วว. ผนึกกำลังพันธมิตร นำ วทน. สร้างมูลค่าเพิ่ม พืชท้องถิ่นเพชรบูรณ์

วว. ผนึกกำลังพันธมิตร นำ วทน. สร้างมูลค่าเพิ่ม พืชท้องถิ่นเพชรบูรณ์

วว.ผนึกกำลัง  4  หน่วยงานภาครัฐ/เอกชนในจังหวัดเพชรบูรณ์ มุ่งบูรณาการความร่วมมือพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตร พืชอัตลักษณ์ของจังหวัด เช่น เครื่องดื่มฟังก์ชั่นจากมะขามหวาน

        กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดำเนินโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วยอัตลักษณ์จังหวัดเพชรบูรณ์ ผ่านการดำเนินงานโดยโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทย  ด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่น  หรือ Thai Cosmetopoeia   ผนึกกำลัง  4  หน่วยงานภาครัฐ/เอกชน  ได้แก่  จังหวัดเพชรบูรณ์  มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์  สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์  อุทยานธรณีเพชรบูรณ์  มุ่งบูรณาการความร่วมมือพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตร พืชอัตลักษณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ 

159388407084

ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า   วว. ดำเนินโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วยอัตลักษณ์จังหวัดเพชรบูรณ์  ผ่านการดำเนินงานโดย โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทยด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่น หรือ Thai Cosmetopoeia ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ “นวัตอัตลักษณ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของไทย”  ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบท้องถิ่นให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ เพื่อให้เป็นที่รู้จักในระดับชาติและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมนโยบาย BCG ให้เกิดการขยายตัวอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน

ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม วว. จึงได้ลงนามความร่วมมือว่าด้วย “การใช้เทคโนโลยี ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตรและพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดเพชรบูรณ์”กับพันธมิตร 4 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน  ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์  มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์  สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์  และอุทยานธรณีเพชรบูรณ์  โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 2 ปี มีวัตถุประสงค์ความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการระหว่างกันตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จังหวัดเพชรบูรณ์ รวมทั้งภาครัฐและเอกชน ในการสนับสนุน ส่งเสริม และเสริมสร้างความเข้มแข็ง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ชุมชน และสังคมสู่ความยั่งยืน 

โดยมุ่งเน้นในการวิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติ ของจังหวัดเพชรบูรณ์   พัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  เพื่อใช้เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เกษตรและชีวภาพ อาหาร เวชสำอางไทย ผลิตภัณฑ์อื่นๆที่เพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศ และต่างประเทศ  รวมทั้งพัฒนาวิธีบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ให้มีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า สร้างและรักษาเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ตามธรรมชาติของจังหวัดเพชรบูรณ์ไว้  เพื่อร่วมกันเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และบูรณาการส่งเสริมการตลาด จากผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากทรัพยากรท้องถิ่นของจังหวัดเพชรบูรณ์ให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการนำรายได้คืนสู่การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้ง ชุมชน ท้องถิ่น ที่เป็นฐานรากของทรัพยากรนั้นไว้ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง (Inclusive growth) ต่อไป  

นอกจากนี้ จะพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัย การบริหารจัดการองค์ความรู้ และพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านอุตสาหกรรมชีวภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน  รวมทั้งเสริมสร้างด้านศักยภาพ องค์ความรู้ และทักษะ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งหน่วยงานในจังหวัดเพชรบูรณ์ที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมนิสิต/นักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี การใช้ห้องปฏิบัติการเพื่อการเรียนรู้ และทำงานวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง อาหารเสริม หรือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่นๆ รวมทั้งการฝึกงานระดับบัณฑิตและมหาบัณฑิตศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนา  รวมทั้งผลักดันผลงานวิจัย และงานบริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการเสริมสร้างการเติบโตของธุรกิจด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ  การประชาสัมพันธ์ผลงานด้านการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งงานบริการวิเคราะห์ทดสอบด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและเป็นที่ยอมรับในผลงานวิจัยของนักวิจัยไทยเพื่อก้าวสู่สากล

159388379027

“ขอบเขตความร่วมมือในครั้งนี้ของ วว. และพันธมิตรจังหวัดเพชรบูรณ์ จะร่วมกันศึกษาและพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรที่มีความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและให้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างองค์กรในการกำหนดแนวทางการพัฒนางานวิจัยให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการและตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ร่วมกันสนับสนุน ผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยหรือผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือนี้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และร่วมผลักดันผู้ประกอบการของจังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ของจังหวัดให้มีความสามารถด้านพัฒนาตนเอง ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้ตอบสนองและก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และ นวัตกรรม รวมทั้งตลาดในอนาคต และร่วมกันส่งเสริม เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ Thai Cosmetopoeia, Phetchabun Geopark และผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการในโครงการ กิจกรรม ที่ดำเนินการร่วมวิจัย” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

นอกจากนี้ วว.  ได้จัดนิทรรศการโชว์ผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้แก่ กาแฟน้ำหนาว   ชาหญ้านางแดง  และผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารจากจุลไหมไทย   รวมทั้งนิทรรศการผลงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ความสำเร็จจากโครงการ Thai  Cosmetopoeia  อาทิ  ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มฟังก์ชั่นจากมะขามหวาน “Nature Bright”  ซึ่งมีฤทธิ์ทางชีวภาพ ในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ กระตุ้นการทำงานของไมโทคอนเดรีย ต้านการอักเสบ ต้านการเกิดเม็ดสีผิว วว. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่ ห้างหุ้นส่วน ดร. เซอร์วิส จำกัด และได้รับทุนจากโครงการ Research Gap Fund จาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการผลิตระดับอุตสาหกรรม ณ โรงงานนวัตกรรมอาหาร หรือ FISP ของ วว. เครื่องสำอางจากสารสกัดเมล็ดมะขาม มีสรรพคุณเพื่อความกระจ่างใสและบำรุงผิวหน้า ซึ่งในท้องตลาดยังไม่มีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่พัฒนาจากสารสกัดเมล็ดมะขาม ขณะนี้ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ บริษัท รีเสิร์ช เอ็กซ์ จำกัด (Research X Co.Ltd.)  ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าจากสารสกัดอะโวคาโด ซึ่ง วว. ร่วมดำเนินงานกับบริษัท เอสแอนด์เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) มีประสิทธิภาพต้านอนุมูลอิสระ ชะลอริ้วรอย ต้านการเกิดเม็ดสีผิว โดยใช้วัตถุดิบจากอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ 

159388372735

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือขอรับการปรึกษาเพื่อพัฒนาพืชอัตลักษณ์ท้องถิ่นในรูปแบบเครื่องสำอาง ได้ที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โทร. 0 2577 9300 (ในวันและเวลาราชการ)  www.tistr.or.th  E-mail : [email protected] Line@TISTR