‘ทีเซลส์’ ทอดสะพานความสำเร็จ จับคู่ ‘สตาร์ทอัพ’ สู่การลงทุน

‘ทีเซลส์’ ทอดสะพานความสำเร็จ จับคู่ ‘สตาร์ทอัพ’ สู่การลงทุน

ปิดฉากโครงการ Journey to Success 2020 by TCELS Mentoring Program ปี2 สามารถสร้างดีลมูลค่ากว่า 8.5 ล้านบาทจากการจับคู่นักลงทุนกับสตาร์ทอัพสายชีววิทยาศาสตร์ พร้อมปูทางสู่โอกาสความสำเร็จขึ้นแท่น Deal flow ทั้งระดับภูมิภาคและสากล

สตาร์ทอัพเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการ Commercialization หรือ การถ่ายทอดงานวิจัยสู่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และเข้าสู่ตลาดโลก มีผลทำให้อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เติบโตรวดเร็วในตลาดการแพทย์สุขภาพที่มีการกำกับดูแลเข้มงวด

เปิดเส้นทางสู่ความสำเร็จ

พัชราภรณ์ วงษา หัวหน้าโครงการ Journey to Success 2020 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือทีเซลส์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่ดี มีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขา แต่กลับไม่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง จึงต้องการที่จะส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมฯ ขณะที่สตาร์ทอัพถือเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมฯ ให้กับประเทศ

จึงเป็นที่มาโครงการฯ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ Life Sciences&Health Tech ให้มีโอกาสก้าวสู่ความสำเร็จในธุรกิจ สามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับภูมิภาคและสากล ทั้งยังเป็นการขยายการค้า การลงทุนและเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจทางการตลาดในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของประเทศให้เข้มแข็งมากขึ้น จึงเป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่จะช่วยหล่อหลอมให้สามารถดำเนินธุรกิจไปต่อได้

159940246576

กิจกรรมหลักของโครงการฯ ประกอบด้วย 3 ส่วน ซึ่งเป็นจุดตายของผู้ที่ประสบความสำเร็จในช่วงต้น คือ 1.การอบรมแบบออนไลน์ (Online Learning) 2.การให้คำปรึกษาเชิงลึก (1-on-1 mentoring) ที่จะช่วยให้ก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคสำคัญ อาทิ ข้อบังคับ ความปลอดภัย การเพิ่มคุณค่า และ 3.การจับคู่ธุรกิจ (Business matching) ผ่าน Rise Impact ที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ฐานข้อมูลนักลงทุน ซีอีโอและบริษัทใหญ่ๆ ให้สตาร์ทอัพเลือกในการแมทชิงจนเกิดการเจรจาทางธุรกิจตามมา

ยกตัวอย่างการให้คำปรึกษาแบบเชิงลึกเพื่อปลดล็อกอุปสรรคจะครอบคลุม 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ มาตรฐานผลิตภัณฑ์, การวางแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มีอยู่แล้วให้เป็น Exit plan ที่มีประสิทธิภาพ, การวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจและการเงินของสตาร์ทอัพให้คุ้มค่าและเกิดกำไรมากที่สุด และ Intellectual Property ด้านงานจดทะเบียนเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของแต่ละทีม

“ระยะเวลา 2 เดือนของการดำเนินโครงการฯ สตาร์ทอัพทั้ง 11 ทีม เริ่มมีตลาดและมีนักลงทุนสนใจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการเจรจาธุรกิจมูลค่ารวม 8.5 ล้านบาท และกำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตอีก 40 ล้านบาท”

ปลดล็อกเส้นทางความสำเร็จ

ผู้เข้าร่วมโครงการควรจะเป็น founder/key member ของธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการเฮลท์เทคที่มีสินค้าพร้อมออกสู่ตลาด ดำเนินธุรกิจมาแล้วกว่า 3 ปี ส่วนแผนการดำเนินงานหลังจากนี้จะมีการขยายสู่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและมีจำนวนมากที่สุด คาดว่าจะเริ่มโครงการใหม่ภายในปี 2564

159940249164

“หากเรามีสตาร์ทอัพที่เติบโตในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น จะทำให้มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นของไทยเอง ทั้งยังมีการขยายตลาดสู่สากลเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ สตาร์ทอัพที่ร่วมโครงการฯ จะเติบโตต่อเนื่อง ไม่ตายระหว่างทางเพราะเปอร์เซ็นต์ที่สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จมีไม่ถึง 10% แต่โครงการนี้จะส่งเสริมให้เติบโตมากกว่า 10% โดยจะติดตามไปจน Exit มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม” พัชราภรณ์ กล่าว

สำหรับตลาดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ในประเทศไทยปี 2562 มีมูลค่าราว 1.38 ล้านบาท แบ่งเป็น การให้บริการทางสุขภาพ 49% เครื่องสำอางและอาหารเสริม 25% ผลิตภัณฑ์ยา 14% และเครื่องมือแพทย์ 12% สำหรับตลาดที่ใหญ่และเติบโตเร็วสุดคือสุขภาพและเครื่องสำอางที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท

Chiiwii ปรึกษาหมอที่ใช่-ได้ทุกที่

พญ.พิรญาณ์ ธำรงธีระกุล ซีอีโอ บริษัท ชีวีบริรักษ์ จำกัด ผู้ร่วมก่อตั้ง Chiiwii แอพพลิเคชั่นปรึกษาแพทย์ออนไลน์ 24 ชั่วโมง เป็น 1 ใน 11 ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในโครงการฯ กล่าวว่า จากที่เข้าร่วมโครงการฯ ทำให้ได้รับโอกาสทางธุรกิจจากโรงพยาบาลภาครัฐ 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรี และโรงพยาบาลยะรัง จ.ปัตตานี ในช่วงนำร่องนี้จะไม่คิดค่าบริการใดๆ กับผู้ป่วย เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีประสบการณ์การใช้งาน และสามารถนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปต่อยอดออกแบบแอพพลิเคชั่นของตนเองได้

159940253543

ทั้งนี้ Chiiwii ทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” หรือมาร์เก็ตเพลสเชื่อมระหว่าง “คุณหมอ” กับ “คนไข้” ผ่าน 3 ช่องทางออนไลน์คือ วีดิโอคอล วอยซ์คอลและแชทหรือสนทนาทางข้อความ เพื่อบอกอาการและให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยโรค หรือให้คำแนะนำ ลูกค้าหลักจะเป็นกลุ่มธุรกิจประกันสุขภาพ องค์กรที่ใส่ใจสุขภาพของพนักงาน และโรงพยาบาล

โดยจะช่วยเสริมประสิทธิภาพการรักษา 2 กรณีคือ การให้คำปรึกษาเบื้องต้นสำหรับผู้ที่กำลังประสบปัญหาแต่ไม่ต้องการบอกใคร ไม่แน่ใจว่าเป็นโรคอะไร ไม่รู้ว่าจะไปหาหมอที่ไหนและควรรักษาอย่างไร อีกกรณีหนึ่งก็คือ ติดตามการรักษา โดยคนไข้รักษากับคุณหมออยู่แล้ว และมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง โดย มีทีมแพทย์เฉพาะทางกว่า 22 สาขา รวมกว่า 100 คนซึ่งรวมถึงจิตแพทย์ด้วย

159940334710

“ช่วงโควิดที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่วิถีการดำเนินชีวิตแบบนิวนอร์มอล ทำให้มีผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดกว่า 6 หมื่นดาวน์โหลด มีแอคทีฟยูสเซอร์กว่า 2,800 คน มีธุรกิจที่ใช้แพลตฟอร์มกว่า 10 ราย ถือได้ว่าเป็นเบอร์หนึ่งในการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นทางการแพทย์ใน App Store ทั้งยังคงคอนเซปต์ “ลีนสตาร์ทอัพ” ด้วย co-founder ที่มีประสบการณ์ด้านเฮลท์แคร์ และมุ่งเน้นการเข้าถึงระบบสุขภาพได้อย่างทั่วถึงบนฐานความปลอดภัยสูง”