'iTAX' คู่คิดเรื่อง ‘ภาษี’ วางแผนง่ายเพียงนิดเดียว
หากพูดถึงเรื่องใกล้ตัวที่เกือบทุกคนจะต้องพบเจอและมักจะหลีกเลี่ยงไม่ได้คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “ภาษี” แต่เมื่อใกล้ฤดูกาลยื่นภาษีทีไรหลายคนกลับมองว่า “ภาษี” เป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละคนมีสิทธิและการลดหย่อนภาษีแตกต่างกัน บางครั้งมักจะมีนโยบายใหม่ออกมา
ดังนั้นหากไม่ได้ติดตามข้อมูล ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา อีกทั้งภาษียังเกี่ยวเนื่องกับการออมเงินหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ จึงเป็นโจทย์ให้ “ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์” หรือ อาจารย์มิก พัฒนา iTAX เครื่องมือคำนวณและวางแผนภาษี ผ่านเว็บไซต์ www.itax.in.th และแอพพลิเคชั่น “iTAX”
ผศ.ยุทธนา กล่าวว่า iTAX ฟินเทคสตาร์ทอัพ เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว จากงานวิจัยปริญญาเอกทางด้านกฎหมายภาษี ในขณะที่กำลังศึกษาอยู่ที่ Southern Methodist University สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความสนใจว่าทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึงภาษีได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้ภาษี จึงพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้ภาษีเป็นเรื่องง่ายที่สุด สะดวกที่สุดและประหยัดที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เสียภาษีควรได้รับผ่านแนวคิด “ภาษี+เทคโนโลยี+ดีไซน์”
ได้เงินคืนโดยไม่ต้องรู้ภาษี
“หลักการคือ เป็นแอพฯ สำหรับในการคำนวณและวางแผนภาษี ในมุมที่ว่าหากมีข้อมูลเบื้องต้น อาทิ รายได้ กองทุน ประกัน บริจาค เมื่อใส่ในแอพฯก็จะมีการแสดงผลว่าขณะนี้ผู้ใช้ได้มีการใช้สิทธิลดหย่อนไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ เหลือกี่เปอร์เซ็นต์ และขณะนี้จะได้เงินคืนภาษีเท่าไร หรือต้องจ่ายภาษีเพิ่มเท่าไร ควรวางแผนอย่างไร และการลดหย่อนภาษี เสมือนกับการเอกซเรย์ตัวเอง จากนั้นระบบจะมีการบอกต่อว่าเหลือการใช้สิทธิอะไรได้อีกบ้าง และหากต้องการจะเสียภาษีที่ถูกกว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง iTAX ก็จะมีเมนูในการวางแผนภาษีให้ รวมถึงในกรณีที่หากไม่รู้ว่าในปีนี้มีค่าลดหย่อนอะไรใหม่บ้างก็จะสามารถอัพเดตได้อัตโนมัติ” ผศ.ยุทธนา กล่าว
โดยทำระบบเป็นฐานข้อมูลที่ร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่างบริษัทประกันชีวิต ประกันสุขภาพ จะมีรูปแบบประกันให้เลือก จึงสามารถเปรียบเทียบได้ ซึ่งจะคล้ายๆ กับอโกด้าในการเลือกที่พัก ดังนั้น สิ่งที่ iTAX ทำจะครบลูปจะวิน-วิน สำหรับทุกฝ่าย ในส่วนของเว็บไซต์จะเป็นข้อมูลความรู้ด้านภาษี ที่สำคัญ iTAX ยังเป็น Official partner กรมสรรพากร ในเรื่องของการเชื่อมต่อด้านภาษีของบุคคลธรรมดา ทั้งนี้ หากถามถึงฟีเจอร์ที่ถูกใช้งานมากที่สุดคือ “การวางแผนภาษี”
ผศ.ยุทธนา เล่าต่อไปว่า บิซิเนสโมเดลในส่วนของ B2C จะเป็นเรื่องของโฆษณา และเป็นรายได้หลัก โดยในฝั่งที่เป็นแอพฯ ตอนนี้ผู้ใช้มีประมาณกว่า 6 แสนราย แอคทีพในช่วงฤดูกาลยื่นภาษีประมาณ 2-3 แสนราย เป็นกลุ่มคนระดับกลางถึงบน ซึ่งมีรายได้สูงในระดับหนึ่ง และเมื่อกลุ่มผู้ใช้ค่อนข้างชัด แบรนด์โฆษณาของผลิตภัณฑ์ลดหย่อนภาษี ผลิตภัณฑ์ทางการเงินก็มีความสนใจและนำโปรดักท์มานำเสนอ อีกทั้งฝั่งคอนเทนต์ บทความโฆษณา และโฆษณาอื่นๆ บนเว็บไซต์ โดยทั้งหมดทั้งมวลจะอยู่ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ผู้ใช้” ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ดังนั้นการใช้งานของ iTAX จึงไม่มีการเก็บค่าบริการกับผู้ใช้งาน
ผู้ช่วยวางแผนภาษีองค์กร
อีกทั้งยังมีการจัดการวางแผนภาษีให้กับนิติบุคคล ซึ่งเป็นฝั่ง B2B โดยสิ่งที่ทำคือพยายามเสนอมูลค่าเพิ่ม ที่มีเครือข่ายในแวดวงสำนักงานบัญชี โดยใช้วิธีเมื่อมีคนเข้ามาปรึกษา และรับบริการก็จะแมทซ์กับสำนักงานบัญชีที่อยู่ในเครือข่าย เพื่อให้ทุกฝ่ายวิน-วิน ซึ่ง iTAXจะได้ค่าบริการตรงจุดนี้ด้วยเช่นกัน
แน่นอนว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ย่อมมีอุปสรรคเป็นธรรมดา ปัญหาที่ยุทธนาเจอคือ “การปรับโครงสร้างทีม” ซึ่งต้องเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่แรกผ่านการรีแบรนด์ ให้ใหม่ขึ้น ใช้งานง่าย และเรื่องของแอพฯ ที่มีการทำเวอร์ชั่นใหม่ขึ้นมา อีกทั้งบิซิเนสโมเดลที่ชัดเจนขึ้น
บวกกับแนวทางในการปรับวัฒนธรรมองค์กรที่เห็นภาพชัดขึ้นเช่นกัน เพราะ “วัฒนธรรมองค์กร” เป็นสิ่งสำคัญจึงต้องมีมุมมองที่ไปในทิศทางเดียวกัน จะทำให้แนวทางในการโปรดักท์เคลียร์ขึ้น งานก็จะออกมามีประสิทธิภาพ แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นได้เพราะมีการวางไว้แล้วว่า Goal ขององค์กรคืออะไร
ยกระดับผู้เสียภาษีตั้งแต่ต้นทาง
“การดำเนินงานต่อจากนี้คือพัฒนาต่อยอดฟีเจอร์อื่นๆ เพิ่มเติม อย่างปีนี้ ในส่วนของโครงการ Tax sandbox ที่ร่วมกับกรมสรรพากร ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาภายใต้สภาพแวดล้อมที่เน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพให้บริการภาษีที่ถูกใจประชาชน ซึ่ง iTAX ชนะเลิศการแข่งขันโครงการ #HACKATAX Thailand's First Senior-levelHackaton จัดโดยกรมสรรพากร ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
ด้วยผลงานโครงการ iTAX bnk บัญชีธนาคารจัดการภาษีอัตโนมัติสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ มีหลักการสำคัญ คือให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ทุกคนขายของและรับ-จ่ายเงินตามปกติผ่านบัญชีธนาคาร iTAX bnk แล้วระบบจะจัดระเบียบข้อมูลเงินเข้า-ออกเพื่อนำไปคำนวณภาษีและเตรียมเป็นแบบฟอร์มภาษีในรูปแบบที่กรมสรรพากรกำหนดทั้งหมด ซึ่งอยู่การระหว่างขั้นตอนการพัฒนาระบบและหาทางปรับปรุงข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคกับการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ ส่วนที่สอง คือ การจัดการเงินเดือนพนักงาน ที่จะต่อยอดให้แอพฯ iTAX เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของพนักงาน
“สิ่งสำคัญที่ทำให้ไอแท็กซ์กลายเป็นที่รู้จักและมีผู้ใช้จำนวนมาก คือ เรื่องของดีไซน์ เทคโนโลยี และข้อมูลภาษีที่ค่อนข้างแน่น ถูกต้อง 100% โดยที่ไม่ต้องรู้เรื่องภาษี ดังนั้นความท้าทายนี้เป็นสิ่งที่ยากเพราะการที่จะทำให้คนไม่รู้ภาษี สามารถจัดการภาษีได้อย่างซูเปอร์แมนไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกอย่างต้องผ่านกระบวนการคิดที่เยอะพอสมควรแต่ไอแท็กซ์ก็สามารถทำได้ ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างสามารถพิสูจน์ได้จริงเนื่องจากไอแท็กซ์ใช้งบการตลาดต่ำมาก ลูกค้าเกือบ 100% มาจากการแนะนำและบอกต่อ” ซีอีโอไอแท็กซ์ กล่าว
ทั้งนี้ทิศทางการสนับสนุนจากภายนอก อย่างหน่วยงานต่างๆ มองว่าอยู่ในระดับที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะสตาร์ทอัพเป็นหนึ่งในโอกาสสำคัญของประเทศ หากได้รับการสนับสนุนที่ดีประเทศไทยจะสามารถก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้จริง เพราะคนในอุตสาหกรรมนี้มีความพร้อมกับการเติบโตแบบ Hyper Growth ดังนั้นการสนับสนุนจะสามารถผลักดันได้อย่างถูกจุดอย่างแน่นอน”
จึงกล่าวได้ว่าฝีไม้ลายมือของ ‘iTAX’ ไม่ธรรมดา เพราะถือเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ในการสนับสนุนทุนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาประเภทธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล (S3)