'แฮปปี้โกรเซอร์' ส่งเกษตรอินทรีย์สู่คนเมือง

'แฮปปี้โกรเซอร์' ส่งเกษตรอินทรีย์สู่คนเมือง

“แฮปปี้ โกรเซอร์” (Happy Grocers) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสินค้าเกษตรอินทรีย์ เป็นธุรกิจประเภทสตาร์ทอัพจากกลุ่มเจเนอเรชั่นใหม่ ที่ประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลบวกกับความคิดสร้างสรรค์ คว้ารางวัลชนะเลิศจาก 2 เวทีจึงทำให้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

161530078547

“แฮปปี้ โกรเซอร์” (Happy Grocers) ร้านขายของชำออนไลน์สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้ ไม่สร้างขยะ เอื้อแฟร์เทรด หวังเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงเกษตรกรรายย่อย ผู้บริโภคท่ามกลาง Post-Covid เกิดจากการรวมตัวของ “สุธาสินี สุดประเสริฐ” และ “ปัทมาภรณ์ ดำนุ้ย” บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จัดตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพในชื่อบริษัท แฮปปี้ กราวด์ จำกัด

ผุดกลยุทธ์ฟาร์มติดล้อ

สุธาสินี กล่าวว่า เริ่มต้นแฮปปี้โกรเซอร์ใช้เฟซบุ๊คเป็นสื่อกลาง ต่อมาได้พัฒนาเป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ www.happygrocers.co มีสินค้าอินทรีย์ที่หลากหลายทั้งผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ เบเกอรี่ ชีสและอาหารทะเล ส่วนทีมงานก็ประกอบด้วยบุคคลทั่วไป ผู้ที่ประสบกับภาวะตกงานช่วงโควิด กลุ่มไรเดอร์ที่ต้องการหารายได้เสริม 

161530071442

ต่อมาเมื่อเริ่มมีการคลายล็อกดาวน์จึงได้พัฒนาโมเดลดิลิเวอรี่ “Grocery Truck” ผู้บริโภคสามารถดูรายการสินค้าอินทรีย์ทางเว็บไซต์ แล้วออเดอร์ล่วงหน้า จากนั้นรถ Service Truck ก็จะนำผลิตภัณฑ์ไปส่งให้ถึงที่ ปัจจุบันมีจุดจอดตามคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงานกว่า 20 แห่งทั่วกรุงเทพฯ รวมทั้งโรงแรม และสถานทูต 

เราสร้างคอมมูนิตี้ให้ลูกค้าและเครือข่ายเกษตรกรได้มีส่วนร่วม อาทิ การทำ Food Workshop, Farm to Table ที่ผู้ผลิตหรือเกษตรกรนำพืชผักที่ปลูกขึ้นเองหรือเนื้อสัตว์ที่ได้จากฟาร์มเลี้ยงดูแบบไร้สารเคมี มาปรุงในสไตล์โฮมเมดแล้วเสิร์ฟให้กับลูกค้า, ทริปเยี่ยมชมฟาร์มออร์แกนิคและการแบ่งปันข้อมูลต่างๆ บนโซเชียลมีเดีย ที่เน้นความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของแฮปปี้โกรเซอร์มีทั้งหมด 140 รายการ โดย 40% เป็นออร์แกนิค ซึ่งราคาถูกกว่าท้องตลาดเนื่องด้วยดีลกับเกษตรกรโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

161530080948

ทั้งนี้ แฮปปี้โกรเซอร์เน้นนวัตกรรมทางสังคมเป็นหลัก ด้วยความที่เรียนมาทางด้าน Global Studies and Social Entrepreneurship ทำให้รู้สึกว่า การทำธุรกิจใดๆ ก็ตามควรจะสร้าง Social Impact โดยอัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องเป็น SE เพราะมองว่าบิซิเนสจะยั่งยืนได้จะต้องช่วยสนับสนุนให้ลูกค้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และวิธีที่ทำจะต้องไม่ส่งผลเสียให้กับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น แฮปปี้โกรเซอร์จึงมีบิซิเนสโมเดลคือ การรับสินค้าจากเกษตรกรโดยตรง และพยายามทำให้ทั้งซัพพลายเออร์ ตัวเรา ลูกค้า และสิ่งแวดล้อม ได้ประโยชน์มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนต้นทุนมากสุดคือ โลจิสติกส์ ด้วยความที่เลือกทำงานกับฟาร์มขนาดเล็ก ทำให้ต้องวิ่งหลายๆ ฟาร์มเพื่อที่จะนำของมาส่งที่กรุงเทพฯ จึงวางรูปแบบการจัดการโลจิสติกส์และมองหาแพลตฟอร์ม เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การตรวจสอบย้อนกลับสินค้าด้วยการใช้บล็อกเชน ที่สามารถเทรดได้ว่า สินค้าชิ้นนี้มาจากฟาร์มไหน ใครเป็นคนเก็บ 

161530086238

สร้างคอมมูนิตี้ผ่านโซเชียล

ภาพรวมสินค้าเกษตรอินทรีย์ สุธาสินี กล่าวว่า เป็นตลาดมีศักยภาพแต่จะต้องทำให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้ตลาดเติบโตขึ้นได้ผ่านการให้ความรู้กับลูกค้าในเชิงที่ว่า ทำไมถึงสำคัญในการที่จะบริโภคสินค้าออร์แกนิค ทั้งในเชิงของผลประโยชน์ต่อสุขภาพ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และในอนาคตเมื่อความต้องการผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคมีมาก ราคาก็จะต่ำลงได้

ส่วนความท้าทายในการทำธุรกิจในช่วงโควิดคือ ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการบริหารจัดการ การคัดสรรซัพพลายเออร์ที่จะต้องมีกลยุทธ์การคัดเลือกที่เหมาะสม ทั้งนี้ ความสำเร็จที่ผ่านมาที่เห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็น ความสัมพันธ์กับลูกค้าที่มีการช่วยฟีดแบ็คและให้ความรู้ความเข้ากันต่อกัน ลูกค้าเก่าสามารถอธิบายบิซิเนสแฮปปี้ฯ ให้กับลูกค้าใหม่ได้ แสดงให้เห็นว่าเขาเข้าใจว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ ดังนั้น แฮปปี้ฯ จึงเป็นมากกว่า ‘การเป็นเทรดเดอร์ผักผลไม้’

"เรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงฝั่งเกษตรกร พบว่าเขามั่นใจในตัวแฮปปี้ฯ มากขึ้น เพราะมีตลาดที่ชัดเจน ทำให้เกษตรกรมั่นใจที่จะปลูกสินค้า หรือ ขยายพื้นที่เพื่อทำออร์แกนิคเพิ่มขึ้น ส่วนฝั่งบิซิเนส ลูกค้ามีส่วนร่วมมากขึ้นทั้งการจับจ่ายใช้สอยและมีส่วนร่วมในกิจกรรมกับคอมมูนิตี้ที่แฮปปี้ฯ กำลังสร้าง

161530094741

ระบาย ‘ผัก’ สร้างรายได้ช่วงวิกฤติ

อีกหนึ่งจุดเด่นของแฮปปี้ฯ คือ การมีส่วนร่วมที่ทำให้ลูกค้าเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนเกษตรกรไทย ช่วยลดขยะพลาสติก ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและขยายผลกระทบในเรื่องการปลูกผักอย่างยั่งยืน ปัจจุบันแฮปปี้ฯ มีฐานลูกค้าประมาณ 300 ราย ซึ่ง 95% เป็นชาวต่างชาติในไทยและมีเกษตรกรในเครือข่าย 80 ราย 

“เราตั้งเป้าภายในสิ้นปี 2564 จะโตให้ได้ 10X ทั้งฝั่งผู้ใช้งานและเกษตรกร โดยมีการลงทุนเรื่องเว็บไซต์ให้เหมาะกับลักษณะของเพย์เมนท์เกตเวย์ที่คนไทยใช้งาน ส่วนช่องทางสร้างรายได้จะมาจากฝั่งของอีคอมเมิร์ซ และดิลิเวอรี่”

161530096194

เมื่อถามถึง Food supply chain platform ในไทย สุธาสินี มองว่า เติบโตมากขึ้นและมีเกษตรกรอีกมากที่ยังไม่ได้อยู่บนแพลตฟอร์ม ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในร้านของชำออนไลน์ ซึ่งตลาดนี้มีขนาดใหญ่มากพอที่จะมีคู่แข่งหลายราย ซึ่งความแตกต่างของแต่ละรายขึ้นอยู่กับโมเดลทางธุรกิจ แหล่งที่มาของสินค้า เกณฑ์การคัดกรองและสินค้าที่จะส่งมอบลูกค้าดีต่อสุขภาพและต่อโลกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การมีผู้เล่นหลายรายในตลาดถือเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาสินค้าและบริการให้ดีที่สุดสำหรับลูกค้า