'เอนก'สั่งทุกหน่วยงาน อว.ผลักดันย่านนวัตกรรมโยธี
ดร.เอนก รมว.อว. พร้อมสนับสนุนเขตนวัตกรรมการแพทย์โยธีเต็มที่ เร่งนำการวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ได้จริงตามความต้องการของประเทศ ย้ำ ภูมิใจ อว. มีคนและนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริง
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการการพัฒนาและขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (Yothi Medical Innovation District) หรือ YMID ครั้งที่ 3/2563 ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของกระทรวง อว.ในการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมโดยอาศัยจุดแข็งของแต่ละพื้นที่และโดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในพื้นที่
"ในนามรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. จึงได้สนับสนุนและผลักดันให้ “ย่านนวัตกรรมทางการแพทย์โยธี” นี้เป็นย่านการวิจัยพัฒนาและบริการด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่ดีที่สุดระดับภูมิภาคและระดับโลก และได้มอบนโยบายให้หน่วยงานของ อว. โดยเฉพาะศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) รวมทั้ง สกสว. และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ร่วมกันสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยจะมอบให้ปลัดกระทรวง อว. ได้เข้ามาร่วมดูแลด้วยตนเอง หากมีเรื่องอะไรที่ต้องการให้สนับสนุนในเชิงนโยบายก็ยินดีให้การสนับสนุน รวมทั้ง "ขอให้โครงการย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีนี้ เกิดจากนโยบายร่วมกันของรัฐมนตรี อว. และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข โดยผมจะนำไปปรึกษากับท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี สธ. ท่านอนุทิน ต่อไป ซึ่งผมมั่นใจว่าท่านจะให้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็งเช่นกัน" ดร.เอนก กล่าวต่อที่ประชุม
ทั้งนี้ ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID) บริเวณถนนพญาไท ราชวิถี ศรีอยุธยา และพระรามหก เป็นพื้นที่ที่มีสถาบันการแพทย์และสาธารณสุขที่หนาแน่นที่สุดของประเทศไทย มีโรงพยาบาลและสถาบันการแพทย์ภายใต้กระทรวง อว. โดยเฉพาะของมหาวิทยาลัยมหิดลเกือบสิบแห่ง มีโรงพยาบาลและสถาบันของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อีกเจ็ดแห่งของกองทัพบก และยังมีหน่วยงานของภาคเอกชน รวมถึงองค์การเภสัชกรรมอีกด้วย โดยมีโครงสร้างพื้นฐานอยู่เกือบครบถ้วนแล้ว มีความพร้อมด้านอาคารสถานที่ ด้านบุคลากร และความสามารถในด้านนวัตกรรม กระทรวง อว. จึงสนับสนุนอย่างเป็นระบบ และยกระดับเป็นเขตนวัตกรรมที่จะทำให้ความสามารถด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทยแข็งแกร่งขึ้นอีก
โครงการ YMID ได้ดำเนินการมาแล้วในระยะหนึ่ง และเริ่มเห็นผลสำเร็จในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของแต่ละหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน วิชาการและอุตสาหกรรม เกิดความไว้วางใจ จนนำไปสู่ผลงานร่วมกัน เช่น การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัย การผลิตชุด PPE การวิจัยยาและวัคซีน รวมทั้งการใช้มาตรฐานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ร่วมกัน และการเชื่อมโยงการบริการและรักษาโรคระหว่างโรงพยาบาลต่างๆ ของกระทรวง อว. สาธารณสุข กองทัพ และเอกชน
รัฐมนตรี อว. กล่าวกับที่ประชุมอีกว่า ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดระยอง ได้ไปตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EECi รวมทั้งสถาบันวิทยสิริเมธี และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ที่อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง และได้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง หรือที่เรียกว่า innovation district ซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศาสตร์ทุกแขนงมาเชื่อมโยงกับจุดแข็งของภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
"ไม่มีอะไรที่กระทรวงจะดีใจมากไปกว่าคนของเรา เพื่อนร่วมงานของเรา คิดค้น คิดสร้าง ประดิษฐ์หรือทำนวัตกรรมอะไรได้สำเร็จ ใช้งานได้จริง และเป็นประโยชน์กับประชาชน ซึ่งในสถานการณ์โควิด-19 เห็นได้ชัดว่ามีนวัตกรรมการแพทย์โดยคนไทยเกิดขึ้นมากมาย เช่น การวิจัยและนวัตกรรมชุดป้องกันการติดเชื้อสำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ หรือ ชุด PPE แบบที่ซักล้างได้ ซึ่งคนไทยสามารถวิจัยและพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว มีมาตรฐานและความปลอดภัย จนสามารถได้ในระดับอุตสาหกรรม ในราคาเหมาะสม เพียงพอสำหรับใช้ในประเทศและส่งออกได้"