กรมทรัพย์สินฯดัน ‘ระบบมาดริด’ ตัวช่วยภาคธุรกิจฝ่าวิกฤติโควิด

กรมทรัพย์สินฯดัน ‘ระบบมาดริด’ ตัวช่วยภาคธุรกิจฝ่าวิกฤติโควิด

พาณิชย์ดันผู้ประกอบการไทยขับเคลื่อนธุรกิจผ่านทรัพย์สินทางปัญญาชูจุดเด่น “พิธีสารมาดริด” กลไกจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าออนไลน์ เปิดทางเข้าถึงตลาดต่างประเทศฝ่าวิกฤติโควิดในสภาวการณ์ที่ทั่วโลกปิดน่านฟ้า ยื่นคำขอในไทยครั้งเดียวรับความคุ้มครอง 121 ประเทศ

งานสัมมนามหกรรมทรัพย์สินทางปัญญา IP Fair 2020 หัวข้อ “พลิกเกมธุรกิจด้วยระบบ Madrid” หรือการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศภายใต้พิธีสารมาดริด ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยลงทะเบียนเพื่อขอรับความคุ้มครองยังประเทศปลายทางสะดวกมากยิ่งขึ้นผ่านระบบออนไลน์ ซึ่ง ดิเรก บุญแท้ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา มั่นใจว่าจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้สายพานธุรกิจไทยยังคงเดินต่อไปได้

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่ส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ก่อให้เกิดอุปสรรคในการเดินทางไปต่างประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับโลกวิถีใหม่ และช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคเพื่อความอยู่รอดของกิจการและเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้

160070188344

ทั้งนี้ พิธีสารมาดริด (Madrid Protocol) คือ ความตกลงที่จัดตั้งระบบการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ มีการกำหนดกฎเกณฑ์การขอจดทะเบียนผ่านสำนักระหว่างประเทศ (International Bureau หรือ IB) ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าในการขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ 

โดยผู้ขอจดทะเบียนไม่ต้องเตรียมคำขอสำหรับการยื่นในแต่ละประเทศโดยตรง สามารถยื่นคำขอที่สำนักงานต้นทาง สำหรับประเทศไทยยื่นผ่านกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อระบุขอรับความคุ้มครองในภาคีสมาชิกพิธีสารมาดริดทั้ง 121 ประเทศ ครอบคลุมในอาเซียน 10 ประเทศ ยกเว้นเมียนมา โดยที่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกที่ลำดับ 99

เพิ่มขีดความสามารถสู่การแข่งขัน

การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศภายใต้พิธีสารมาดริด จึงช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวก รวดเร็วในการยื่นคำขอจดทะเบียนและประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อขอรับความคุ้มครองใน 121 ประเทศเพียงคำขอเดียวและเสียค่าธรรมเนียมเพียงครั้งเดียว โดยใช้สกุลเงินเดียวกันคือฟรังก์สวิส

อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนดังกล่าวมีสถานะเป็นเหมือนระบบการจดทะเบียนคู่ขนาน โดยเป็นทางเลือกหนึ่งที่ไม่ได้เข้ามาแทนที่การจดทะเบียนในต่างประเทศผ่านการยื่นคำขอโดยตรงไปยังสำนักเครื่องหมายการค้าของประเทศนั้นๆ มีข้อดีคือ 1.ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ขอจดทะเบียน ที่ตั้งใจจะบุกตลาดต่างประเทศหลายๆ ประเทศพร้อมกัน 

160070196586

เพราะระบบมาดริดมีรูปแบบเฉพาะตัวที่อนุญาตให้ผู้ขอจดทะเบียน ยื่นคำขอผ่านสำนักเครื่องหมายการค้าของสำนักงานต้นกำเนิดหรือผ่านประเทศไทยได้ 2.ประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะไม่ต้องตั้งตัวแทนเครื่องหมายการค้าในแต่ละประเทศ โดยสามารถยื่นผ่านหน่วยงานกลาง คือ สำนักเครื่องหมายการค้าไทย และ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) จึงง่ายต่อการติดตามและบริหารจัดการคำขอ

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ โดยการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ให้มีความสามารถในการแข่งขันอย่างเหมาะสม อีกทั้งมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 การเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดจึงเป็นอีกแรงผลักดันที่ขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายที่วางไว้ และเป็นการเพิ่มช่องทางการคุ้มครองปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาไม่ให้ถูกละเมิดในต่างประเทศ

เอกชนไทยเมินความสำคัญ ‘ไอพี’

ดิเรก กล่าวต่อไปว่า กระบวนการคิด กระบวนการทำ หรือกระบวนการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ได้มาซึ่งตัวผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีในการผลิตจะแฝงด้วยทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ในทุกขั้นตอน สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร หรือสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ เครื่องหมายการค้า หลายคนอาจจะมองว่ามุ่งทำแต่ธุรกิจจะประสบผลสำเร็จ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ ขายได้ และทำการตลาดได้ดี 

160070200056

แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปธุรกิจเติบโตต้องการขยายสู่ตลาดต่างประเทศกลับพบว่าเข้าประเทศเป้าหมายไม่ได้เพราะไปละเมิดเครื่องหมายการค้า ไม่ได้คำนึงถึงกระบวนการคุ้มครองของทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้น เจ้าของธุรกิจต้องคำนึงตรงจุดนี้ ต้องจดทะเบียนคุ้มครองเครื่องหมายทางการค้า ยิ่งสถานการณ์แบบนี้จะต้องมีการป้องกันเบื้องต้นก่อนจะถูกละเมิด

“ในสภาวการณ์เช่นนี้หากเดินทางไปต่างประเทศต้องใช้ระยะเวลานานกว่าปกติ เนื่องจากถูกกักตัว 14 วัน ดังนั้น ระบบมาดริดจะอำนวยความสะดวกเพื่อคุ้มครองปลายทางของประเทศเป้าหมายที่ต้องการลงทุนหรือจดทะเบียนคุ้มครอง”

160070215650

ชู ‘มาดริด’ นำทัพรุกตลาดโลก

คชาภรณ์ เที่ยงตระกูล นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ สำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ช่วงวิกฤติโรคติดต่อนี้ คนไทยต้องฝ่าฟันกับวิกฤติเศรษฐกิจมากมาย จึงต้องแสวงหาความคุ้มครองที่เหมาะสม ซึ่งอันดับแรกต้องพิจารณาตัวเองว่ามีทรัพย์สินทางปัญญาอะไรบ้าง แจกแจงเป็นประเภทและเลือกวิธีการที่จะได้รับความคุ้มครองให้ถูกต้อง

ส่วนเครื่องหมายทางการค้าหากเลือกตั้งแต่ต้น ก็จะได้เครื่องหมายและความคุ้มครองเร็ว หากมีปัญหาต้องติดต่อทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอันดับแรก เพราะในช่วงวิกฤติโควิดทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัย ทำให้ต้องแสวงหาความคุ้มครองที่เหมาะสม ประกอบกับสิทธิของทรัพย์สินทางปัญญาจะได้รับความคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ

เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังประเทศปลายทางสามารถยื่นคำขอผ่านกรมทรัพย์สินทางปัญญาและขอความคุ้มครองไปยังประเทศปลายทาง จึงถือได้ว่าตอบโจทย์ในยุคนี้อย่างมาก เพราะโดยปกติการยื่นคำขอต้องยื่นประเทศต้นทาง เพราะเนื่องจากโควิดการเดินทางไม่สามารถทำได้อย่างสะดวก โดยสามารถยื่นผ่านกรมฯจากนั้นจะส่งเรื่องไปทาง WIPO และกระจายไปยังประเทศปลายทาง จึงถือได้ว่ามาดริดเป็นทางเลือกในการจดทะเบียนแทนการยื่นตรง ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 12-18 เดือน