'ทีเอ็มเอ' ผนึกพันธมิตร ยกระดับ 'ดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม'
TMA ร่วมกับ ดีป้า และ บอสตันคอนซัลติ้งฯ ยกระดับ“ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน”กลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล นำเสนอความรู้และประสบการณ์เชิงลึกจากองค์กรชั้นนำระดับโลกและในประเทศไทย และสำรวจความพร้อมองค์กรไทย ทั้งมอบรางวัลThailand Digital Excellence Awards
ในงานสัมมนาออนไลน์ “Digital Transformation Forum” และ “Thailand Digital Excellence Awards 2020” สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ “ดีป้า” ได้มีการนำเสนอความรู้และประสบการณ์เชิงลึกจากองค์กรชั้นนำระดับโลกและในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการด้านดิจิทัลให้กับองค์กรต่าง ๆ
ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ “ดีป้า” กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมดิจิทัลเติบโตขึ้นมากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจไทยที่ดำเนินมาในโครงสร้างแบบเดิมได้ถูกดิสรัปต์จากระบบดิจิทัล ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ผู้ผลิตเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยไม่ผ่านคนกลาง
"การจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้เราต้องพิจารณาสามเรื่อง คือ ต้องเร็ว ต้องสร้างความแตกต่าง และใช้การบริหารต้นทุนเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อไม่ให้โดน Disrupt ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างตัวเร่งภายในประเทศ วางโครงสร้างพื้นฐานระบบห่วงโซ่อุปทานให้เกิดขึ้นที่ประเทศไทย พัฒนาแพลตฟอร์มไทยเพื่ออุตสาหกรรมไทย”
อุปสรรคสำคัญต่อการเปลี่ยนถ่ายสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “เทคโนโลยีทันสมัยได้ถาโถมเข้ามาอย่างไร้พรมแดน เช่น ปัญญาประดิษฐ์, IOT, Big Data และอื่น ๆ การเปลี่ยนผ่านเพื่อนำเทคโนโลยีทันสมัยเหล่านั้นมาใช้ เพื่อจะพัฒนาคุณภาพชีวิตและดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องปรับกระบวนความคิด หรือ Mindset รวมทั้งปรับพฤติกรรมและวัฒนธรรมที่เคยชิน โดยอุปสรรคที่สำคัญต่อการเปลี่ยนถ่ายไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ ก. กฎหมายที่บางทีเข้าใจยากซับซ้อนและบางทีอาจไม่เป็นธรรมต่อนักลงทุน ข. การแข่งขัน หากมีการแข่งขันที่ดีจะช่วยให้นวัตกรรมดี ๆ เกิดขึ้นได้ และ ค. ความคิด ควรเห็นวิกฤติเป็นโอกาส มองว่าการปรับสู่ดิจิทัลเป็นการลงทุนไม่ใช่ค่าใช้จ่าย”
นายอิษฎา หิรัญวิวัฒน์กุล Managing Director and Partner บริษัท บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (BCG) กล่าวถึง Digitization ว่าเป็นการปรับการดำเนินงานจากที่เป็นระบบอนาล็อกสู่ระบบดิจิทัล แต่ยังนำไปประมวลผลไม่ได้ เช่น สแกนเอกสารเก็บในรูปแบบไฟล์พีดีเอฟ ส่วน Digitalization คือ การนำ digital และ เทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูล แล้วทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กรได้ เช่น การนำข้อมูลต่างๆมาวิเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต
และ Digital Transformation เป็นการนำระบบดิจิทัลเข้ามาตอบโจทย์กลยุทธทางธุรกิจ เพื่อให้ส่วนงานหลักและงานสนับสนุนขององค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยสร้างระบบนิเวศน์ใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผสานกับกระบวนการ แนวทางการทำงาน รูปแบบขององค์กร และวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ขึ้นมา ผลลัพธ์ของการทำ digital transformation มีมากมาย ตั้งแต่การช่วยลดต้นทุน ทำให้นำสินค้าและบริการเข้าสู่ตลาดได้เร็วขึ้น ที่สำคัญคือจะช่วยเพิ่มพูนทั้งความพึงพอใจของลูกค้าและสร้างยอดขายให้องค์กร
DAI หรือ Digital Acceleration Index เป็นตัวชี้วัดที่ทางBCGใช้เพื่อดูองค์กรนั้นๆว่าได้มีการทำ Digital Transformation ไปมากน้อยเพียงใด ตัวชี้วัดสามารถสรุปองค์กรออกมาได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆคือ Digital Starter, Digital Literate, Digital Performer และ Digital Leader.
การทำสำรวจ Digital Transformation
และจากการสำรวจการเปลี่ยนแปลงองค์กรในประเทศไทยสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล โดยใช้เครื่องมือ Digital Acceleration Index (DAI) ของ BCG ซึ่งครอบคลุม 4 เรื่องหลัก คือ แผนกลยุทธ์ธุรกิจที่ขับเคลื่อนโดยดิจิทัล การใช้ดิจิทัลในการทำงานหลักขององค์กร เช่น ฝ่ายการตลาด ฝ่ายปฏิบัติการ การพัฒนาการใช้ดิจิทัลหรือการมีดิจิทัลใหม่ๆ ในองค์กร
และการใช้ดิจิทัลที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการขับเคลื่อนองค์กร ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้เข้าใจสภาพการณ์ของ digital transformation ในประเทศไทย และศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ที่องค์กรควรให้ความสำคัญเพื่อสามารถเปลี่ยนผ่านสู่องค์กรดิจิทัลได้สำเร็จ มีองค์กรชั้นนำที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 60 แห่ง จาก 7 อุตสาหกรรม ซึ่งข้อมูลถูกนำมาเปรียบเทียบกับองค์กรระดับโลก 2,000 กว่าแห่งทั่วโลก ใน 36 มิติ โดยพบว่าองค์กรที่เปลี่ยนผ่านให้เป็นองค์กรดิจิทัลได้ มีมูลค่าองค์กรเป็น 2.4 เท่า เทียบกับองค์กรที่ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงด้านนี้
และจากผลการสำรวจที่พบว่าแม้องค์กรส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงต้นของการทำ digital transformation แต่ก็กำลังใกล้จะข้ามขั้นไปสู่วุฒิภาวะทางดิจิทัล โดยองค์กรเหล่านี้มีความมุ่งมั่นที่เป็นองค์กรชั้นนำในด้านนี้ในอีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อให้สามารถเปลี่ยนผ่านสำเร็จและได้ประโยชน์เต็มที่จากการนี้ องค์กรไทยจำเป็นต้องลงทุนสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัล ทำดาต้าแพลทฟอร์ม นำออโตเมชั่นมาใช้ในกระบวนการทำงาน และสร้างระบบนิเวศน์ด้านดิจิทัลขึ้นมาในองค์กร
ทั้งนี้ พบว่าในทุกอุตสาหกรรมที่สำรวจ มีตัวอย่างขององค์กรที่สามารถผลักดันตนเองขึ้นมาจนใกล้สู่ระดับ digital leadership ได้แล้วเช่นกัน หากมองตามอุตสาหกรรม สถาบันการเงินเป็นกลุ่มที่มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้มากที่สุด ซึ่งผลที่ออกมาสอดคล้องกับทุกภูมิภาคของโลก ส่วนธุรกิจเฮลธ์แคร์ตามมาเป็นที่สอง สอดคล้องกับตลาดเอเชีย ซึ่งในกรณีนี้ต่างไปจากทางอเมริกาหรือยุโรป พิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เป็นแรงผลักดัน ประกอบกับความมุ่งมั่นขององค์กรในประเทศไทย เราคงจะได้เห็น Bionic Company นั่นคือองค์กรที่สามารถผสานการทำงานของดิจิทัลเข้ากับการทำงานของทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างยอดเยี่ยมทั้ง 4 ด้านอย่างสมบูรณ์ในอนาคต
ผลรางวัล “Thailand Digital Excellence Awards” จากการสำรวจการเปลี่ยนแปลงองค์กรในประเทศไทยสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล นำไปสู่การมอบรางวัล Thailand Digital Excellence Awards โดย TMA และ ดีป้า ซึ่งประกอบด้วยรางวัลใน 4 สาขา ซึ่งมีองค์กรที่ได้รับรางวัลดังนี้ รางวัล Thai Digital Champion for Business Model Innovation ได้แก่ บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน)
รางวัล Thai Digital Champion for Optimized Operations ได้แก่ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
รางวัล Thai Digital Champion for Culture & Talent ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน)
และ รางวัล Thai Digital Champion for Tech Innovation & AI ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน)