ม.เกษตร รุกหนุนโนว์ฮาวเอกชน อัพสเกล 'ยุทโธปกรณ์' กองทัพ ฝีมือไทย

ม.เกษตร รุกหนุนโนว์ฮาวเอกชน อัพสเกล 'ยุทโธปกรณ์' กองทัพ ฝีมือไทย

ม.เกษตร ถ่ายทอดและให้ใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยให้เอกชนต่อยอด พัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพยุทโธปกรณ์กองทัพด้วยฝีมือคนไทย

จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึง ผลงานวิจัยในกรณีศึกษา “ระบบควบคุมการเคลื่อนที่ของมุมทางสูงและมุมทางทิศของปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ขนาด 40 มิลลิเมตร แอล 70”  ซึ่งเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อดำรงสภาพและเพิ่มประสิทธิภาพยุทโธปกรณ์การพัฒนาระบบควบคุมแบบปิดเซอร์โมมอเตอร์เพื่อทดแทนมอเตอร์ไฮดรอลิคส์  ของ ผศ.ดร.ชนะ รักษ์ศิริ  ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาพร้อมถ่ายทอดและให้ผู้ประกอบการไทย นายชุมพล ปทานุคม กรรมการผู้จัดการ บจก.อาร์มี่ซิส ซัพพลาย และนายสุพัฒน์ ชาญศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บจก.อาร์มี่ ซัพพลาย (สนับสนุนทุนวิจัย) ซึ่งได้รับอนุมัติจากกองทัพบกให้เริ่มดำเนินการโครงการวิจัยและพัฒนามาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560

161046351168

โครงการวิจัยและพัฒนาดังกล่าวนี้ มีความสำคัญและนำผลงานวิจัยจากโครงการวิจัยนี้ ไปใช้ประโยชน์ในการเสริมสร้างศักยภาพของบริษัทในการจัดหายุทโธปกรณ์ รถหุ้มเกราะ รวมทั้งเครื่องยนต์ และอุปกรณ์จากผลงานวิจัยของคนไทยทดแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อใช้ในกิจการของกองทัพ โดยได้ลงนามข้อตกลงการถ่ายทอดและให้ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับสองบริษัท เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เป็นเวลา 10 ปี ในการพัฒนาระบบควบคุมมุมการเคลื่อนที่ของปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานขนาด 40 มิลลิเมตร แอล 70 และจะร่วมผลักดันให้เกิดกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพยุทโธปกรณ์ของกองทัพอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตต่อไป

โครงการวิจัยและพัฒนานี้ มี 3 เป้าหมายหลัก คือ 1.การวิจัยเพื่อซ่อมปรับปรุงระบบการหมุน ปตอ. (ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน) ขนาด 40 มม. แอล 70 โดยใช้ระบบเซอร์โวมอเตอร์ไฟฟ้าและระบบควบคุมแบบดิจิตอลใหม่ 2.การวิจัยเพื่อซ่อมปรับปรุงระบบควบคุมการยิ่ง (Fired Control) ให้สามารถทำงานได้ทั้งระบบการ ทำงานแบบพลเล็งบังคับเอง (Local control)  และแบบบังคับอัตโนมัติ (Remote control) ร่วมกับระบบควบคุมการยิงด้วยเรดาห์และระบบกล้องเล็งกลางวัน/กลางคืน 3.การวิจัยเพื่อซ่อมปรับปรุงชิ้นส่วนซ่อมชุดแหวนยางกันซึมและชิ้นส่วนโลหะของ ปตอ. 40 มม. แอล 70 ชิ้นส่วนที่มีส่วนสำคัญต่อการทำงาน โดยผลงานวิจัยได้ทำการทดสอบการปฏิบัติ ทดสอบการทำงานเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของกองทัพบกและบรรลุเป้าหมายสูงสุด

161046352663

สำหรับการนำผลงานวิจัยขยายผล โครงการ “การจ้างซ่อมปรับปรุงปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ขนาด 40 มม. แอล 70 โครงการซ่อม ปตอ. ลำกล้อง ระยะที่ 1 นั้นจะเป็นการจ้างซ่อมปรับปรุงระบบหลัก ๆ คือ การซ่อมปรับปรับปรุงระบบขับเคลื่อนและหมุนปืนเป็นระบบไฟฟ้า (เซอร์โวมอเตอร์)  การซ่อมปรับปรุงระบบค้นหาเป้าหมายด้วยระบบกล้องเล็งกลางวัน กล้องสร้างภาพด้วยรังสีความร้อนและเครื่องวัดระยะด้วยแสงเลเซอร์ และการซ่อมปรับปรุงระบบควบคุมการยิง เพื่อทำให้ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานนี้ มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนและหมุนปืนและมีความแม่นยำสูงในการยิงต่อเป้าหมายทางอากาศทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน เพื่อสนับสนุนการป้องกันภัยทางอากาศให้กับหน่วยดำเนินกลยุทธ์ในพื้นที่ยุทธบริเวณ

161046354578

นายชุมพล ปทานุคม กรรมการผู้จัดการ บจก.อาร์มี่ซิส ซัพพลาย และนายสุพัฒน์ ชาญศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บจก.อาร์มี่ ซัพพลาย (สนับสนุนทุนวิจัย) ได้กล่าวว่าผลงานวิจัยนี้ ได้ผ่านการทดสอบการปฏิบัติ ทั้งการทดสอบการทำงาน ณ ที่ตั้งปกติ จำนวน 4 ครั้ง และการทดสอบในสนามด้วยกระสุนการยิงกระสุนจริง จำนวน 3 ครั้ง ภายใต้การกำกับโดยคณะกรรมการทดสอบและประเมินผลโครงการวิจัยและพัฒนา ทำให้ ปตอ. ขนาด 40 มม. แอล 70 สามารถปฏิบัติงานได้ตามหน้าที่ ขั้นตอน และมาตรฐานของกองทัพบก เพื่อให้ผลงานวิจัยได้บรรลุเป้าหมายสูงสุด ซึ่งผลงานวิจัยนี้ ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานผลงานวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์ โดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุโธปกรณ์ กองทัพบก (กมย.ทบ.) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2562 เพื่อให้สามารถนำไปสู่การต่อยอดงานวิจัยในการผลิตและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ของหน่วยในกองทัพบกต่อไป