‘ชิปป๊อป’ ตีโจทย์แตก โกยรายได้กลางสมรภูมิโควิด

‘ชิปป๊อป’ ตีโจทย์แตก โกยรายได้กลางสมรภูมิโควิด

เมื่อโลกเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป หันมาชอปปิงออนไลน์และชำระเงินผ่านระบบอีเพย์เมนท์กันมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ให้บริการดิลิเวอรีเท่านั้นที่มีแนวโน้มสดใส

แต่แพลตฟอร์ม “อีคอมเมิร์ซ” และ “บริการขนส่งพัสดุ” ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับแรงส่งจากสมรภูมิโรคระบาดที่เกิดขึ้นไม่ต่างกัน จากผลพวงนี้ยังมีอีกหนึ่งธุรกิจที่ก็ได้รับอานิสงส์เชิงบวก หนึ่งในนั้นคือ “ชิปป๊อป” (Shippop) สตาร์ทอัพสัญชาติไทย ผู้ให้บริการจองขนส่งพัสดุออนไลน์ครบวงจร ที่รวบรวมบริษัทขนส่งมาไว้ในระบบเดียว ทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการยุคโซเชียลคอมเมิร์ซ  ภายใต้การนำทัพของ “สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปป๊อป จำกัด

161097829374

สุทธิเกียรติ กล่าวว่า ชิปป๊อปเป็นสตาร์ทอัพที่ให้บริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ www.shippop.com ก่อตั้งขึ้นในปี 2558 โดยมีจุดเริ่มต้นจากการทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ดูแลเว็บไซต์กว่า 100 เว็บไซต์ และพบปัญหาของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ 2 เรื่องคือ การขายสินค้า ขนส่งสินค้า และบริการรับชำระเงิน ที่ไม่มีความสะดวก จึงเป็นจุดผลักดันให้เกิดการพัฒนาโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหาด้านนี้

“เนื่องจากตลาด E-Logistic แข่งกันด้วยราคาเป็นอันดับแรก ดังนั้น ชิปป๊อปจะเป็นการซื้อวอลุ่มจากบริษัทขนส่งมาเป็น Bout เพื่อได้ราคาที่ถูกกว่า แล้วนำมาขายต่อกับร้านค้าทั่วไป ขณะเดียวกันชิปป๊อปมีพันธมิตรขนส่งกว่า 16 ราย อาทิ ไปรษณีย์ไทย, เคอรี่ เอ็กซ์เพรส,แฟลช เอ็กซ์เพรส,เจ แอนด์ ที ปัจจุบันส่งพัสดุเดือนละ 1 ล้าน Shipment”

กลยุทธ์การดำเนินการที่ทำให้เติบโตคือ 1.แฟรนไชส์ร้านรับฝาก/จุดฝากส่งพัสดุที่มีแบรนด์ขนส่งหลากหลายแบรนด์รวมในร้านเดียว และเป็นจุด drop off ของลาซาด้า ช้อปปี้ ภายในปีที่ผ่านมา มี 800 สาขา ปีนี้จะผลักดันสาขาทั้งหมดให้โตยิ่งขึ้น 2.จัดส่งสินค้าด่วน Ondemand โดยมีไรเดอร์ประมาณ 5,000 คนทั่วประเทศ และ 3.ส่งสินค้าไปยังต่างประเทศทั่วโลก 

ทั้งนี้วิธีการที่องค์กรสร้างรายได้มาจาก หนึ่ง ค่าธรรมเนียมกับขนส่ง สอง ได้จากการเก็บเงินปลายทาง(COD)และ สาม ได้จากแฟรนไชส์ ส่วนแผนธุรกิจต่อไปของชิปป๊อป คือ การขยายสู่ออฟไลน์มากขึ้น ซึ่งขณะนี้เริ่มทำกับลาซาด้าและช๊อปปี้ ให้เป็นจุด drop off หรือแม้กระทั่งการนำเครื่องปริ้น Double A พาร์ทเนอร์ชิพจ่ายค่าน้ำค่าไฟ และอีกหลายๆ เซอร์วิสที่สามารถประยุกต์เข้ากับหน้าร้านเพื่อเพิ่มมูลค่านอกจากขนส่ง

"อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชิปป๊อปโต คือ การไม่หยุดพัฒนา และพยายามหาปัญหาของลูกค้า หรือ จุดที่ลูกค้ามีปัญหา จากนั้นพัฒนาโซลูชั่นหรือไอทีที่เป็นระบบเข้ามาช่วย ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีการขยายสู่ตลาดต่างประเทศอย่าง มาเลเซีย และการส่งสินค้าไปทั่วโลก ในส่วนของปี 2564 ตั้งเป้าการเติบโตว่าการจะส่งพัสดุจะโตอีก 2 เท่า จากเดิม 400 ล้านบาท เป็น 1 พันล้านบาท"

161097832564

ส่วนภาพรวมของตลาดขนส่ง สุทธิเกียรติ กล่าวว่า ภาพการจองขนส่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก่อนโควิดมียอดพัสดุอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านชิ้นต่อวัน แต่ช่วงโควิดเฟส 1 ทำให้ยอดการจัดส่งพัสดุสูงขึ้นประมาณวันละ 20 ล้านชิ้น ช่วงปลายปีอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านชิ้น ลดลงเพราะกำลังซื้อคนตกลง แต่ตอนนี้กลับมาโตเป็นกราฟปกติ เพราะด้วยโควิดระบาดระลอกใหม่ ทั้งนี้สิ่งที่ชิปป๊อปต้องเดินต่อ คือ การสร้างมูลค่าเพิ่ม นอกเหนือจากค่าขนส่งที่ต้องเร่งทำกำไรเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ แนวคิดเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจด้านนวัตกรรม เขา บอกว่า การเป็นสตาร์ทอัพไม่ได้เริ่มต้นจากเทคโนโลยี แต่เริ่มจากปัญหาของลูกค้า และสุดท้ายคิดหาวิธีที่จะนำอะไรไปตอบโจทย์ โดยบางอย่างเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการใช้ไลน์ และพยายามทำเป็นระบบ ตั้งแต่การสร้าง POC จากนั้นพัฒนาเป็นระบบมากขึ้นและค่อยทำหน้าตาแพลตฟอร์มให้ผู้ใช้รู้สึกว่าง่ายเหมือนเดิม แต่ทั้งนี้มายด์เซ็ต คือ ต้องเร็ว

ส่วนอุปสรรคของการทำธุรกิจในช่วงเริ่มต้นนั้น มองว่า การเชื่อมต่อระหว่างแพลตฟอร์มและขนส่ง เพราะขนส่งไม่มีไอทีเป็นของตัวเอง แต่ปัจจุบันมี “นักพัฒนา” จึงเริ่มเปิดรับมากขึ้น ส่วนการดึงแบรนด์ให้มาใช้บริการนั้นหลายคนไม่เคยขายออนไลน์มาก่อน จึงต้องมีการปูพื้นฐานให้ อีกทั้งการคุยกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ ให้มาร่วมธุรกิจว่าสิ่งที่จะได้ คือ จะมีการส่ง Volume ให้มากน้อยแค่ไหน

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ การที่ไม่ได้เป็นนักบริหารมืออาชีพ ปัญหาแรกที่เจอคือการวางแผนโครงสร้างภาษีได้ไม่ดีพอ แต่ปัจจุบันมีการดำเนินการเรียบร้อย และสองปัญหาเรื่องบุคลากร เมื่อชื่อติดตลาดมากขึ้นก็มีบุคลากรเพิ่มขึ้น จึงต้องมีการทำ HRD หรือ HRM ในองค์กรเพื่อให้เห็นเป้าหมายเดียวกัน และสาม เรื่องของเงินทุน สุดท้าย คือ การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของตลาด โดยชิปป๊อปมีการทำแผนดำเนินการทุกๆ เดือน ยิ่งช่วงปีที่ผ่านมาการแข่งขันดุเดือด จึงเปลี่ยนระบบ โปรแกรม ระบบหลังบ้านให้เร็วขึ้น

161097835039

ส่วนยุค Post Covid สิ่งที่ต้องทำคือ ผูกโซลูชั่นทั้งขนส่ง ทั้งเพย์เมนท์ ทั้งบริการต่าง ๆ ให้เบ็ดเสร็จได้บนออนไลน์ ทำระบบหลังบ้านให้รองรับ ทุกอย่างต้องปรับตัวให้เร็ว หารายได้ใหม่เข้ามาเสริม อย่างการขยายจุดให้บริการออฟไลน์เพิ่มขึ้นเป็นอีกช่องทางที่จะหารายได้ใหม่ ๆ ในอนาคต อีกทั้ง ชิปป๊อปวางแผนจะทำโครงสร้างพื้นฐานของอีคอมเมิร์ซให้กับกลุ่มผู้ใช้บริการมากขึ้น

ส่วนทางด้านการระดมทุนครั้งสุดท้ายของบริษัทคือ Serie A เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ตอนนั้นมูลค่าอยู่ที่ 300 ล้านบาท และปัจจุบันกำลังมองหาเงินลงทุนก้อนใหม่มูลค่า 3 พันล้านบาท โดยมองนักลงทุนที่มีวิชชั่นในทิศทางเดียวกัน 

จึงถือได้ว่า “ชิปป๊อป” เป็นสตาร์ทอัพแนวหน้าของไทย ที่เติบโตได้อย่างรวดเร็ว และทำกำไรให้กับธุรกิจตั้งแต่ปีแรก นอกจากนี้ยังกวาดรางวัลมากมายกว่า 10 เวที อาทิ ชนะเลิศจาก โครงการสตาร์ทอัพของธนาคารออมสิน ,งาน Techsauce Global Summit รวมไปถึงอีกหลายรางวัลในหลายการแข่งขัน