'เอ็ตด้า' ลุยทดสอบ 'ดิจิทัล แซนด์บ็อกซ์'
เอ็ตด้าลุยโครงการทดสอบนวัตกรรมแซนด์บ็อกซ์ หวังดึงนวัตกรรมหรือบริการเข้าทดสอบ ก่อนการให้บริการจริงภายในสภาพแวดล้อมจำกัด หนุนเกิดความน่าเชื่อถือ มั่นคงปลอดภัย สอดคล้องตามมาตรฐาน-ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง
นางสาวพลอย เจริญสม ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า กล่าวว่า เอ็ตด้าได้จัดทำโครงการทดสอบนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ดิจิทัล เซอร์วิส แซนด์บ็อกซ์ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 ออกประกาศ เรื่อง แนวทางการเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรม หรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563
โดยโครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการสามารถทดสอบนวัตกรรมหรือบริการที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนการให้บริการจริง ภายในสภาพแวดล้อมและการให้บริการที่จำกัด เพื่อให้นวัตกรรมและบริการที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรม ทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีความน่าเชื่อถือ มั่นคงปลอดภัย สอดคล้องตามมาตรฐานและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ประชาชนมี ความมั่นใจในการใช้บริการ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาครัฐและเอกชน นำไปสู่การพัฒนานโยบายและแนวทางการกำกับดูแลที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ ดิจิทัล เซอร์วิส แซนด์บ็อกซ์ นับเป็นการต่อยอดจากร่างประกาศ สพธอ. เรื่อง แนวทางการเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล พ.ศ. ....ที่ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพื่อให้การทดสอบไม่จำกัดอยู่ที่นวัตกรรมเกี่ยวกับการพิสูจน์และ ยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงนวัตกรรมและบริการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปกติในรูปแบบใหม่ (นิว นอร์มอล)
เธอ ระบุว่า สำหรับนวัตกรรมหรือบริการที่สามารถเข้าร่วมทดสอบได้นั้น จะต้องมีลักษณะ 2 ประการ คือ 1. เป็นบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด ซึ่งมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ คือ สามารถพัฒนาเป็นอินฟราสตัคเจอร์หรือสแตนดาร์ดกลาง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานหรือบริการทั้งรัฐและเอกชน ไม่มีกฎระเบียบรองรับ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ หรือการยอมรับในธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณชนหรือผู้บริโภค หรือมีความเสี่ยงที่จะขัดกับกฎระเบียบหรือหลักเกณฑ์การกำกับดูแล และ 2. เป็นนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี ที่ไม่เคยมีการนำมาใช้ให้บริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดหรือแตกต่างจากบริการที่มีอยู่แล้วในประเทศ แต่ยังให้บริการในวงจำกัด หรือเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ หรือลดภาระที่มีอยู่เดิม อย่างไรก็ตาม เอ็ตด้าจะกำหนดรอบการทดสอบและจำนวนผู้เข้าร่วมทดสอบ ตลอดจนประเภทหรือขอบเขตของนวัตกรรมหรือบริการที่จะเปิดให้เข้าร่วมทดสอบในแต่ละรอบ
โดยรอบแรกนี้เอ็ตด้าได้กำหนดการทดสอบสำหรับนวัตกรรมหรือบริการในกลุ่มประเภท e-Document Solution, e-Meeting Solution และ Digital ID Solution รวมทั้งหมด 4 ราย โดยผู้ให้บริการในกลุ่มดังกล่าวที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด เช่น เป็นนิติบุคคล มีทรัพยากรด้านเงินทุน ระบบงานและบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 2 ปีขึ้นไปนับแต่วันยื่นคำขอ