'ดีอีเอส' ถกเลื่อน 'กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล'
ดีอีเอส เร่งถกยืดบังคับใช้กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล หลังพบ 'โควิด' ทำพิษ หลายบริษัทพ่วงเอสเอ็มอียังไม่พร้อมปรับใช้
ระบุไม่เกินสิ้นเดือนนี้ได้ข้อสรุปจะเลื่อนไปเป็นช่วงไหน “พุทธิพงษ์” ชี้จะต้องดำเนินการให้เหมาะสม ทั้งการออกกฎหมายลูก หรือระเบียบที่จำเป็น เพื่อให้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนำไปบังคับใช้ให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึง ตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 มีประกาศใช้ใช้ไปเมื่อ 27 พ.ค. 2562 และจะมีผลบังคับใช้ในปลายเดือนนี้คือ 28 พ.ค. 2563 โดยกฎหมายบัญญัติให้มีการจัดตั้งสำนักคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และออกระเบียบและกฎหมายลูกในการปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการดำเนินการ ตามบทบัญญัติของกฎหมายไม่สามารถเลื่อนการมีผลบังคับใช้ออกไปได้
แต่เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ประกอบกับการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตนเห็นตรงกับหลายฝ่ายว่าควรหาช่องทางบรรเทาการบังคับใช้ด้วยการยืดระยะเวลาออกไปอย่างน้อย 1 ปี โดยได้รับฟังข้อเสนอจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ที่เสนอให้ รัฐบาลตราพระราชกฤษฎีกายกเว้นการนำบทบัญญัติของพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมดหรือบางส่วนมาบังคับใช้ โดยตนได้นำเรื่องนี้เข้าหารือกับนายวิษณุเครืองามรองนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้และเหตุผลความจำเป็นในการออกพระราชกฤษฎีกา
“เราพยายามจะให้ยืดระยะเวลาออกไป เพื่อให้ การบังคับใช้กฎหมายเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันเพราะถ้าหากรีบใช้อาจจะไม่เกิดประโยชน์กับทุกคน และความพร้อมทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนที่ต้องปฏิบัติ เพราะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ต้องยอมรับว่ามีหลายบริษัทรวมไปถึงเอสเอ็มอีเอง ปรับตัวเพราะให้เข้ากับกฎหมายไม่ทัน จึงก็ต้อง พิจารณาให้ดี" นายพุท ธิพงษ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี สิ่งที่มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จคือการจัดตั้งสำนักงาน และการแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) มาดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อม จะได้ไม่มีปัญหาการสื่อสาร รวมถึงการปรับตัว ของบุคลากรเอง ในฐานะผู้ปฏิบัติรักษากฎหมาย จะพยายามปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด กระทรวงดีอีเอสไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามหาทางดูว่าจะทำอย่างไรที่จะให้ทำให้ทุกฝ่ายสามารถปฏิบัติตามกฏหมายได้
นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า ตนจะดำเนินการเรื่องนี้ให้ได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนพ.ค.นี้ เพื่อเตรียมความพร้อมที่เหมาะสมที่สุดก่อนถึงเวลาที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ตนเชื่อว่าหากตราพระราชกฤษฏีกาให้ยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปสักระยะหนึ่งจะสามารถดำเนินการที่เหมาะสม และการออกกฎหมายลูก หรือระเบียบที่จำเป็น เพื่อให้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนำไปบังคับใช้ให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย