เบรกตั้ง“เอ็นที”สรท.ยื่นจดหมายฟ้องนายกฯ
สหภาพฯกสท โทรคมนาคม ฟ้อง นายกฯ ขอเลื่อนจดทะเบียนเอ็นทีจาก 7 ม.ค.นี้ เป็นมี.ค.แทน อ้างกระบวนการไม่ชัดเจน ทั้งโครงสร้างผู้บริการและสวัสดิการพนักงาน
นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมาตนเป็นตัวแทนสหภาพฯได้ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการขอเลื่อนการควบรวมกิจการของกสทฯและบมจ.ทีโอทีเป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (จำกัด) มหาชน หรือ เอ็นที ออกไปก่อน จากเดิมที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีแผนจดทะเบียนบริษัทในวันที่ 7 ม.ค. 2564 เป็นเดือนมี.ค. 2564 แทน
ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมดำเนินการ แล้วจดทะเบียนการควบรวมกิจการฯ ตามมติรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 14 ม.ค. 2563 เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ มีแนวทางในการปฏิบัติงานและการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับผู้เกี่ยวข้อง เช่น พนักงาน หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ใช้บริการ เพื่อให้การควบรวมกิจการครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากทุกฝ่าย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเป็นประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการ ตามที่ครม.ได้ตั้งเป้าหมายไว้ โดยที่ผ่านมารมว.ดีอีเอส ได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดนโยบายแนวทาง และติดตามการดำเนินงานเกี่ยวกับการควบกิจการ ซึ่งมีการประชุมเพียง 2 ครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
"เราไม่เคยขัดชวางและเห็นด้วยกับแนวคิดการไม่ทำธุรกิจแข่งขันกันเอง แต่การควบรวมกิจการเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญยิ่ง เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย โดยได้มีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาฯ เข้ามาดำเนินงานในช่วงระยะเวลาที่จำกัด ซึ่งยังมีอีกหลายประเด็นที่ไม่ได้มีการวิเคราะห์แผนงานและดำเนินการบริหารความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ เช่น โครงสร้างองค์กร, ทิศทางการดำเนินธุรกิจ, การออกแบบระบบบริหารทรัพยากรบุคคลให้สอดคล้องกับโครงสร้าง"
ดังนั้น สหภาพกสทฯจึงมีความกังวลเรื่องโครงสร้างเอ็นที ตามที่ บริษัทที่ปรึกษากำหนดมา ณ Day 1 คือ มีรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ 18 สายงาน มีผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่มากกว่า 30 คน มีผู้จัดการฝ่ายจำนวน 119 คน และผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายมากกว่า 230 คน ผู้จัดการส่วนประมาณ 2,000 คน และการกำหนดโครงสร้างองค์กรไม่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงสู่กลยุทธ์องค์กร ในการจัดทำแผนธุรกิจ ทั้งในระยะกลางและระยะยาว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ดี ปัญหาที่จะเกิดขึ้น คือ โครงสร้างที่มีความซ้ำซ้อน เพิ่มขั้นตอนกระบวนการทำงาน จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งและไม่เป็นหนึ่งเดียวในการทำงาน สิ้นเปลืองงบประมาณ เกินความจำเป็น จากเงินประจำตำแหน่ง ไม่มีความชัดเจนในการบริหารทรัพยากรบุคคล เช่น เส้นทางความก้าวหน้า ระบบแรงจูงใจ การประเมินผลการปฏิบัติงาน ระเบียบขั้นตอนการทำงานที่มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการที่สำคัญ คือ ขาดการสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์ของทั้งสององค์กรให้รวมเป็นหนึ่งเดียว ให้สอดคล้องต่อวิสัยทัศน์ และเป็นไปตามนโยบายภาครัฐให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ คือ ประหยัด ประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด