สอวช. เปิดมุมมองชี้ “บีซีจี” เป็นอุตสาหกรรมมีอนาคต
สอวช. ร่วมเวที 'บีโอไอ' ชวนนักธุรกิจญี่ปุ่นลงทุนในไทย เชื่อ “บีซีจี” เป็นอุตสาหกรรมมีอนาคต พร้อมชี้ไทยต้องมียุทธศาสตร์การส่งเสริม บีซีจีโมเดล เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย
กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวในโอกาสเป็นวิทยากรในการสัมมนาชักจูงการลงทุนออนไลน์ในอุตสาหกรรม Bio-Circular-Green (บีซีจี) ซึ่งเป็นการประชุมผ่านโปรแกรม Zoom Webinar ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดขึ้น โดยได้เชิญนักลงทุนชาวญี่ปุ่นเข้าร่วมรับฟัง ทั้งนี้เพื่อเป็นการโปรโมทเชิญชวนให้มาลงทุนในประเทศไทย
ดร.กิติพงค์ ได้นำเสนอภาพรวมนโยบายและยุทธศาสตร์การส่งเสริม บีซีจีโมเดล เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย โดยระบุว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง สามารถนำทรัพยากรชีวภาพไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศได้ โดยต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อแปลงทรัพยากรทางด้านชีวภาพไปสู่มูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น ทั้งนี้แบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนที่อยู่บนยอดปิรามิด ซึ่งมีจำนวนผู้เล่นไม่มาก แต่ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จะมีมูลค่าเพิ่มที่สูงมาก ส่วนฐานล่างของปิรามิดจะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรและเอสเอ็มอี เทคโนโลยีที่ใช้อาจไม่สูงมากนัก แต่เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม นำไปเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้
ผอ.สอวช. กล่าวต่อว่า โดยทั้งสองส่วนดังกล่าวข้างต้น จะนำมาใช้กับ 4 ภาคส่วนหลักซี่งเป็นเป้าหมายของ บีซีจีโมเดลคือ 1. เกษตร อาหาร ในส่วนที่มีมูลค่าสูงจะเน้นส่งเสริมฟังก์ชั่นนัลฟู้ด และฟังก์ชั่นนัลอินกรีเดียนท์ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และในส่วนฐานล่างของปิรามิดที่มีเกษตรกรเป็นจำนวนมากก็จะเน้นการพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรให้มีคุณภาพสูงและต้นทุนต่ำ เป็นการผลิตครั้งละจำนวนมากโดยใช้เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ และสมาร์ทฟาร์มมิ่ง 2. เคมีชีวภาพ พลังงานชีวมวล และชีววัสดุ ในส่วนยอดปิรามิดที่มีมูลค่าสูงจะเป็นเคมีชีวภาพที่มีความบริสุทธิ์สูง ส่วนฐานล่างจะเป็นพวก ไบโอฟูเอล ซึ่งมีทั้งเอธานอลและไบโอดีเซล รวมถึงชีวมวลต่าง ๆ ซึ่งเทคโนโลยีที่นำมาใช้คือเทคโนโลยีเฟอร์เมนเตชั่นหรือการหมัก
3. สุขภาพและการแพทย์ ส่วนยอดปิรามิดที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ พวกยาไบโอโลจิค เช่น ยาต้านมะเร็ง ยาจำพวกไบโอฟาร์มาซูติคัล ที่ไปเพิ่มเม็ดเลือดแดงสำหรับผู้ป่วยที่ต้องทำการผ่าตัดหรือผู้ป่วยโรคไต เป็นต้น ส่วนที่เป็นฐานล่างของปิรามิด เนื่องจากประเทศไทยมีสมุนไพรค่อนข้างมากจึงได้มีการผลิตยาสมุนไพรขึ้นมา และ 4. การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องการให้บริการ เช่น การให้บริการทางการแพทย์แลและสุขภาพ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสำหรับการให้บริการเรื่องของโมบายแอพลิเคชั่นต่าง ๆ
นอกจากนี้ ดร.กิติพงค์ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมีการใช้วัตถุดิบที่มาจากทรัพยกรชีวภาพอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้ทำการผลิตและส่งออกปีละจำนวนมาก เช่น มันสำปะหลังผลิตปีละ 31 ล้านตัน อ้อย 130 ล้านตัน ยางพารา 5 ล้านตัน น้ำมันปาล์ม 15 ล้านตัน ข้าว 30 ล้านตัน ข้าวโพด 5 ล้านตัน รวมถึงสมุนไพรและผักผลไม้ต่าง ๆ ขณะเดียวกันประเทศไทยยังเป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมอาหารที่ส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีการผลิตทั้งสองแบบ ได้แก่ แบบแรกคือ ผลิตและส่งออกโดยไม่มีการแปรรูป เช่น แป้ง ข้าว น้ำมันปาล์ม อีกส่วนหนึ่งที่ทำได้ดีมากคือ การส่งออกอาหารแปรรูป ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของโลก โดยขยับจากอาหารพร้อมทาน หรือ Ready to Eat ไปสู่อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารฟังก์ชั่น และฟังก์ชั่นนอลอินกรีเดียนท์ และส่วนที่เป็นของเสียจากการเกษตร ก็นำมาแปลงเป็นสินค้า เช่น เป็นผ้าพันคอจากเส้นใยไฟเบอร์จากพืช
รวมถึงผลิตภัณฑ์จากยางพาราอีกหลายรายการ ขณะนี้ประเทศไทยมีวัตถุดิบแต่ยังขาดเทคโนโลยี ซึ่งสามารถทำได้ในสองรูปแบบคือ แบบแรกร่วมมือกับประเทศที่มีเทคโนโลยีทางด้านนี้ โดยรัฐบาลจะส่งเสริมแรงจูงใจให้กับประเทศที่มาร่วมมือทั้งด้านสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี และทางด้านการวิจัย แบบที่สองคือ ใช้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าชีวมวลแปรรูปของเสียจากภาคเกษตร ที่ปัจจุบันเผาทิ้งเสียเป็นส่วนใหญ่
“รัฐบาลมองว่าถ้าจะเพิ่มมูลค่าบีซีจี ต้องเพิ่มการวิจัยและพัฒนา โดยภาครัฐได้มีกลไกการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ อุทยานวิทยาศาสตร์ ที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองด้านการวิจัยและพัฒนาสำหรับภาคเอกชน รองรับทุกความต้องการของธุรกิจเทคโนโลยีแบบครบวงจรใน 4 ภูมิภาค ซึ่งมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป รวมทั้งมีมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนการทำงานด้านการวิจัยและพัฒนาตามความเชี่ยวชาญ รวมทั้งการพัฒนากำลังคน ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการ WiL ที่บูรณาการระหว่างการเรียนรู้ทางวิชาการและการทำงาน เพื่อให้นักศึกษาประยุกต์ใช้ความรู้ผ่านการทำงานจริง และโครงการ Talent Mobility โดยการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนด้านบีซีจีโดยตรง มีการปลดล็อกกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เช่น กฎหมายการขนส่งของเสียระหว่างโรงงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา” กิติพงค์ กล่าว