประมาณ 10 ล้านบาท ระบุต้องปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทนต่ออุณหภูมิในตู้แช่เย็น-การอุ่นร้อนในไมโครเวฟ
รับกระแสบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก
วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ เปิดเผยว่า การรับมือกับปัญหาขยะพลาสติกเป็นความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ที่ทั้งประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญ ซึ่งรวมถึงซีพีออลล์และบริษัทย่อยที่ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ ผ่านยุทธศาสตร์หลักที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2554 ภายใต้โครงการ “7 Go Green”
ซีพีออลล์จำหน่ายอาหารพร้อมรับประทานในร้านสะดวกซื้อ จึงทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้วัสดุที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนบนพื้นฐานแนวความคิดบีซีจี แต่การนำพลาสติกชีวภาพที่ทำมาจากธรรมชาติและย่อยสลาย 100% มาใช้นั้นจะต้องอาศัยองค์ความรู้ทางด้านวัสดุศาสตร์ เพื่อยืดอายุของอาหารได้ยาวนานขึ้น มีคุณสมบัติทนต่อความร้อนและความเย็น ลดปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์
ขณะที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) มีความเชี่ยวชาญตรงจุดนี้ จึงได้เกิดความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกสำหรับใส่อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท ที่ถือเป็นหนึ่งในนโยบายส่งเสริมการพัฒนากระบวนการผลิต สร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากบรรจุภัณฑ์ มุ่งสู่กรีนแพคเกจจิ้งที่คำนึงถึงทุกกระบวนการในวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ และเมื่อการทดลองสำเร็จผลแล้วก็จะมีขยายผลสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป
วางกรอบต่อยอดไบโอพลาส
จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า โดยเอ็มเทคมีทีมวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ในการนำองค์ความรู้ด้านโพลิเมอร์ขั้นสูงไปประยุกต์ใช้ในการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับใส่อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกับซีพีออล์
เบื้องต้นจะเป็นการพัฒนาสูตร ทดสอบคุณสมบัติความทนทานต่อความร้อนและความเย็นความแข็งแรง โดยจะต้องเป็นพลาสติกชีวภาพที่มีคุณสมบัติทนความร้อนของไมโครเวฟในการอุ่น และทนความเย็นในการแช่แข็ง นอกจากตัวสูตรพลาสติกแล้วก็จะพัฒนากรรมวิธีการขึ้นรูปอีกด้วย
ทั้งนี้ การร่วมกันศึกษาและพัฒนาเพื่อที่จะหาวัสดุและทำเป็นต้นแบบสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารนี้ เฟสแรกจะเป็นการคิดค้นสูตรบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติทนต่อการแช่เย็นบนอุณหภูมิประมาณ 5 องศาเซลเซียส และทนต่อความร้อนของอุณหภูมิการอุ่นไมโครเวฟ 100-120 องศาเซลเซียส จึงเป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่แล้วในแง่ของความแข็งแรงและการทนความร้อนจะต่ำกว่าพลาสติกทั่วไป
จากนั้นจะมีการทดลองขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ เบื้องต้นกำหนดระยะเวลาเฟสแรกไว้ 1 ปี โดยวัสดุไบโอพลาสติกเกรดสัมผัสอาหารสามารถหาได้ในตลาดเนื่องจากมีจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ค่อนข้างมาก แทนการสังเคราะห์หรือพัฒนาขึ้นเอง เพราะใช้เวลานานและต้นทุนสูง แต่จะต้องมีการปรับคุณสมบัติเพื่อให้มีคุณสมบัติตรงตามต้องการ
กระบวนการเหล่านี้แบ่งเป็นหลายเฟสจึงต้องอาศัยระยะเวลาพอสมควร เมื่อได้ผลสำเร็จแล้วก็ต้องมาคำนวณถึงต้นทุน เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในเชิงธุรกิจได้อย่างเหมาะสม ไม่สร้างภาระเพิ่มให้ผู้บริโภคปลายทาง นอกจากนี้ในระยะถัดไปจะมีการทดสอบว่า สามารถสลายตัวได้มากน้อยแค่ไหน หากได้ผลลัพธ์ตรงนี้ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะสร้างนวัตกรรมทดสอบการย่อยสลาย ที่การใช้งานไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่จะก้าวสู่ระดับโลก เพื่อร่วมผลักดันการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับใส่อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริงได้จริงในอนาคต