‘ยักษ์สีฟ้า’ เร่งโรดแมพ จุดพลุ 'ควอนตัม คอมพิวติ้ง'

‘ยักษ์สีฟ้า’ เร่งโรดแมพ จุดพลุ 'ควอนตัม คอมพิวติ้ง'

ไอบีเอ็มเป็นบริษัทแห่งแรกที่นำคอมพิวเตอร์ควอนตัมไปไว้บนระบบคลาวด์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไอบีเอ็ม คิว เอ็กซ์พีเรียน (IBM Q Experience) ได้สร้างชุมชนผู้ใช้งานที่มีสมาชิกมากกว่า 250,000 คน

แกมเบ็ตต้า บอกว่า องค์กรเหล่านี้ กำลังร่วมกับไอบีเอ็มนำควอนตัมคอมพิวติ้งไปใช้กับเคสต่างๆ ในอุตสาหกรรม เช่น ซัมซุงกำลังสำรวจแนวทาง ในการนำควอนตัมคอมพิวติ้งไปใช้กับเซมิคอนดักเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอนาคตของอุตสาหกรรมดังกล่าว 

ขณะที่ เจเอสอาร์ คอร์ปอเรชั่น บริษัทผู้ผลิตวัสดุ กำลังหาวิธีการใช้ควอนตัมคอมพิวติ้ง ปรับปรุงวัสดุที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการใช้งานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเคโอะ ซึ่งเป็นฮับ ไอบีเอ็ม คิว แห่งแรกในเอเชีย ยังร่วมมือกับสมาชิกฮับรายอื่น ได้แก่ เจเอสอาร์, มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป, มิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป และมิตซูบิชิ เคมิคอล ศึกษาวิจัยการใช้งานควอนตัมที่มีความสำคัญต่อธุรกิจและวิทยาศาสตร์ในวงกว้าง

ดึง “ควอนตัม”สู่ประเทศไทย 

ไอบีเอ็ม ยังได้นำผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เข้ามาให้ความรู้แก่องค์กร นักการศึกษา และนักศึกษาไทยเป็นระยะ และเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยโตเกียว เปิดตัว Quantum Innovation Initiative Consortium เพื่อเร่งการวิจัยพัฒนา และการศึกษาด้านควอนตัมในญี่ปุ่น โดยมีองค์กรอย่างโตชิบา ฮิตาชิ ดีไอซี โตโยต้า ฯลฯ เข้าร่วม

สมาชิกของทีม ไอบีเอ็ม ควอนตัม กำลังตรวจสอบวิธีควบคุมระบบขนาดใหญ่ที่มีจำนวนคิวบิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้ได้นานมากพอ และมีข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อย เพื่อดำเนินการคำนวณที่ซับซ้อนซึ่งจำเป็นสำหรับการประยุกต์ใช้งานควอนตัมในอนาคต ปัจจุบัันไอบีเอ็มเปิดระบบควอนตัมที่มีความเสถียรมากกว่า 24 ระบบ บนไอบีเอ็ม คลาวด์ ให้ลูกค้าและบุคคลทั่วไปได้ทดลองใช้ ขณะที่ ในเดือนนี้ ไอบีเอ็มยังได้เปิดตัวโปรเซสเซอร์ ไอบีเอ็ม คอวนตัม ฮัมมิ่งเบิร์ด 65 คิวบิต ในหมู่สมาชิก ไอบีเอ็ม คิว เน็ตเวิร์ค ที่มีคุณสมบัติอ่านข้อมูลแบบมัลติเพล็กซ์ 8:1 และลดเวลาแฝงในการประมวลผลสัญญาณในระบบควบคุมที่เกี่ยวข้องลง สามารถควบคุมคิวบิตตามเงื่อนไขแบบคลาสสิกขณะที่วงจรควอนตัมทำงาน

เตรียมเปิดตัวโปรเซสเซอร์หนุน

ปี 2564 ไอบีเอ็ม จะทยอยเปิดตัวโปรเซสเซอร์ที่เข้าไปสนับสนุนการทำงานของเครื่องควอนตัม ไอบีเอ็ม คิว  ไม่ว่าจะเป็น ไอบีเอ็ม ควอนตัม อีเกิล (IBM Quantum Eagle) ขนาด 127 คิวบิต ไอบีเอ็ท ควอนตัม ออสเปรย์ (IBM Quantum Osprey) ขนาด 433 คิวบิต และในปี 2566 ไอบีเอ็มจะเปิดตัวโปรเซสเซอร์ ไอบีเอ็ม ควอนตัม คอนดอร์ (IBM Quantum Condor) ขนาด 1,121 คิวบิต

"ไอบีเอ็มมองว่า คอนดอร์ คือจุดเปลี่ยนซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแก้ error ต่างๆ และขยายการใช้งานของเครื่อง ในขณะเดียวกันก็มีความซับซ้อนมากพอที่จะทำให้เราสามารถศึกษาเกี่ยวกับ Quantum Advantage หรือปัญหาที่เราสามารถแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพบนคอมพิวเตอร์ควอนตัม มากกว่าบนซูเปอร์คอมพิวเตอร์ระดับโลกในปัจจุบัน" แกมเบ็ตต้า ทิ้งท้าย