อัพสเกล ‘หุ่นยนต์’ จากแล็บตอบโจทย์ธุรกิจยุคโควิด

อัพสเกล ‘หุ่นยนต์’ จากแล็บตอบโจทย์ธุรกิจยุคโควิด

นักพัฒนาหุ่นยนต์วิเคราะห์โลกหลังโควิด ดันตลาดหุ่นยนต์ในไทยโตไม่ต่ำกว่า30% เผยภาคธุรกิจและอุตฯใช้เป็นเครื่องมือเสริมความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านสุขอนามัยเพิ่ม แนะผู้ผลิตใช้โอเพ่นแพลตฟอร์ม เสริมไอโอที-คลาวด์ สร้างอีโคซิสเต็มปูทางสู่แชริ่งอีโคโนมี

'นักพัฒนาหุ่นยนต์ไทย' แนะผู้ผลิตใช้โอเพ่นแพลตฟอร์ม เสริมด้วยเทคโนโลยีไอโอทีและคลาวด์ สร้างอีโคซิสเต็มปูทางสู่แชริ่่งอิโคโนมี “มหิศร” ชงรัฐเปิดพื้นที่การแข่งขันให้กับสตาร์ทอัพด้านหุ่นยนต์ ย้ำชัด “ตลาดภาครัฐ” มีศักยภาพสูง

นิวนอร์มอลตัวเร่งธุรกิจใช้หุ่นยนต์

รศ.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ “Thaifightcovid Technical Forum Episode #11:ThaiRobot : from Research to Market การนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาสนับสนุนภาคธุรกิจหลังโควิด-19” ว่า หลังโควิด-19 แนวโน้มการผลิตของไทยจะไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เร็วขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้หุ่นยนต์ในโรงงานเพิ่มเช่นกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและยารักษาโรค ประกอบกับผู้บริโภคให้ความสำคัญในเรื่องสุขอนามัยมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีหันมาใช้หุ่นยนต์ในการดำเนินกิจการมากขึ้น

159309542625

คาดการณ์การใช้หุ่นยนต์ของประเทศที่พัฒนาแล้วจะเติบโตประมาณ 30% เช่นเดียวกับไทย แม้ว่าที่ผ่านมาตัดเลขการใช้ระบบหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและระบบออโตโมชั่นยังไม่ถึงเป้าหมายซึ่งอยู่ที่ประมาณ 70% อีกทั้งอัตราการใช้หุ่นยนต์ต่อประชากรไทยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่จากอุตสาหกรรมของประเทศที่กำลังเติบโต ทำให้ความกระหายของการใช้เทคโนโลยีนี้เพิ่มสูง ส่งผลให้เกิดนิวนอร์มอลที่จะทำให้แลนด์สเคปในการแข่งขันเปลี่ยนไป โดยหุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ จึงถือได้ว่าโควิดเป็นตัวเร่งให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ และนำหุ่นยนต์เข้าสู่ซัพพลายเชน จะเห็นว่า ตลาดยังเปิดกว้างอีกมาก คาดว่าหลังโควิด-19 ตลาดหุ่นยนต์ในไทยน่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 30%

159309544363

คีย์สำคัญคือ เราจะต้องดูเรื่องแพลตฟอร์มให้ดี จำเป็นอย่างยิ่งหากมีการสร้างแพลตฟอร์มจะต้องทำให้โอเพ่น API และสามารถเชื่อมต่อกันได้ภายใต้โครงสร้างพื้นฐาน 5จี โอกาสที่จะสร้างมูลค่าได้นั้นจะสูงมาก เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีหุ่นยนต์ของเราที่ยังอยู่แค่ 3.0 จะต้องพัฒนาต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ผ่านการนำเทคโนโลยีไอโอที และคลาวด์เข้ามาผนวก พร้อมกับการสร้างระบบนิเวศให้เอื้อกันซึ่งกันและกัน”

159309513031

 “ส่วนแนวทางส่งเสริมอุตฯหุ่นยนต์นั้น เราพยายามสร้างดีมานด์ให้เกิดขึ้นและผลักดันไปถึงผู้ผลิต เราจะไม่ทำแมสโปรดักส์ชั่น แต่จะส่งต่อให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้ดำเนินการ เพราะต่อไปรายได้จะมีภาษีและส่งกลับมาสู่ระบบ ทางด้านมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องสร้างต้นแบบเพื่อให้สามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์แล้วส่งต่อให้ภาคเอกชนนำไปพัฒนาต่อ จะทำให้เกิดการพัฒนาร่วมกันอย่างเป็นระบบ และเกิดดีมานด์ที่จับคู่กันได้ แต่สิ่งสำคัญสุดคือ ภาครัฐจะต้องสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมให้เสมือนเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติและก้าวสู่ Sharing Robot Economy ในอนาคต"

ชงรัฐฯส่งเสริมแข่งขันหุ่นยนต์

ด้าน มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท Obodroid และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท HG Robotics กล่าวว่า ในฐานะสตาร์ทอัพด้านหุ่นยนต์ที่พึ่งพาเงินลงทุนจากนักลงทุน โดยได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่หลากหลายทั้งโดรนสำรวจทางการเกษตร ซอฟต์แวร์ควบคุม ระบบจัดการหลังบ้าน ทำให้มีแพลตฟอร์มที่เป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาหุ่นยนต์ต่างๆ ที่ใช้สนับสนุนทางการแพทย์ เช่น “น้องปิ่นโต” หุ่นยนต์ขนส่งอาหาร ยาและเวชภัณฑ์ และการสื่อสารทางไกลระหว่างแพทย์และคนไข้ ลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์จากการใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ

159309521522

“ขั้นตอนแรกจะต้องหาโจทย์ที่ต้องการจะสนับสนุน จากนั้นดีไซน์วิธีการทำงาน ส่วนในมุมมองคิดว่าจะต้องมีการผลักดันโอกาสในการแข่งขันสตาร์ทอัพด้านหุ่นยนต์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องสร้างขึ้นมา อีกทั้งข้อตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐก็ถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะฉะนั้น การผลักดันเหล่านี้จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะยกระดับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ภายใต้โลกหลังโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”