สวทช.ตั้ง "ศูนย์เทคโนฯพลังงาน" เป้า 5 ปีสร้างผลกระทบ 1 หมื่นล.
ครม.เห็นชอบตั้ง "ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ" หน่วยงานเฉพาะทางสังกัด สวทช. ทำหน้าที่วิจัยพัฒนาและส่งต่อโนว์ฮาวสู่การใช้จริง ครอบคลุมการวิจัยตั้งแต่พลังงานหมุนเวียน การจัดการพลังงานจนถึงระบบแบตเตอรี่สมัยใหม่
นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอนุมัติโครงการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2563 เป็นหน่วยงานเฉพาะทางใน สวทช. ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ โดยจะเป็นศูนย์รวมในการบูรณาการความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานของประเทศและนานาชาติ รวมทั้งเชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนาที่มุ่งเน้นการต่อยอดไปสู่การใช้งานจริง สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคอุตสาหกรรมและขยายผลต่อยอดไปสู่การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ โดยอาศัยการทำงานในรูปแบบจตุภาคี (Quadruple Helix)
แนวคิดจัดตั้งศูนย์ฯ อยู่ในแผนกลยุทธ์ สวทช. ฉบับที่ 6.2 (พ.ศ.2562-2566) โดยได้เริ่มดำเนินการศึกษาเชิงนโยบายการจัดตั้งตั้งแต่ ก.พ.2562 และได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาต่อมา ดังนั้น หากนับตั้งแต่การศึกษาในเชิงวิชาการจนได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมเป็นระยะเวลาประมาณ 1.4 ปี
ศูนย์ฯ ในระยะ 5 ปีแรก (ปี 2563-2567) กำหนดกรอบการวิจัยครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล การจัดการระบบพลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน โดยมีเป้าหมายหลัก 5 ข้อ ประกอบด้วย 1. สร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ 10,000 ล้านบาท ซึ่งวิธีการคิดมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจมาจากหลายองค์ประกอบ ได้แก่ การลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การลดต้นทุนในการผลิต การสร้างรายได้เพิ่ม และประโยชน์ในเชิงมูลค่าของผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และชุมชน
2.ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานไม่น้อยกว่า 10 ราย 3. สร้างเครือข่ายทางด้านพลังงานภายในประเทศและต่างประเทศไม่น้อยกว่า 60 พันธมิตร 4. มีบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพลังงาน ทั้งในด้านวิจัย และด้านเทคนิคของศูนย์ฯไม่น้อยกว่า 120 คน และ 5.พัฒนาการแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep technology)
“ยกตัวอย่างเรื่องของพลังงานชีวมวลที่ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการรวบรวมแหล่งของพลังงานชีวมวล ทั้งในด้านเชิงนโยบายและโลจิสติกส์ ส่วนเรื่องของพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งการผลิตยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง สิ่งที่ต้องทำต่อคือ เทคโนโลยีที่ไปข้างหน้ามีมากกว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันหรือไม่ เนื่องจากเรามีหลายเทคโนโลยีที่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์แสง เพราะพลังงานชีวมวลเกิดขึ้นจากการใช้ น้ำ แสงแดด คลอโรฟิลล์ในการผลิต เป็นต้น เราอาจสามารถสร้างแหล่งพลังงานใหม่ในอนาคตในเชิงขั้นสูงระดับ Technology Globalization เพื่อให้มีอิสรภาพทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งเหมาะสมและเฉพาะเจาะจงกับพลังงานชีวมวลที่อยู่ในไทยด้วย”
ประเด็นสำคัญถัดมาคือระบบการกักเก็บพลังงาน เช่น แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์ที่ต้องเคลื่อนที่ วัตถุดิบการผลิตที่เรียกว่าแร่หายาก (Rare Earth) และต้องนำเข้า ขณะที่บ้านเรามีแร่สังกะสีเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบในการผลิตเป็นแบตเตอรี่ การวิจัยที่ผ่านมา สวทช. ได้ร่วมกับจุฬาฯ พัฒนาให้แบตเตอรี่ดังกล่าวมีความเสถียร และต้องไม่ระเบิด เป็นการสร้างเสถียรภาพในยามที่เกิดปัญหา เราสามารถที่จะผลิตแบตเตอรี่ชดเชยในประเทศได้ ฉะนั้น การจัดตั้งศูนย์ ENTEC จึงเป็นเรื่องที่ต้องลุกขึ้นมาทำอย่างจริงจัง เพราะเรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงาน ซึ่งจะเป็นโจทย์ท้าทายในอนาคต
ด้าน นายจุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. และในฐานะผู้บริหารที่ดูแลการจัดตั้งศูนย์ฯ ในเบื้องต้น กล่าวว่า ข้อสำคัญในอนาคต คือ ความมั่นคงทางพลังงาน หากเกิดกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้น ความสามารถในการฟื้นตัวและสามารถผลิตพลังงานขึ้นมาใช้เองในภาวะวิกฤตต่าง ๆ ศูนย์ฯ นี้จะเป็นหัวใจในการรักษากิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนให้เดินหน้าต่อไปได้