สกสว.แนะ ‘วิจัยชุมชน’ ชูจุดเด่นออกแบบท่องเที่ยว

สกสว.แนะ ‘วิจัยชุมชน’ ชูจุดเด่นออกแบบท่องเที่ยว

สกสว.ส่งไม้ต่อ อพท. นำงานวิจัยท่องเที่ยวสู่การใช้ประโยชน์ หนทางรอดเศรษฐกิจชุมชนหลังโควิด-19 เสนอจัดทำฐานข้อมูลชุมชนพร้อมประเมินศักยภาพ 6 ด้านผ่านระบบคลาวด์ เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงข้อมูลและหยิบใช้พัฒนาต่อยอดทางการตลาด วางแผนออกแบบกิจกรรม

ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ได้รับมอบรายงาน “งานวิจัยท่องเที่ยวสู่การใช้ประโยชน์” จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อประโยชน์ด้านการออกแบบการทำงานท่องเที่ยวชุมชน

159300291637

งานวิจัยดังกล่าวมีส่วนช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวของประเทศ ประกอบด้วย 2 ผลงาน คือ การสำรวจศักยภาพและพัฒนาฐานข้อมูลการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทยระยะที่ 1 และ 2.การประเมินความสุขจากการท่องเที่ยวโดยชุมชน

ยกตัวอย่างผลงานวิจัยแรกเป็นการออกแบบระบบฐานข้อมูลการท่องเที่ยวชุมชนผ่านระบบคลาวด์ การรวบรวมจัดเก็บข้อมูลด้านศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนใน 6 ด้าน คือ 1.ประวัติความเป็นมา 2.การจัดการท่องเที่ยว 3.ศักยภาพความสามารถของบุคลากรด้านการบริการท่องเที่ยวในชุมชน 4.แหล่งท่องเที่ยว 5.กิจกรรมและการบริการท่องเที่ยวที่ชุมชนเสนอขาย และ 6.การประชาสัมพันธ์

ขณะเดียวกันชุมชนสามารถใช้ระบบนี้ประเมินศักยภาพตนเองเบื้องต้น ทำให้ทุกหน่วยงานมีข้อมูลพื้นฐานในแต่ละส่วนที่จะต้องพัฒนา เช่น ข้อมูลจุดเด่นในชุมชน อีกทั้งสามารถนำชุมชนที่ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับคะแนนสูง ไปถ่ายทอดองค์ความรู้และนำไปสู่การต่อยอดด้านการตลาดได้

อพท.มีระบบฐานข้อมูลชุมชน 714 ชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งมีประมาณ 81 ชุมชนที่มีศักยภาพสูงทางการตลาด อาทิ ชุมชนมีความโดดเด่นด้านผ้าทอ ผ้ามัดย้อม หากขายเฉพาะผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นก็จะได้แค่รายได้ตรงส่วนนั้น แต่หากมีกระบวนการที่จะสามารถต่อยอดได้ เช่น ถ่ายทอดความรู้สู่นักท่องเที่ยว การออกแบบกิจกรรมเพิ่มเติมจากสิ่งที่มีอยู่เพื่อต่อยอดสู่การท่องเที่ยวก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกเป็นจำนวนมาก”

159300294174

ดังนั้น การจัดทำระบบฐานข้อมูลจึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อ อพท. ในมิติที่จะออกแบบแผนการทำงานเชิงรุกเพื่อให้ชุมชนใช้ “การท่องเที่ยว” เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวโดยชุมชน ยังคงต้องพัฒนาคุณภาพการบริการ และพัฒนาการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ถือเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ

แหล่งท่องเที่ยวรอง มาแรง

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า การวิจัยมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวของประเทศ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1.การวิจัยในเชิงประเด็นเร่งด่วน โดยศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นเพื่อกำหนดแนวทาง มาตรการหรือข้อเสนอแนะ โดยเฉพาะเรื่องการปรับตัวของภาคธุรกิจ การสร้างมั่นใจกับนักท่องเที่ยว การปรับโครงการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และมาตรการความปลอดภัย

159300296590

2.การวิจัยในเชิงพื้นที่เพื่อกำหนดมาตรฐานการปรับตัว เนื่องจากโควิด-19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมและวิถีชีวิตใหม่ ส่งผลในด้านซัพพลายต้องให้ความสำคัญต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลง และควรไปในทิศทางเดียวกันตลอดซัพพลายเชน และ 3.การวิจัยในเชิงอนาคต เพื่อให้เกิดแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องทุกมิติ เช่น โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีและการพัฒนาที่ยั่งยืน

“การท่องเที่ยวชุมชนยุคหลังโควิด สิ่งที่ต้องตระหนักคือ “ชุมชน” ที่ป็นพื้นที่ทางสังคมที่มีความเปราะบาง หากมีการแพร่ระบาดโควิด-19 จะส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมาก ดังนั้น หากยังจำเป็นต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน สิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้ และการกำหนดมาตรการที่ชุมชนจะสามารถนำไปใช้เพื่อการวางแผนและการจัดการการท่องเที่ยวที่เหมาะสม คือ สร้างความมั่นใจทั้งในด้านของนักท่องเที่ยวและชุมชน บนพื้นฐานของความปลอดภัยและสามารถสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยว”

159300311363

ทิศทางการท่องเที่ยวชุมชนหลังยุคโควิดน่าจะดีขึ้น เนื่องจากยังมีความต้องการจากนักท่องเที่ยว อีกทั้งรู้สึกถึงความปลอดภัยมากกว่าการไปในแหล่งท่องเที่ยวหลักที่มีคนเที่ยวหนาแน่น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ชุมชนต้องปรับตัวให้เร็วทั้งในด้านการรองรับและการป้องกัน โดยถือเป็น “ความปกติใหม่” ของชุมชนเช่นกัน