อว.เปิดพื้นที่ดึงผู้นำนักศึกษาสร้างงานชุมชน
'เอนก' เปิดบ้านต้อนรับผู้นำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ-ราชมงคล 47 แห่ง ร่วมถกประเด็นปัญหา-ยื่นข้อเสนอแนะ พร้อมชี้ภายใน 2 สัปดาห์ เตรียมจัดประชุมนักศึกษาทั่วประเทศ หวังระดมสมองแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ต่อยอดสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน
ปั้นยุวชนหนุนชุมชนแกร่ง
ศ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า เป้าหมายในการทำงานของผู้นำอย่างเรา เมื่อเวลาผ่านไปก็ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักระหว่างรุ่นของผมกับรุ่นของน้องๆ ดังนั้นจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อน้อมรับการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากโลกยุคปัจจุบัน คือ โลกยุคศตวรรษที่ 21 มีความยากและท้าทาย ต่างจากในอดีต โดยลักษณะของการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันมีทั้งความผันผวน ความไม่แน่นอน ความสลับซับซ้อน ความคลุมเครือ ดังนั้น การปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยการเปิดบ้านในครั้งนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสในการระดมความคิด จัดกิจกรรมช่วยชุมชน รวมพลังสร้างงาน “Young TH Leader&Innovator Club” นวัตกรรมเพื่อสังคม ผ่านบทบาทสำคัญของผู้นำเยาวชนยุคใหม่ โดยมีผู้นำนักศึกษาและผู้นำเยาวชน 60 คนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยราชมงคล 47 แห่งเข้าร่วม
“ในวันนี้เราจะมาพูดคุยกันถึงกลไกต่างๆ ที่รัฐบาลโดยกระทรวงฯ ของเราจัดเตรียมไว้ให้น้องๆ ได้เข้าถึงและมาใช้ประโยชน์ในการคิดค้นพัฒนาโครงการต่างๆ ที่จะสร้างคุณค่าทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับชุมชน จังหวัดและประเทศของเรา ในฐานะผู้นำนักศึกษา เราสามารถนำไปขยายผลแนะนำเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยให้ทราบถึงการสนับสนุนนี้ ให้เครือข่ายในมหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกันหรือสามารถริเริ่มดำเนินการจัดตั้งเป็น Innovator’s Club ให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนรังสรรค์นวัตกรรมกันภายในกลุ่มนักศึกษา”
ศ.เอนก กล่าวเสริมว่า ได้มีการเตรียมกลไกต่าง ๆ ไว้ 3 ด้าน คือ 1.นโยบายการสนับสนุนนักศึกษา ผ่านโครงการยุวชนสร้างชาติ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 โครงการสำคัญ คือ 1.โครงการยุวชนอาสา 2.โครงการบัณฑิตอาสา และ 3.กองทุนยุวสตาร์ทอัพ (Youth Startup Fund) เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการมองปัญหาของชุมชนและหาแนวทางการแก้ไขที่สร้างสรรค์ พร้อมมีเงินทุนสนับสนุนในการดำเนินการ
2.นโยบายการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาทักษะในรั้วสถาบันการอุดมศึกษา โดยได้จัดให้มีการออกแบบหลักสูตรการพัฒนาทักษะในอนาคตที่สำคัญอย่างหลากหลาย จัดทำเป็นหลักสูตร Non degree ที่น้องๆ สามารถเลือกเรียนรู้ได้ตรงกับความต้องการในการนำไปใช้ในการพัฒนาความสามารถและอาชีพ มีโครงการ Future Skill New Career ที่จัดกลุ่มทักษะต่างๆ ที่เป็นที่ต้องการในภาคอุตสาหกรรม 8 สาขาที่เป็น s-curve ของประเทศและจัดอบรมให้กับน้องๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังได้รวบรวมเครือข่ายภาคธุรกิจการจ้างงานเพื่อนำเสนอโอกาสในการทำงานด้วยทักษะแห่งอนาคต
และ 3.นโยบายความร่วมมือของหน่วยงานวิจัยและนวัตกรรมภายใต้กระทรวงฯ โดยมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัด ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิจัย หรือองค์กรด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันสนับสนุนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ งานวิจัย เทคโนโลยีชุมชน และเงินทุน เพื่อให้เยาวชนสามารถทำโครงการพัฒนาต่างๆ ได้ประสบความสำเร็จ อาทิ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA องค์กรนำด้านนวัตกรรมที่มีกลไกการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริงได้ ซึ่งน้องๆ สามารถประยุกต์และสร้างสรรค์ผลงานบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีมิติของการประกอบธุรกิจนวัตกรรม ซึ่งน้องๆ จะได้เรียนรู้กันในกิจกรรมวันนี้และพรุ่งนี้ด้วย เพื่อสามารถนำเครื่องมือ STEAM4INNOVATOR ไปใช้วิเคราะห์ประเด็นปัญหาและคิดโครงการนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ทำได้จริงและมีคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม
เดินหน้าสานต่อทุกพื้นที่
ศ.เอนก กล่าวต่อไปว่า เมื่อน้องๆ คิดโครงการขึ้นมาได้แล้ว การสนับสนุนเงินทุนในกลไกลต่างๆ ที่พูดถึงข้างต้น โดยเฉพาะ Youth Startup Fund ที่เอ็นไอเอดูแลอยู่ เรามีเงินทุนตั้งต้นให้กับนักศึกษาในการทำโครงการธุรกิจนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง เราต้องการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ นักพัฒนา สามารถต่อยอดแนวความคิดเพื่อสร้างธุรกิจจริงได้ เพื่อจะสร้างมูลค่าเพิ่มและคุณค่าใหม่ให้กับประเทศไทยในอนาคต
“ในการนี้ได้กำชับให้ผู้บริหาร อว. อาทิ ผศ.ดวงฤทธ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.อว.ร่วมกับผู้บริหาร อว. ได้แก่ รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัด อว. ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมหาแนวทางในการสนับสนุนนิสิต นักศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และภายใน 2 สัปดาห์จะมีการจัดประชุมนักศึกษาทั่วประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นการช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชน”
กิจกรรมครั้งนี้จึงถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้น้องๆ เยาวชนได้มาทำความรู้จักกับกระทรวง อว.และกลุ่มผู้บริหาร ที่ร่วมสร้างเครือข่ายเยาวชนระหว่างมหาวิทยาลัย และได้เรียนรู้กระบวนการสร้างแนวคิดในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ สามารถมองประเด็นปัญหาอย่างเข้าใจลึกซึ้ง พร้อมแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและสร้างสรรค์ จึงคาดว่าการดำเนินงานในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญของน้อง ๆ ในการเติบโตก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำยุคใหม่ Young TH Leader ของประเทศไทยในอนาคต
ตัวแทนจากนิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เผยถึงมุมมองว่า อยากให้มีแนวทางในการนำผู้นำนักศึกษาทั้งหมดของแต่ละมหาวิทยาลัยมาทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะที่ผ่านมาไม่มีแนวทางที่ชัดเจน จึงอยากให้มีรูปแบบบูรณาการอย่างเป็นระบบ ทั้งกิจกรรมหมุนเวียนในแต่ละภูมิภาคที่จะต้องมีการกระจาย เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน และการจัดวางงบประมาณอย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยมีการดำเนินการเกี่ยวกับการลงพื้นที่ในการทำวิจัยและพัฒนาร่วมกับชุมชน จึงต้องอาศัยต้นทุนตรงจุดนี้
ทั้งนี้ หลายเรื่องที่เสนอมา รมว.ได้รับข้อเสนอและรับว่าจะต้องไปหารือร่วมกับอธิการบดี ส่วนเรื่องใดที่สามารถดำเนินการได้ทันทีก็จะรีบดำเนินการ แต่กระนั้น ผู้นำต้องเรียนรู้และประสานทุกๆส่วนเข้าด้วยกัน รู้ว่าจะคุยกับอาจารย์ ผู้บริหาร และผู้ที่เลือกเราอย่างไร โดยกระทรวงเราจะไม่ทำเรื่องแผนการเรียนการสอน วิจัย และนวัตกรรมเท่านั้นแต่จะมุ่งพัฒนากำลังคนเพื่อเป็นทรัพยากรของชาติบ้านเมืองที่มากับโลกไซเบอร์ (คนรุ่นใหม่ที่ร่วมกับคนรุ่นเก่า) เพราะฉะนั้นน้องๆจะเป็นคนมารับช่วงต่อเพื่อผลักดันประเทศไทยต่อจากคนรุ่นก่อนเป็นลำดับถัดไป
ดึงเครื่องมือบ่มเพาะเยาวชน
ทางด้าน พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวถึงกลไกสนับสนุนนักศึกษาในช่วงโควิด-19 ของสำนักงานว่า หนึ่งในกลไกสนับสนุนการดำเนินงานของนักศึกษามีมากมาย ตัวอย่างเช่นแผนพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมสำหรับผู้นำเยาวชน STEAM4INNOVATOR เป็นการค้นหาตัวตน ซึ่งทำมาแล้ว 3-4 ปีและสำเร็จแล้ว 3 เรื่อง คือ 1.การที่สะเต็มอย่างเดียวไม่สามารถตอบโจทย์การค้นหาตัวตนของน้องๆได้ไม่ว่าสายใดก็ตาม เราจึงนำศิลปะผนวกเข้ากับสะเต็ม เพราะเป็นการสร้างสะพานเชื่อมระหว่าง2 โลก ทั้งในส่วนของศิลปะ และวิทยาศาสตร์ วิทยาการ ต้องไปควบคู่กันเพราะฉะนั้นการที่เราทำสตีมจะมีเรื่องของการซาบซึ้งชื่นชมและสนใจในองค์ความรู้ทุกศาสตร์ ในที่สุดเขาจะหาตัวตนของเขาได้ 2.เมื่อเขาค้นหาตัวตนได้เขาจะก้าวสู่การเป็นเจ้าของกิจการ หรือส่วนหนึ่งของสังคม เพราะฉะนั้นกลุ่มเป้าหมายเรามีตั้งแต่ประถม มัธยม ซึ่งน้องๆกลุ่มนี้จะมีกระบวนการเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่ง
“กระบวนการค้นหาตัวตนสำคัญมากสำหรับเด็กไทย และเวลาค้นหาเจอแล้วนั้นเขาไม่มีพื้นที่แสดงออกไม่ว่าจะเป็นทั้งจากผู้ปกครอง สังคม จนมาถึงจุดที่สังคมไทยเริ่มมีการแสดงออกทางความเป็นตัวตนที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะเริ่มมีการสื่อสารร่วมกันมากขึ้น ดังนั้นเครือข่ายที่เราทำจะเปิดกว้างทั้งเปิดให้น้องๆที่อยากจะเข้ามาสามารถเข้ามาได้และมีเครื่องมือรองรับ เพื่อผลักดันให้น้องค้นหาตัวตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ดังนั้น STEAM4INNOVATOR เป็นกระบวนการ 4 ขั้นตอน ที่นอกจากมุ่งใช้สร้างนวัตกรรมแล้ว ยังสามารถนำไปปรับใช้ในการวิเคราะห์และหาทางแก้ไขปัญหาทุกๆ โจทย์ที่เราจะต้องเจอในชีวิตประจำวันได้ด้วย ช่วยให้มองปัญหาเป็นโอกาสในการคิดสร้างสรรค์ คิดโซลูชัน และเราอาจสร้างนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ได้จากโจทย์หรือช่องว่างเล็กๆ ที่คนอื่นมองไม่เห็น