มทส.พัฒนา 'เครื่องอบเวชภัณฑ์' กำจัดไวรัส

มทส.พัฒนา 'เครื่องอบเวชภัณฑ์' กำจัดไวรัส

มทส. ผลิตเครื่องกำจัดและกรองอากาศ ด้วยระบบพลาสมาและเครื่องกำเนิดโอโซนกำลังสูง ระบุทำหน้าที่อบกำจัดเชื้อในอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่ ลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เตรียมส่งมอบให้ รพ.รามาธิบดี และ รพ.วชิระ เพื่อรับมือสถานการณ์วิกฤติโควิด-19

รศ.ชาญชัย ทองโสภา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ผู้พัฒนาผลงานวิจัยต้นแบบเครื่องกำจัดและกรองอากาศด้วยระบบพลาสมาเพื่อกำจัดเชื้อในอากาศ ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และเครื่องกำเนิดโอโซนกำลังสูงเพื่ออบกำจัดเชื้อไวรัสในอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่ประเทศไทยและทั่วโลกต้องรับมือกับภาวะวิกฤติโควิด-19 จึงได้พัฒนาอุปกรณ์เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อของผู้ป่วยสู่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ใช้บริการในสถานพยาบาล และในที่ชุมชนหนาแน่น เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า สนามบิน สถานีขนส่ง รวมถึงสถานที่ชุมชนแออัด เป็นต้น

158955436192

เครื่องกำจัดเชื้อไวรัสในอากาศด้วยระบบพลาสมานั้น จะทำหน้าที่ดูดอากาศโดยรอบจากด้านบนของตัวเครื่อง ในระยะหวังผลประมาณ 15 เมตร หรือเทียบเท่ากับปริมาณอากาศที่ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อนาที ผ่านเข้ามาในชุดกำเนิดพลาสมาทำให้เชื้อโรคที่รวมมากับอากาศจะถูกกำจัดออกไป จากนั้นเครื่องจะส่งอากาศบริสุทธิ์ออกทางด้านล่างของตัวเครื่องแทน และประหยัดพลังงาน 

ตัวเครื่องมีกำลังงานไฟฟ้าที่ 500 วัตต์ ต้นทุนค่าไฟเพียงชั่วโมงละ 2 บาท ส่วนตัวกรองอากาศแบบพลาสมาที่ออกแบบใช้ทดแทนกรองอากาศแบบ HEPA filter ซึ่งต้องใช้แผ่นกรองในการดักจับอนุภาคขนาดเล็กในอากาศ จะต้องทำความสะอาดทุกๆ เดือน เนื่องจากการสะสมของฝุ่นละอองอาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานนั้นลดลง และจำเป็นต้องเปลี่ยนในทุกๆ ปี อีกทั้งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณและการบำรุงรักษา รวมถึงปัญหาการทิ้งทำลายที่ต้องอยู่ในการควบคุมทางสิ่งแวดล้อม 

158955437279

ส่วนเครื่องกำเนิดโอโซนกำลังสูงเพื่ออบกำจัดเชื้อไวรัสในอุปกรณ์สวมใส่และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่ เช่น ชุดกาวน์ หน้ากากอนามัย หมวก รองเท้า เตียงนอนและรถเข็น เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถใช้งานได้จริงในพื้นที่ของโรงพยาบาลหรือที่อื่น ๆ ระบบมีประสิทธิภาพสูงในการฆ่าเชื้อไวรัส ปลอดภัย ลดระยะเวลาในการฆ่าเชื้อโรคและประหยัดงบประมาณในการนำเข้า สามารถช่วยลดจำนวนผู้ป่วยและการสะสมของเชื้อไวรัสได้

ทั้งสองเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถปรับขนาดและรูปทรงที่เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมและการใช้งานในพื้นที่จริง มีความปลอดภัยต่อมนุษย์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลด ความเสี่ยงให้บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้ ได้มีความร่วมมือทำการทดสอบทางคลินิก พร้อมประเมินผลร่วมกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และจะนำไปติดตั้งใช้งานจริงที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลวชิระ โดยทีมวิจัยจะมอบทั้งสองเทคโนโลยีนี้ให้เป็นสาธารณประโยชน์ อีกทั้งขณะนี้ทางโรงเรียนช่างฝีมือทหารได้เตรียมพร้อมที่จะนำไปขยายผลและผลิตเพื่อมอบให้โรงพยาบาลและสังคมในลำดับต่อไป

158955438464