‘ดีลอยท์’ ชี้ ‘ไทย’ จ่อขึ้นผู้นำ ‘ดิจิทัล ไลฟ์’ ภูมิภาคเอเชีย
ดีลอยท์ (Deloitte) เผยรายงาน “คลื่นลูกใหม่” แนวโน้มดิจิทัลไลฟ์ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำรวจความคิดเห็นกลุ่มคนที่อายุต่างกันใน 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย
ดีลอยท์ (Deloitte) เผยรายงาน “คลื่นลูกใหม่” แนวโน้มดิจิทัลไลฟ์ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ “The Next Wave” Emerging Digital Life in South and Southeast Asia" ระหว่างการประชุม INCLUSION Fintech Conference จัดโดยแอนท์ กรุ๊ป และอาลีเพย์ สำรวจความคิดเห็นกลุ่มคนที่อายุต่างกันใน 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย บังคลาเทศ และปากีสถาน
รายงานนี้ ชี้ว่า ผู้บริโภคอายุ 21-40ปี เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการปรับใช้รูปแบบการใช้ชีวิตดิจิทัลไลฟ์อย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้ ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ ไทย ถูกคาดการณ์ว่ามีสิทธิขึ้นผู้นำดิจิทัลไลฟ์ในภูมิภาคนี้ในอีกไม่ช้า
“เทย์เลอร์ แลม” หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมของ ดีลอยท์ ไชน่า กล่าวว่า เศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาและขยายตัวในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็น "คลื่นลูกใหม่’ ที่จะเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต ภูมิภาคนี้มีประชากรจำนวนมาก
โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาวที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ และกลุ่มคนที่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้บ้าง ทั้งมีการใช้โทรศัพท์มือถือแพร่หลาย รัฐบาลแต่ละประเทศสนับสนุน เป็นปัจจัยช่วยให้ภูมิภาคนี้พัฒนาก้าวกระโดดในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมถึงการขยายตัวของรูปแบบใช้ชีวิตดิจิทัลไลฟ์ในภูมิภาคนี้
“เราพบว่า เศรษฐกิจดิจิทัลประเทศเหล่านี้ มีศักยภาพสูงมากในการพัฒนา และการให้บริการอย่างทั่วถึง รวมถึงความสะดวก ปลอดภัย และยั่งยืนมากขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19” แลม กล่าว
ดิจิทัลเพย์เมนท์ ดาวเด่นบริการยุคใหม่
ผลศึกษา พบว่า บริการชำระเงินดิจิทัล หรือ ดิจิทัลเพย์เมนท์ เป็นเครื่องมือสำคัญสร้างและเชื่อมดิจิทัลไลฟ์ให้ผู้บริโภค นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด ราว 78% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ได้พบเห็นการใช้บริการดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เป็น 3 ประเทศที่มีการใช้งานเพิ่มขึ้นสูงสุด ขณะที่ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียเป็น 3 ประเทศที่ใช้ชำระเงินดิจิทัลคึกคักมาก ส่วนใหญ่ใช้ใน อีคอมเมิร์ซ เอ็มคอมเมิร์ซ มากถึง 70% โอนเงินระหว่างบุคคล 69% การซื้อสินค้าในร้าน 62%
อย่างไรก็ตาม พบว่า ธุรกรรมดิจิทัลเพย์เมนต์ส่วนใหญ่ยังมีมูลค่าไม่มากนัก โดย 67% ระบุว่ามูลค่าเฉลี่ยต่อธุรกรรมน้อยกว่า 30 ดอลลาร์ต่อคน (หรือน้อยกว่า 900 บาท) ขณะที่ เหตุผลหลัก 3 ข้อที่ผู้บริโภคเลือกใช้บริการอีวอลเล็ต คือ ความสะดวก ไร้การสัมผัส สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมและโปรโมชั่นพิเศษ
สำหรับ ดัชนีดิจิทัลไลฟ์ ระดับภูมิภาคอ้างอิงความนิยมการใช้มือถือ ความแพร่หลายการใช้อินเทอร์เน็ต การชำระเงินดิจิทัล การพัฒนาของอีคอมเมิร์ซ การมีส่วนร่วมในโซเชียลมีเดีย การสนับสนุนจากภาครัฐ พบ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียคือ “ผู้นำด้านดิจิทัลไลฟ์” (Digital Life Leader) ขณะที่ ไทยและฟิลิปปินส์ โดดเด่นในฐานะ “Digital Life Follower” ซึ่งความนิยมการใช้มือถือของไทยจัดอยู่ในระดับที่สูง รวมถึงการมีส่วนร่วมในโซเชียลมีเดีย การพัฒนาของบริการชำระเงินดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซ
ลุ้น “ไทย” ก้าวสู่ผู้นำดิจิทัลไลฟ์ภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ไทยถูกคาดการณ์ว่าจะก้าวสู่ “Digital Life Leader” ในอีกไม่ช้า เนื่องจากรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่สูง ทำให้อัตราการใช้โทรศัพท์มือถือก็สูงไปด้วย ผู้คนใช้ชีวิตดิจิทัลง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย, อีคอมเมิร์ซ, การชำระเงินแบบออฟไลน์ หรือเล่นเกมส์ออนไลน์ต่างๆ คนไทยต่างเปิดรับและมีความกระตือรือร้นต่อเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงความไว้วางใจที่มีต่อโซเชียลมีเดียทำให้เกิดโมเดลการชอปปิงในรูปแบบ “โซเชียลมีเดีย + อีคอมเมิร์ซ” ที่แตกต่างออกไปจากเดิม
ทั้งนี้ พบว่า ไทยมีผู้ใช้งานดิจิทัลเพย์เมนท์ราว 30 ล้านราย ในปีนี้ มูลค่าการทำธุรกรรมประมาณ 8,363 ล้านดอลลาร์ หรือ 261,500 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้โอนเงินระหว่างบุคคล และชำระเงินในร้านค้า การชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดเป็นวิธีชำระเงินยอดฮิตใน เช่นเดียวกับการชำระเงินแบบไร้การสัมผัส
ส่วนอีคอมเมิร์ซ ปีนี้ไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้นๆ ในด้านอีคอมเมิร์ซผ่านการใช้โทรศัพท์มือถือ มากถึง 75.3% โซเชียลมีเดียไทยถูกจัดอยู่ใน “สามประเทศแรก” ที่มีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียแอคทีฟมากที่สุดในปีนี้ ใช้เวลาท่องโลกโซเชียล 2 ชั่วโมง 55 นาที และ 51% ของนักช้อปไทยนิยมช้อปผ่านโซเชียลมีเดีย