‘สภาดิจิทัลฯ’ ผนึก 3 ค่ายมือถือ ผุดซิมนักเรียนใช้ฟรีหนุนเรียนออนไลน์
ซิม 400 บาท ใช้เน็ตไม่อั้นนาน 3 เดือน หนุนเรียนออนไลน์ทำงานที่บ้าน หลังพบทราฟฟิกดาต้าเน็ตสูงขึ้น 20% จากช่วงปกติ
พร้อมพัฒนาโซลูชั่นควบคุมโรคผ่านแอพพลิเคชั่น ใช้เอไอช่วยประมวลผลย้อนหลัง 14 วัน หลังช่วยลดความเสี่ยงบุคลากรทางการแพทย์
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาดิจิทัลฯตระหนักถึงสภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทย ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจต่างๆ ดังนั้น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของดิจิทัล ซึ่งสภาดิจิทัลฯได้ร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ค่าย ได้แก่ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น สนับสนุนมาตรการภาครัฐ เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาสามารถออนไลน์ เรียนหนังสือจากที่บ้าน (Learn from Home) ได้อย่างสะดวกและไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่าย
โดยจัดซิมการ์ดราคาพิเศษใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือความเร็ว 4 เมกะบิตแบบไม่ลดสปีดและไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน ใช้ได้นาน 3 เดือน
“จากการตรวจสอบการใช้งานอินเทอร์เน็ต หรือ ดาต้าในช่วงที่มีการ Work from Home ของประชาชนหรือการเรียนที่บ้าน Learn from Home พบว่ามีอัตราการใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้น 15-20% จากการสอบถามผู้ประกอบการทุกค่าย โดยปกติช่วงเวลาที่มีการใช้งานสูงสุดจะอยู่ที่ 18.00-20.00 น.แต่ปัจจุบันในช่วงเวลากลางวันมีการใช้งานเพิ่มมากขึ้นด้วย”
เขา กล่าวว่า ในด้านดิจิทัล โซลูชั่น สภาดิจิทัลฯ ได้ร่วมกับพันธมิตรองค์กรต่างๆ พัฒนาแพลตฟอร์มที่มีประโยชน์ต่อการควบคุมโรค เช่น การติดตามย้อนหลังเพื่อการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโรค ประกอบด้วย แอพพลิเคชัน “Self D-care Heatmap” : ระบบติดตามตำแหน่งการเดินทางของผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อในช่วงระยะเวลา 14 วันย้อนหลัง ซึ่งสามารถดูไทม์ไลน์ของตัวเองย้อนหลังได้ อีกทั้ง ผู้ที่อยู่ในระหว่างการรักษา ยังสามารถบันทึกข้อมูลการรักษาและการตรวจสภาพร่างกายเพื่อให้แพทย์เจ้าของไข้ใช้ในการเฝ้าดูและติดตามผลการรักษาได้ด้วย
แพลตฟอร์ม “uSAFE” : แพลตฟอร์มคำนวณความเสี่ยงว่ามีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ โดยอาศัยการคำนวณระยะห่างจากผู้ติดเชื้อและระยะเวลาที่อยู่กับผู้ติดเชื้อ ด้วยการใช้เอไอประมวลผลย้อนหลัง 14 วัน รวมไปถึง แอพพลิเคชั่น “QR Checkin” : ระบบติดตามประวัติการเดินทางของผู้ป่วยว่าไปสถานที่ใดบ้าง โดยใช้การสแกนคิวอาร์ โค้ด เพื่อเก็บข้อมูล
อีกทั้ง ยังได้รวบรวมช่องทางการรับบริจาคให้ตรงกับความต้องการของแต่ละโรงพยาบาลผ่าน helpital.com ซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ รวมไปถึงโซลูชั่นด้านสุขภาพของผู้สูงวัย ได้แก่ แอพพลิเคชั่น “แทนคุณ” : แพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์รวมบริการผู้สูงอายุที่ต้องอยู่บ้านในสถานการณ์เช่นนี้ ครอบคลุมการดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้สูงอายุ โดยบุคลากร ทั้งพยาบาลวิชาชีพ ผู้ช่วยพยาบาล นักกายภาพบำบัด และผู้ช่วยเหลือคนไข้ รวมไปถึงการเรียกรถแท็กซี่ รถพยาบาลด้วย
สุดท้ายด้านข้อมูลข่าวสาร ที่จะรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์ COVID-19 ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ เว็บไซต์ covid-19.dct.or.th, Facebook : Digital Council of Thailand – DCT และรายการในช่อง TNN รวมถึงพัฒนาเว็บไชต์ www.dct.co.th ให้เป็นศูนย์รวมแอปพลิเคชัน สำหรับการประชุมและเรียนออนไลน์
ขณะเดียวกัน ยังเร่งผลักดันเกี่ยวกับนโยบายกฏหมาย ในการผลักดันเรื่องการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกกฎหมาย ด้วยการยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลขอให้พิจารณาปรับปรุงกฎหมาย เช่น การกำหนดให้ต้องมีผู้ร่วมประชุม 1 ใน 3 ขององค์ประชุมต้องอยู่ในที่ประชุมเดียวกัน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความจำเป็นในปัจจุบัน