ปักหมุดตลาด ‘โดเมสติก’ โอกาสรอด ‘สปา-เวลเนส’
แม้วิกฤติโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลาย แต่ไทยยังไม่สามารถเปิดน่านฟ้ารับชาวต่างชาติ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเวลเนสที่กว่า 60% เป็นลูกค้าต่างชาติ สสว.จึงนำเสนอกรอบแนวทางช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการสามารถหาทางออกเพื่อฝ่าวิกฤติ ผ่านการกระตุ้นการบริโภค
“กิจการสปาและเวลเนสต้องปรับโมเดลธุรกิจ สินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มโดเมสติก ซึ่งเป็นทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยและทำงานในไทย จากข้อมูลพบว่า ประมาณ 10 ล้านคนต่อปีที่เคยเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ” วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน Spa & Wellness Convention & Networking 2020 กิจกรรมในโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ปี 2563
หนุนเปิดตลาดโดเมสติก
สสว.กำหนดกรอบแนวทางกลยุทธ์ที่จะสร้างโอกาส- หาทางออกให้กับผู้ประกอบการ ประกอบด้วย “3 ส.” ดังนี้ 1.สร้างรายได้ในช่วงวิกฤติจากการท่องเที่ยว-กิจกรรมเชื่อมโยงสู่ตลาดลูกค้าในประเทศ โดยการร่วมกับเครือข่ายสมาพันธ์สปาแอนด์เวลเนสไทย สมาคมสปาไทย และ Klook พันธมิตรการตลาดออนไลน์ ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นด้านการท่องเที่ยวและมีฐานลูกค้าเป้าหมายภายในประเทศ ที่เคยเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศกว่า 10 ล้านคน โดยแคมเปญการขายนี้ คาดว่าจะช่วยผลักดันกระแสเงินสดให้แก่ผู้ประกอบการที่กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติ
2.สร้างเศรษฐกิจใหม่จากโมเดลธุรกิจขนาดเล็กหรือกิจกรรมเชื่อมโยงตลาดผู้ผลิต โออีเอ็ม ระบบการให้บริการ การตลาด การเงิน เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ถูกผลกระทบหรือผู้ที่ต้องการรายได้เสริม เช่น กลุ่มแอร์โฮสเตส กลุ่มพนักงานโรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยว สามารถหารายได้เสริม
รวมทั้งผู้ประกอบการเดิมที่สนใจเพิ่มรายได้ ด้วยงบการลงทุนต่ำและสามารถผ่อนชำระได้ โดยจะให้บริการคำปรึกษาแนะนำตั้งแต่การจดแจ้ง ขึ้นทะเบียน สร้างแนวคิด การตลาด จัดรูปแบบโมเดลธุรกิจแบบเฟรนไชส์ระดับมินิให้สอดคล้องกับภาวะตลาดที่มีกำลังซื้อจำกัด
3.สร้างความเชื่อมั่นด้วยเทคโนโลยีโซลูชั่น เช่น การเปิดตัวอุปกรณ์สวมใส่พร้อมระบบติดตามตัว การแจ้งเตือนสุขภาพและการเข้าถึงหรือให้ความช่วยเหลือแก่นักท่องเที่ยวหรือประชาชนแบบทันเหตุการณ์ เช่น Get Alarm ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากสำหรับประเทศไทยในช่วงนี้ที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับมา
ขณะเดียวกันจะสามารถต่อยอดกับ smart medical devices จากผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศในด้านเฮลท์เทค ซึ่งจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างและรูปแบบบริการด้านสุขภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและเวลเนสของไทยสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านการบริการการรักษาและเวลเนสต่อไป
เชื่อม 3 มิติตอบโจทย์เอสเอ็มอี
วีระพงศ์ กล่าวอีกว่า สสว.ได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดำเนินโครงการ SME Regular Level โดยผนึกกำลังภาคีเครือข่าย มุ่งสร้างโอกาสและแนวทางฝ่าวิกฤติให้กับเอสเอ็มอีในคลัสเตอร์สุขภาพและเวลเนส อาทิเช่น กระทรวงสาธารณสุข การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันการเงิน รวมถึง ภาคเอกชน เช่น ตัวแทนการจัดซื้อจากห้างสรรพสินค้า หรือบริษัทออนไลน์ชั้นนำ
นอกจากนี้ ภายใต้แนวทาง "สสว.CONNEXT:เชื่อมคน เชื่อมเอสเอ็มอี เชื่อมโลก” กำหนดกรอบการพัฒนาทั้ง 3 มิติ ได้แก่ 1.การเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน 2.การเพิ่มช่องทางการตลาด โดยเชื่อมต่อทั้งช่องตลาดออนไลน์บนแพลตฟอร์มของ สสว. และตลาดออฟไลน์ เช่น การจัดงานแสดงสินค้าและทดสอบตลาด การจับคู่เจรจาธุรกิจ และ 3. การเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ประกอบการกลุ่ม Strong/Regular ผ่านโครงการ SME Regular Level
“ประเทศไทยต้องพึ่งพาเศรษฐกิจหมุนเวียนจากภายในประเทศ ผู้ประกอบการต้องตั้งหลัก หากระแสเงินสด ปรับกลยุทธ์ธุรกิจและพร้อมรุกตลาดให้ไวเมื่อวิกฤติคลี่คลาย เพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขันได้ทันท่วงที"
โครงการส่งเสริมฯ ได้เข้าไปช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ลดต้นทุนธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริการ เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ รวมทั้งได้รับงบสนับสนุนในการตรวจรับรองมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับของสากล คาดว่า การเข้าไปพัฒนาดังกล่าวจะสร้างรายได้หรือยอดขายเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท
‘ชีวาศรม’รักษามาตรฐาน ตรึงราคาเดิมคัดลูกค้า
กรด โรจนเสถียร ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ชีวาศรม อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ รีสอร์ท จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเปิดน่านฟ้าเพื่อบินข้ามประเทศในระยะสั้นอาจถึงต้นปีหน้า จึงไม่สามารถคาดหวังรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้รวมของบริษัทเป็นอย่างมาก เพราะลูกค้าเป็นชาวต่างชาติ 90-95% จึงเริ่มมองมาที่ตลาดคนไทยพร้อมทั้งจัดทำแคมเปญใหม่ที่เหมาะกับบริบทคนไทย โดยไม่มีนโยบายที่จะลดราคากระหน่ำเพื่อดึงดูดลูกค้า
หลังจากเปิดบริการมาได้ 25 ปี วิกฤติครั้งนี้ส่งผลรุนแรงมหาศาล เมื่อย้อนไปในช่วงที่เพิ่งระบาด บริษัทได้จัดตั้งทีมชีวาศรมชนะ ประกอบด้วยบุคลากรทุกระดับชั้นตั้งแต่คนงานจนถึงผู้บริหารและแพทย์ เพื่อแชร์หลากหลายไอเดียที่จะช่วยให้กิจการมีเสถียรภาพอยู่ได้อย่างพอเพียง ไม่ว่าจะเป็น การปรับจากโกลเบิลแบรนด์มามองตลาดในบ้าน และในอนาคตนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามารูปแบบใด จะเตรียมพร้อมรับอย่างไร
“แผนการสู้โควิดของบริษัทในเบื้องต้น ประกอบด้วย 3 แผนหลักคือ สร้างลูกค้าใหม่ในไทย รักษาฐานลูกค้าเก่าที่เป็นต่างชาติและกระจายความเสี่ยงโดยเพิ่มช่องทางสร้างรายใหม่ โดยในส่วนของคนไทยพบว่ามีความกังวลในเรื่องสุขภาพโดยเฉพาะด้านจิตใจ จึงจัดทำแคมเปญเน้นทางด้านนี้ ขณะที่ลูกค้าต่างชาติก็ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีออนไลน์ติดต่อให้คำปรึกษาและนำเสนอสินค้า เช่น เซ็ตอุปกรณ์สปา แล้วจัดส่งข้ามประเทศ”
ยกตัวอย่างการเปิดให้บริการ Chiva-Som Wellness Online Services ผ่านช่องทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ประกอบด้วย บริการให้คำปรึกษาโดยทีมผู้เชี่ยวชาญในเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพใจ ด้านโภชนาการ รูปแบบการออกกำลังกายของแต่ละบุคคล ซึ่งรวมถึงการทำโยคะและนั่งสมาธิ เป็นต้น
ทั้งนี้ ชีวาศรมยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่้อตอบเทรนด์ตลาดโลก โดยอยู่ระหว่างศึกษาการนำสารสกัดกัญชามาใช้กับผลิตภัณฑ์สปาที่ช่วยตอบโจทย์ด้านอารมณ์และการผ่อนคลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าคาดหวังจากบริการสปาและเวลเนส