มทส.เปิดบริการธุรกิจ "แชริ่งอี-ไบค์"

มทส.เปิดบริการธุรกิจ "แชริ่งอี-ไบค์"

มทส. ผนึกพันธมิตร เปิดตัว “โครงการให้บริการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะในเขตมหาวิทยาลัย” ภายใต้ชื่อ 'MoreSai@SUT' มุ่งตอบโจทย์และสร้างตัวเลือกการเดินทางภายในมหาวิทยาลัย ด้วยเทคโนโลยี Geo-fencing เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ-ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

รศ.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พร้อมด้วย นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ร่วมเปิดตัว “โครงการให้บริการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะในเขตมหาวิทยาลัย” หรือ MoreSai@SUT โดยใช้รูปแบบ Motorcycle Sharing ถือเป็นโครงการนำร่องที่จะนำมหาวิทยาลัยมุ่งสู่ Smart University และ Smart Campus ยกระดับคุณภาพชีวิตนักศึกษาและบุคลากร

159490774665

"โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ตอบโจทย์การใช้งานสำหรับผู้มีข้อจำกัดในการเดินทาง และสร้างตัวเลือกการเดินทางภายในมหาวิทยาลัย ผู้ใช้สามารถเข้าถึงการบริการและข้อมูลต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น ในอนาคตจะสร้างความเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนหลักของมหาวิทยาลัยเพื่อจะเป็น SUT Smart Transit ปรับให้ตรงความต้องการของผู้ใช้งาน ในยุทธศาสตร์การบริหารงานที่นำสมัย เป็นธรรม และการสร้างระบบนิเวศแห่งคุณภาพ โดยหนึ่งในนั้นคือการพัฒนาระบบนิเวศการขนส่งภายในที่ส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปรับปรุงหลักสูตรของสาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม ให้มีความทันสมัยและผลิตบัณฑิตให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานยิ่งขี้น” 

ด้าน นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยคม กล่าวว่า บริษัท ไทย แอดวานซ์ อินโนเวชั่น จำกัด หรือ ไทย เอไอ ในเครือ บมจ.ไทยคม มีภารกิจหลักในการเป็นผู้ให้คำปรึกษาและให้บริการ Total Digital Solution โดยเน้นแนวคิดของ Customer Focus พร้อมมุ่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะตอบโจทย์ธุรกิจยุคใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรมและดิจิทัลเทคโนโลยี 

159490777294

บริษัทได้วิจัย ศึกษาและพัฒนาโครงการร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประยุกต์ใช้และสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น เช่นเดียวกับความร่วมมือในโครงการนี้ที่จะเป็นต้นแบบหลักเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ผนวกกับการใช้เทคโนโลยี IoT, Robotics, QR Payment และ Data Analytic เพื่อช่วยให้ธุรกรรมการแบ่งปันเกิดขึ้นได้ง่าย รวดเร็ว และสะดวกขึ้น มุ่งสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน

ความร่วมมือมีระยะเวลา 2 ปีในการศึกษาและพัฒนาบริการจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างตัวเลือกการเดินทางภายในมหาวิทยาลัย อีกทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของนักศึกษาที่ไม่มีจักรยานยนต์เป็นของตนเอง มีการจำกัดความเร็วของตัวรถ เพื่อลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงและจำกัดพื้นที่การใช้งานภายในมหาวิทยาลัยด้วยเทคโนโลยี Geo-fencing ทั้งยังมีแผนติดตั้ง Solar Rooftop รองรับการชาร์จแบตเตอร์รี่ของจักรยานยนต์ไฟฟ้า

159490778389

ทางด้าน รศ.พรศิริ จงกล คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. เปิดเผยว่า ในอนาคตมีแผนดำเนินงานการติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อนำพลังงานที่ได้มาใช้ในการชาร์จแบตเตอร์รี่ของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่มีความน่าเชื่อถือของเวลา การจำกัดจำนวนรถจักรยานยนต์บนถนนโดยใช้รูปแบบ Motorcycle Sharing

159490780545

ตลอดจนการนำพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์มาใช้งานด้วย  อีกทั้ง ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษา สามารถเข้าทำการเรียนรู้เทคโนโลยี ด้านสถานีชาร์จ จุดจอด การพัฒนาแอพพลิเคชั่น การควบคุมและตรวจสอบพิกัดรถจักรยานยนต์  การควบคุมการใช้แบตเตอรี่  ตลอดจนการดูแลระบบสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างตัวรถกับเซิฟเวอร์

ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนานักศึกษา ด้านการเรียน สามารถฝึกปฏิบัติการทำงานจากอุปกรณ์จริงที่ติดตั้งอยู่ที่บริษัทและภายในมหาวิทยาลัย  ส่งผลให้มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตได้ตรงกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง