อว.เดินเครื่อง 2 โปรเจค 'จ้างบัณฑิตตกงาน 4 แสนอัตรา'

อว.เดินเครื่อง 2 โปรเจค 'จ้างบัณฑิตตกงาน 4 แสนอัตรา'

อว.เร่งขับเคลื่อนมาตรการสร้างงานรองรับบัณฑิตใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานช่วง พ.ค.-ก.ค.นี้ ประมาณ 5.2 แสนคนตามรายงานประมาณการของสภาพัฒน์ ระบุ 2โครงการหลัก “อว.สร้างงาน” และ “1ตำบล1มหาวิทยาลัย” จ้างงานได้กว่า 3-4 แสนอัตรา ส่วนแผนระยะยาวมุ่งพัฒนาทักษะใหม่

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า นอนาคตหลังโควิด-19 ความมั่นคงในมนุษย์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดทั้งด้านสุขภาพ อาหาร พลังงาน และการมีอาชีพมีงานทำ แต่หนึ่งในปัญหาที่เร่งด่วนขณะนี้คือความมั่นคงทางอาชีพที่บัณฑิตที่จะจบใหม่ไม่มีงานทำ บัณฑิตที่จบไปแล้วยังหางานไม่ได้ หรือคนทำงานที่ถูกเลิกจ้างจากผลกระทบของโควิด-19 จึงเป็นที่มาของโครงการ อว. จ้างงานทั้ง 2 ระยะ และ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการจะไม่เพียงแต่มีรายได้ มีงานทำ แต่จะได้รับการเสริมทักษะใน 4 ด้าน ได้แก่ ทักษะดิจิทัล ทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะด้านการเงิน และทักษะในการใช้ชีวิต

159455358598

อว.สร้างงานรวมจ้าง 4 หมื่นอัตรา 

กระทรวง อว.อยู่ระหว่างดำเนินมาตรการสร้างงานในระยะสั้นและระยะกลาง ประกอบด้วย 2 โครงการหลักคือ “อว.สร้างงาน” เฟสแรกเริ่มดำเนินการตั้งแต่ เม.ย.จะสิ้นสุดประมาณ ก.ย.2563 เป็นการจ้างงานประชาชน 10,000 คน ระยะเวลา 5 เดือน มีค่าตอบแทนให้เดือนละ 9,000 บาท ไม่ได้จำกัดวุฒิการศึกษา อายุ สาขาวิชาที่สำเร็จการศึกษา และประสบการณ์การทำงาน

โดยเป็นการทำงานกับหน่วยงานภายในสังกัดกระทรวง อว. ประมาณ 42 หน่วยงาน ผู้ได้รับการจ้างงาน นอกจากจะได้งานทำแล้วยังจะได้รับการพัฒนาทักษะทางวิชาการในด้านต่างๆ แตกต่างกันไป และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการจ้างงาน หากต้องการนำทักษะที่ได้รับการจากการทำงานไปประกอบอาชีพใหม่ อว.ก็เปิดโอกาสให้เข้าร่วมโครงการการบ่มเพาะธุรกิจเพื่อเติบโตเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่หรือสตาร์ทอัพต่อไป

ส่วน “อว.สร้างงาน” เฟสสอง อัตราจ้าง 4 หมื่นตำแหน่ง ระยะเวลาจ้างงาน 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.- ก.ย.นี้ ให้อัตราเงินเดือนๆ ละ 9,000 บาท รวม 27,000 บาท รมว.สุวิทย์ ระบุว่า การเปิดโครงการสร้างงานระยะที่ 2 เนื่องจากการเปิดรับสมัครในระยะที่ 1 มีผู้สมัครกว่า 3 หมื่นคน จำนวนที่เปิดรับ 1 หมื่นคน จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

โครงการหลักส่วนที่ 2 เป็นมาตรการสร้างงานระยะกลาง อว.กำลังดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” โดยให้มหาวิทยาลัยเข้าไปดูแลแต่ละตำบลทั่วประเทศทั้งหมด 7,900 ตำบล จะมีการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่เป็นระยะเวลา 1 ปี ผ่านการใช้งบประมาณ พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ในระยะแรกจะดำเนินการ 3 พันตำบล งบประมาณ 1.3 หมื่นล้าน โดย 60-70% เป็นงบประมาณที่ใช้จ้างงาน ซึ่งจะเป็นในส่วนของค่าตอบแทนของบัณฑิตจบใหม่ ประชาชนทั่วไปและนิสิตนักศึกษา

159455415024

พัฒนาทักษะใหม่ควบคู่จ้างงาน

ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า ภายใต้โครงการนี้จะมอบหมายให้มหาวิทยาลัย เข้าไปดูแลแต่ละตำบลแบบองค์รวม โดย 1 ตำบลจะมี 1 มหาวิทยาลัยในพื้นที่ทำหน้าที่ดูแลอย่างเป็นระบบและบูรณาการ (System Integrator) โดยจะมีการจ้างงานทั้งบัณฑิต นักศึกษาและประชาชนเพื่อเข้าไปช่วยงานในการพัฒนา ตำบลละไม่น้อยกว่า 20 คน หรือโดยรวมทั้งหมดประมาณ 2-3 แสนอัตรา

“แต่ละปีมีบัณฑิตจบใหม่ประมาณ 2 แสนคนโดยเฉลี่ย คาดว่าปีนี้ปัญหาการว่างงานจะสาหัสสืบเนื่องมาจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทุกเซกเตอร์ ซึ่งอาจจะมีการตกงานรวมกับที่ผ่านมาอยู่กว่า 4 แสนคนซึ่งรวมถึงบัณฑิตที่จบก่อนหน้านั้น”

159455459043

ศ.ศุภชัย กล่าวอีกว่า อว.เป็นหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ และมีศักยภาพในการผลักดันในด้านต่างๆ จึงต้องให้ผู้ที่มาทำงานด้วยนั้นต้องได้รับการพัฒนาทักษะขึ้นใหม่สำหรับนำไปประกอบอาชีพและประสบความสำเร็จในอนาคต เพราะในสถานการณ์หลังโควิดสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปเป็นไปอย่างมาก ตั้งแต่การใช้ชีวิตในสังคม เทคโนโลยี เพราะฉะนั้นอาชีพต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไป ดังนั้น ในระยะยาว อว.จึงมีส่วนสำคัญในการสร้างทักษะอาชีพ สร้างคน พร้อมยกระดับสกิลขึ้นมาใหม่ทั้งหมดให้สอดรับกับเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ทางการเงิน ด้านดิจิทัล หรือแม้กระทั่งการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อสังคม