อุตฯเคมีเดินหน้าบีซีจี ชู ‘ศก.หมุนเวียน’ สร้างนวัตกรรม

อุตฯเคมีเดินหน้าบีซีจี ชู ‘ศก.หมุนเวียน’ สร้างนวัตกรรม

อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพรายใหญ่ เดินเครื่องสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่บีซีจี “บีบีจีไอ” ประเดิมใช้ชีวนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีชีวภาพชั้นสูงเปลี่ยนของเหลือจากโรงงานเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่มูลค่าสูง“จีจีซี”สร้างฐานการผลิตไบโอรี่ไฟเนอรี่ปูทางสู่อุตฯใหม่

BCG Economy Model เครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างยั่งยืนที่สำคัญ ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก คือ B Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ เชื่อมโยงกับ C Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้อยู่ภายใต้ G Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว จึงครอบคลุมอตสาหกรรม 4 สาขา คือ สาขาเกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าเป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24 จีดีพีในอีก 5 ปีข้างหน้า

159739647920

“หมุนเวียน” ทางรอดทรัพยากรโลก

วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) กล่าวในงานสัมมนา “ภาคธุรกิจไทย (TBCSD) กับการขับเคลื่อน BCG Economy Model” ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 ว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดความยั่งยืน 

ขณะที่การนำโมเดลธุรกิจและเทคโนโลยี รวมถึงมาตรการต่างๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนและเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ ความเข้าใจและยอมรับจากทุกภาคส่วน รวมทั้งการสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้บริโภค (bottom up) เพื่อให้ประเทศก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ

จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดประเด็นที่จะต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน เนื่องจาก 1.ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร 2.ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรต่อการพัฒนาเศรษฐกิจต่ำ 3.ปัญหามลพิษ ของเสีย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง 4.ประเทศไทยให้คำมั่นสัญญาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20-25% หรือ 113 ล้านตันในปี 2573 

ส่วนกลไกการขับเคลื่อนด้วย Key project / Focus Sector เพื่อสร้างแบบอย่างความสำเร็จและเป็นโมเดลขยายผลเศรษฐกิจหมุนเวียนไปยังกลุ่มอื่นๆ ผ่านเซกเตอร์เป้าหมายคือ 1.พลาสติกครบวงจร ผ่านการรวบรวม จัดเก็บ แยก หมุนเวียนใช้ประโยชน์ โดยบรรจุภัณฑ์/ถุงพลาสติก PE และ PET ถูกแยกและหมุนเวียนเข้าระบบเพิ่มขึ้นเป็น 100% ในปี 2573 จะช่วยลดการใช้พลังงานเทียบเท่าน้ำมันเบนซิน 680 ล้านลิตรต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาทต่อปี อีกทั้งช่วยลดก๊าซเรือนกระจก แก้ไขมลพิษสิ่งแวดล้อมและลดขยะในทะเลได้อีกทางหนึ่ง 

159739630399

2.อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร สร้างระบบกลไกการจัดการของเสียตลอดซัพพลายเชน 3.วัสดุก่อสร้าง สร้างความสามารถนวัตกรรมและเทคโนโลยีรูปแบบก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรีไซเคิลได้ พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ตามนโยบายของรัฐบาล

บีบีจีไอลุยเศรษฐกิจหมุนเวียน

พงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า บีบีจีไออยู่ในเครือบางจากมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจชีวภาพ ซึ่งปัจจุบันได้ผลิตไบโอดีเซลและเอทานอล เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อยอดธุรกิจภายใต้บีซีจีโมเดล โดยใช้ความรู้ทางด้าน Synthetic Biology (ชีววิทยาสังเคราะห์) ซึ่งเป็นศาสตร์ใหม่ในโลกอนาคตที่จะพลิกโฉมหลายอุตสาหกรรม สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดัน New S-Curve ด้านผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืนต่อไป

159739595213

“บางจากทำเรื่องบีซีจีมานานแล้ว โดยกว่า 36 ปีให้ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในร้านกาแฟอินทนิลก็ใช้แก้วไบโอพลาสติก หรือน้ำดื่มที่แจกในปั๊มน้ำมันมากกว่า 50 ล้านขวดต่อปีก็เป็นขวด PET รีไซเคิลได้ เรามีมาตรการรวบรวมขวด PET จาก 260 ปั๊มในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่งต่อให้ทางกลุ่มบริษัทอินโดรามานำไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ เสื้อ หมวก เพื่อแจกจ่ายให้กับชุมชน ส่วนโครงการถัดไปจะโฟกัสทางด้านวิจัยพัฒนานวัตกรรมที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางการเกษตรที่มีอยู่ในประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม”

จีจีซีปั้นไบโอคอมเพล็กซ์

สุวัฒน์ กมลพนัส กรรมการผู้จัดการบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีจีซี กล่าวว่าสาหลักของธุรกิจประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่จะก้าวสู่ Leading Green Company และ Green Flagship ของกลุ่มบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และเป็นผู้นำของประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพควบคู่ไปกับการพัฒนาตามโมเดลบีซีจี

บริษัทเริ่มสร้างฐานการผลิตไบโอรี่ไฟเนอรี่ เฟส 1 ที่ จ.นครสวรรค์ ดำเนินการไปแล้วกว่า 70% คาดว่าจะเสร็จภายในปลายปีหน้า ซึ่งล่าช้าไปกว่าแผนที่วางไว้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และมาตรการการล็อคดาวน์ ทำให้เครื่องจักรที่สั่งนำเข้าไม่สามารถขนส่งมาไทย หลังจากนั้นจะเป็นการสร้างระบบนิเวศเพื่อดึงดูดพาร์ทเนอร์ที่มีเทคโนโลยีมาร่วมสร้างในเฟสถัดไปที่จะเป็นไบโอพลาสติกและฟังก์ชั่นนัลฟู้ดในระยะต่อไป

“แนวนโยบายของจีซีมุ่งมั่นการเป็นไบโอและกรีนโปรดักส์ เราจะพัฒนาจากฐานทรัพยากรของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาล ปาล์มน้ำมัน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะสุดท้ายแล้ว มูลค่าเหล่านี้จะกลับสู่เกษตรกรไม่ใช่บริษัทปลายทาง ทั้งนี้ตั้งเป้าว่าในปี 2567 บริษัทฯ จะสามารถสร้างสัดส่วนรายได้จากธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ 35% เคมีชีวภาพร่วมกับพลาสติกชีวภาพ 65%”

ตอบโจทย์กรีน-ผุดเมืองอัจฉริยะ

พีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ออริจิ้น ได้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บนแผนขับเคลื่อนตามแนวบีซีจี ด้วยกรีนคอนเซ็ปต์มาตั้งแต่ปี 2562 เริ่มจากการเลือกวัสดุก่อสร้างที่รีไซเคิลได้ทั้งหมด รวมถึงน้ำทิ้งภายในโครงการก็นำมารีไซเคิลรดต้นไม้ อีกทั้งเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน อาทิ พื้นที่ส่วนกลางใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 

159739645411

ทั้งยังพยายามบูรณาการการทำสมาร์ทซิตี้ผนวกเข้ากับกรีนอีโคโนมี ภายใต้แนวคิด SMART ECO เมืองต้นแบบด้านการบริหารจัดการพลังงานอย่างคุ้มค่าด้วยเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานไฟฟ้า และพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น