'จิสด้า' ผนึกกำลัง 10 หน่วยงาน สร้างคุณค่าอารยธรรมสุวรรณภูมิ
จิสด้าเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิ ผนึกความร่วมมือ 10 หน่วยงาน ผสานทักษะความรู้ทางวิชาการเข้ากับเทคโนโลยีอวกาศ เพิ่มโอกาสสู่การต่อยอดในการบริหารจัดการพื้นที่ในปัจจุบัน และวางแผนการจัดการพื้นที่ได้ในอนาคต
สุวรรณภูมิ : ภูมิแห่งคุณค่าอาเซียน
“สุวรรณภูมิ” หรือ “สุวัณณภูมิ” หมายถึง แผ่นดินแห่งทองคำที่ครอบคลุมดินแดนตั้งแต่ส่วนที่อยู่เลยจากอินเดียมาจนจรดถึงจีน (Beyond India before China) เป็นพื้นที่ซึ่งปรากฏในเอกสารโบราณว่ามีมาตั้งแต่สมัยต้นพุทธกาล โดยมีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานแล้วพัฒนาเป็นรัฐอิสระในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดินแดนแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและเป็นแหล่งใหญ่ของสินค้ามีค่าซึ่งเป็นที่ต้องการของพ่อค้าทั่วไป ได้แก่ ทองคำ เครื่องเทศ ไม้มีค่า อัญมณี และของป่า มีผู้เดินทางมาค้าขายและอยู่อาศัย ทั้งพ่อค้า นักปกครอง นักเผชิญโชค ด้วยลักษณะทำเลที่ตั้ง ทำให้พื้นที่นี้เป็นทั้งอู่อารยธรรมและสะพานเชื่อมการค้า การเดินทางระหว่างโลกตะวันออกและโลกตะวันตกมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน และยังคงความสำคัญในบทบาทนี้ต่อเนื่องไปในอนาคต
วันนี้ “สุวรรณภูมิ” ยังคงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่เชื่อมโยงภูมิภาคและเชื่อมโยงโลกในฐานะท่าอากาศยานสากลขนาดใหญ่ที่มีผู้โดยสารมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นับเป็นการสืบสานและส่งผ่านคุณค่าของแผ่นดินทองที่อุดมสมบูรณ์ เป็นศูนย์กลางการคมนาคม การค้าและพระพุทธศาสนาที่ยั่งยืนมากว่า 2,000ปี สมดังมงคลนามที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรได้พระราชทาน ด้วยแรงบันดาลใจและความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ประเทศไทย) จึงได้เสนอโครงการสุวรรณภูมิ: ภูมิอารยธรรมเชื่อมโยงโลก เป็นโครงการริเริ่มสร้างวัฒนธรรมร่วมตามวิถีแห่งอาเซียน “ASEAN Joint Culture Initiative Program: The ASEAN Way” โดยการต่อยอดคุณค่าแห่งความสำเร็จของพื้นที่นี้ในคุณค่าหลากมิติ (Multidimensional value) ที่ยังปรากฏร่องรอยทางศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และโบราณคดีมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงแห่งภูมิภาค (Regional Connectivity) สู่การสร้างโอกาสความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า สังคมและการท่องเที่ยวของดินแดนสุวรรณภูมิหรือภูมิภาคอาเซียนในอนาคต
ล่าสุดจิสด้าได้ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและการส่งเสริมขับเคลื่อนการสร้างคุณค่าภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิ ร่วมกับ 10 หน่วยงานชั้นนำที่มีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิ ได้แก่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน), กรมศิลปากร, มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และมูลนิธิสัมมาชีพ
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า งานนี้ถือจุดเริ่มต้นความร่วมมือในการสร้างสรรค์ภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิในอนาคต ด้วยองค์ความรู้ ข้อมูลทางวิชาการ งานวิจัยทางด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ร่วมกับการประยุกต์เทคโนโลยี เพื่อการสร้างกิจกรรมพัฒนาพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เพื่อส่งต่อแนวคิด แนวทาง และข้อมูลที่ทรงคุณค่าต่อการนำไปต่อยอด ทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบายของประเทศ ไปสู่การพัฒนาระบบสร้างสรรค์คุณค่าภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi Cultural Creative Platform) เพื่อเป็นระบบศูนย์กลางข้อมูลทางวัฒนธรรมที่มีความทันสมัย ต่อเนื่อง และมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่มีความถูกต้องและเป็นที่ยอมรับของผู้เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะนำไปต่อยอดงานในมิติอื่นๆ ต่อไป
ด้าน ผศ.เชาวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ยังกล่าวอีกว่า งานในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ดีที่ในการเริ่มต้นของความร่วมมือในการดำเนินงานด้านวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่จะมีการนำเทคโนโลยีด้านอวกาศเข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสในการเชื่อมโยงมิติเชิงของพื้นที่ที่มีหลักฐานอารยธรรมที่ปรากฏตามสถานที่ต่างๆ และสามารถนำส่งคุณค่าที่ได้จากการศึกษาสุวรรณภูมิในมุมมองใหม่ของจิสด้า ไปสู่การต่อยอดในการบริหารจัดการพื้นที่ โดยใช้คุณค่าบริบททางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ มาร่วมแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน หรือใช้ในการวางแผนการจัดการพื้นที่ได้ในอนาคต อีกทั้งยังสามารถเสริมสร้างโอกาสด้านความร่วมมือในมิติอื่นๆ บนฐานความรู้ความเข้าใจในคุณค่าวัฒนธรรมร่วม
ทั้งนี้ จากจุดเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในครั้งนี้ จิสด้า และหน่วยงานร่วมทั้ง 10 หน่วยงาน คาดหวังให้การขับเคลื่อนคุณค่าร่วมของภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิขยายผลต่อยอดไปถึงความร่วมมือในระดับอาเซียน เพื่อส่งต่อคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมนี้ ไปสู่การพัฒนาพื้นที่ทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นดินแดนสุวรรณภูมิ หรือดินแดนแห่งความรุ่งเรือง บนพื้นฐาน "วิถีร่วมของอาเซียน" ต่อไป