มน.วิจัยยืดอายุส่งออก 'มะม่วง' ทางเรือ

มน.วิจัยยืดอายุส่งออก 'มะม่วง' ทางเรือ

สกสว.หนุน ม.นเรศวรใช้ประโยชน์จากงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ช่วยชาวสวน 'มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง' ส่งออกทางเรือไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ลดต้นทุนการขนส่งได้ประมาณ 2 เท่า พร้อมจัดอบรมออนไลน์และประสานงานผู้ส่งออกให้ฟรี!

ผศ.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อนนี้มีผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองออกมาเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อต้องเผชิญวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถส่งออกมะม่วงไปประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งเป็นตลาดพรีเมี่ยมที่สำคัญ และทำรายได้ให้แก่ประเทศไทยอย่างมากทุกปี เนื่องจากมีสายการบินพาณิชย์ให้บริการจำนวนน้อย แต่มีค่าระวางเครื่องบินราคาแพง 

158678239768


ขณะนี้ผลผลิตมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 10,000 ตัน ส่วนราคาขายภายในประเทศต่ำกว่ากิโลกรัมละ 20 บาท จากราคาปกติกิโลกรัมละ 50-60 บาท ส่งผลให้เกษตรกรเดือดร้อนประสบปัญหาขาดทุนอย่างมาก อีกทั้งก่อนหน้านี้เกษตรกรยังประสบปัญหาด้านคุณภาพของผลผลิตไม่ได้มาตรฐานตามความต้องการของบริษัทส่งออกมะม่วงสดไปยังตลาดต่างประเทศ
ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิตก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวที่ไม่เหมาะสม การแพร่ระบาดของแมลงวันผลไม้ สภาวะของการให้ปุ๋ยในช่วงที่ไม่เหมาะสม และเกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศในช่วงออกดอกและติดผล ทำให้ผลสุกมีคุณภาพต่ำ

จากผลงานวิจัยเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกตลาดประเทศญี่ปุ่นโดยการขนส่งทางเรือเชิงพาณิชย์” ภายใต้ทุนวิจัยมุ่งเป้าจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พบว่า เทคนิคยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในสภาพดัดแปลงบรรยากาศ โดยการบรรจุถุงพลาสติก WEB (White ethylene absorbing bag) และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส สามารถยืดอายุการได้ 33 วัน จากเดิม 15 วัน ถุงพลาสติก WEB ช่วยลดการสูญเสียน้ำ ลดอัตราการหายใจและลดการผลิตเอทิลีน โดยยังคงรักษาคุณภาพมะม่วงให้อยู่ในระดับที่ได้รับการยอมรับของผู้บริโภค

158678244561

คณะวิจัยได้ทดลองส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองทางเรือไปท่าเรือโยโกฮาม่า ญี่ปุ่น 1.2 ตัน ในช่วงฤดูร้อนเพื่อยืนยันผลการวิจัย โดยใช้ระยะเวลาตั้งแต่เก็บเกี่ยวจนถึงประเทศญี่ปุ่น 20 วัน พบว่ามะม่วงทั้งหมดอยู่ในสภาพสด พร้อมจำหน่ายและยังคงรสชาติได้ดี เป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค ทั้งนี้ การขนส่งทางเรือสามารถลดต้นทุนการขนส่งได้ประมาณ 2 เท่า (ที่หน่วยขนส่ง 10 ตันทางอากาศ เทียบกับ 10 ตันทางเรือ) โดยมีต้นทุนการขนส่งไม่เกิน 30 บาทต่อกิโลกรัม

158678250087

ผศ.พีระศักดิ์ จึงเสนอแนวทางดังกล่าวให้กับเกษตรกรในช่วงวิกฤติโควิด-19 ภายใต้การสนับสนุนของ สกสว. โดยในเดือน เม.ย.2563 มีการส่งออกไปทางเรือแล้ว 20 ตัน ขณะที่มะม่วงมหาชนกจะขนส่งถึงท่าเรือโยโกฮามาในวันที่ 16-17 เม.ย.นี้ 

การขนส่งสินค้าทางเรือเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงอยู่รอด หากเกษตรกรหรือผู้ส่งออกรายใดต้องการความช่วยเหลือทางวิชาการ สามารถเข้ารับการฝึกอบรมออนไลน์ หรือหากต้องการให้ประสานงานกับผู้ส่งออกและนำเข้าปลายทางในสองประเทศดังกล่าวโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถติดต่อนักวิจัยได้ที่ 08 1971 3510

158678248540