ถอดรหัสไทยกับการก้าวสู่ 'อุตสาหกรรมอวกาศ' ใต้ความพร้อมของ 'ภาคีอวกาศ'

ถอดรหัสไทยกับการก้าวสู่ 'อุตสาหกรรมอวกาศ' ใต้ความพร้อมของ 'ภาคีอวกาศ'

ก้าวสำคัญของไทยในเวทีการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ! เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยจาก “ผู้ซื้อ” เป็น “ผู้สร้าง” ใต้ศักยภาพที่มีกับกรอบการดำเนินงาน 5 ด้าน พร้อมแผนดำเนินงานของทั้ง 12 องค์กรไทย ผู้ซึ่งเป็นแนวหน้าในการพาประเทศก้าวสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

161771654028

อย่างที่ทราบกันดีว่าทั้ง 12 หน่วยงาน จะมีบทบาทสนับสนุนการทำงานของ “ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย” ภายใต้กรอบแนวทางการดำเนินงาน 5 ด้าน ดังนั้นกรุงเทพธุรกิจจึงสรุปดังนี้ 

  1. งานวิศวกรรม ได้แก่ การออกแบบและพัฒนาโครงสร้าง เครื่องมือ และกระบวนการผลิตสำหรับการสร้างดาวเทียม รวมถึงการประยุกต์ในสาขาที่เกี่ยวข้อง
  2. งานแอพพลิเคชั่น ได้แก่ การพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน เช่น การนำรูปภาพผ่านกระบวนการพิจารณาคุณลักษณะเฉพาะ ก่อนนำไปเผยแพร่สู่สาธารณะ
  3. งานวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การคิดค้นหรือพิสูจน์เทคโนโลยีตามหลักวิทยาศาสตร์ เช่น การพัฒนาวงล้อปฏิกิริยาสำหรับใช้งานในอวกาศ การวิจัยอุปกรณ์วัดรังสีรอบโลก เป็นต้น
  4. งานสนับสนุนการศึกษา ได้แก่ การสร้างความรู้ ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศ เช่น การฝึกอบรมจัดกิจกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศ การสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชน รวมทั้งการสื่อสารสู่สาธารณะ 
  5. งานสนับสนุนอุตสาหกรรม ได้แก่ การสนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคอุตสาหกรรมยกระดับและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความสามารถทางด้านนวัตกรรมในอุตสาหกรรม 

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานเลขานุการและศูนย์ประสานงานโครงการ

ลุยบิ๊กโปรเจ็คพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ

ส่วน แผนดำเนินงาน ในช่วงปี พ.ศ. 2564-2570  กำหนดแผนสร้างดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์หลายดวง อาทิ TSC-Pathfinder ดาวเทียมดวงแรก ขนาด 80  กิโลกรัม เป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ ที่ส่งออกไปเพื่อโคจรรอบโลก มีอุปกรณ์ Payload สำหรับภารกิจสำรวจทรัพยากร กำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในปี พ.ศ. 2566

TSC-1 ดาวเทียม ขนาด 100  กิโลกรัม มีอุปกรณ์ Payload เป็นกล้องถ่ายภาพหลายช่วงคลื่น (Hyperspectral Imaging) สามารถบันทึกภาพและสเปกตรัมในช่วงคลื่นที่ตามองเห็น และอินฟราเรด คลื่นสั้นของผิวโลกไปพร้อมๆ กัน  สำหรับภารกิจสำรวจทรัพยากร และสภาพอากาศ เป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ ที่ส่งออกไปเพื่อโคจร    รอบโลก กำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในปี พ.ศ. 2568

TSC-PFT1 ดาวเทียมทดสอบเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องขนาด 12-24 กิโลกรัม ดาวเทียมนี้จะถูกปล่อยจากสถานีอวกาศนานาชาติ ที่ความสูงประมาณ 400 กิโลเมตร เพื่อทดสอบระบบคู่ขนาน (Dual System) ในระบบบัสของดาวเทียม และระบบการปล่อยสายอากาศ รวมถึงการปล่อยแผงโซลาร์เซลล์หลังจากถูกปล่อยออกจากสถานี-อวกาศนานาชาติ

TSC-PFT2 ดาวเทียมทดสอบเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ขนาด 12-24 กิโลกรัม ดาวเทียนนี้จะถูกปล่อยจากสถานีอวกาศนานาชาติ ที่ความสูงประมาณ 400 กิโลเมตร เพื่อทดสอบระบบการรับ-ส่งสัญญาณในย่านความถี่ X-band ซึ่งเป็นความถี่หลักที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างดาวเทียมและสถานีภาคพื้นดิน และทดสอบการเปลี่ยน    วงโคจร สำหรับเตรียมความพร้อมสำหรับดาวเทียม TSC-2 ที่มีภารกิจสำรวจดวงจันทร์ 

TSC-2 ดาวเทียม ขนาดประมาณ 300  กิโลกรัม ใช้ประสบการณ์และเทคโนโลยีส่วนใหญ่จากการสร้าง TSC-1 เพิ่มเติมส่วนระบบขับดัน เพื่อให้ดาวเทียมสามารถโคจรรอบดวงจันทร์  มีอุปกรณ์ Payload สำหรับภารกิจสำรวจดวงจันทร์

161771657418

อย่างไรก็ตาม การสร้างดาวเทียม TSC-2 เพื่อโคจรรอบดวงจันทร์ ยังต้องทดสอบเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอีกมาก ได้แก่ การสื่อสารทางไกลในห้วงอวกาศ การเปลี่ยนและการเข้าวงโคจร ความทนทานต่อกัมมันตภาพรังสีของอุปกรณ์ไฟฟ้า การผสมผสานระบบความแม่นยำและประสิทธิภาพขั้นสูง การนำทางและการระบุตำแหน่งในห้วงอวกาศ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้ประสบการณ์และบทเรียนจาก TSC-Pathfinder และ TSC-1 เป็นบทเรียนในการดำเนินการ หากเราประสบความสำเร็จใน  TSC-Pathfinder และ TSC-1 การต่อยอดไปสู่ TSC-2 ที่มีภารกิจโคจรรอบดวงจันทร์ จึงเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้ สำหรับดาวเทียมดวงอื่นๆ หลังจากปี พ.ศ. 2570 จะมีการกำหนดภารกิจต่อไป

ทั้งนี้ในส่วนของ ความพร้อมของโครงการ: ในระยะแรกได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม ทั้งนี้แต่ละหน่วยงานภาคีจะใช้โครงสร้างพื้นฐาน กำลังคน และงบประมาณที่มีอยู่ในการดำเนินโครงการ อาทิ

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้แก่ สถานีภาคพื้น สำหรับรับสัญญาณจากดาวเทียม THEOS-1 THEOS-2 และดาวเทียมในโครงการ TSC ทุกดวง ,อาคาร Assembly Intregration and Testing สำหรับทดสอบดาวเทียมที่มีน้ำหนักไม่เกิน 500 กิโลกรัม ,ทีมวิศวกรของ GISTDA จำนวน 20 คน ที่ผ่านการฝึกอบรม ณ University of Surrey ประเทศอังกฤษ

ดึงพาวเวอร์ก้าวสู่แอโรสเปซ

161771659160

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้แก่ กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ,ห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์ ,ห้องปฏิบัติการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง ,ห้องปฏิบัติการทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ เพื่อสร้างอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ต่างๆอาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีขั้นสูง ,ทีมวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเมคาทรอนิกส์ ทัศนศาสตร์ฺ การขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง ฯลฯ

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้แก่ ระบบทดสอบดาวเทียม เครื่องมือจำลองสภาวะแวดล้อมในอวกาศ เพื่อใช้ทดสอบอุปกรณ์ต่างๆ ของดาวเทียม ก่อนส่งขึ้นสู่อวกาศ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ,ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ,ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)

สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้แก่ แหล่งกำเนิดรังสีชนิดต่างๆ ที่สามารถรองรับการทดสอบวัสดุสำหรับประกอบและติดตั้งกับดาวเทียม ,อุปกรณ์ตรวจวัดและสอบเทียบรังสีชนิดต่างๆ ,ระบบ Plasma Linear Device เพื่อทดสอบวัสดุ ,ระบบตรวจสอบและวิเคราะห์พื้นผิวของวัสดุ อาทิเช่น เครื่อง AFM FE-SEM XRD เป็นต้น ,ระบบ Plasma Focus ซึ่งมีลักษณะการทำงานทางไฟฟ้าที่สอดคล้องกับระบบขับดันชนิดที่ใช้เชื้อเพลิงแข็ง

นอกจากนี้ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ร่วมในภาคียังมีทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ห้องปฏิบัติการ คณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญ และนักศึกษาที่สนใจ ที่สามารถสนับสนุนการดำเนินโครงการได้ อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มีสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ มีห้องปฏิบัติการที่ศึกษาวิจัยด้านดาวเทียม มีประสบการณ์การสร้างดาวเทียม CubeSat มหาวิทยาลัยมหิดล มีคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญการศึกษาวิจัยด้าน Space Weather มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีสถานี​รับ​สัญญาณดาวเทียม​จุฬาภรณ์ ฯลฯ

ในระยะต่อไปส่วนหลักการออกแบบ และผลิตดาวเทียม ที่ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ Bus จะดำเนินการ ณ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ส่วน Payload และอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ จะดำเนินการ ณ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) 

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่วงโคจรของอุตสาหกรรมอวกาศอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้องค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่มีอยู่ในมือ ซึ่งจะสามารถสานต่อสู่การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศในอนาคตได้อย่างแน่นอน ซึ่งสิ่งสำคัญที่นอกเหนือจากการส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์แล้วนั้น จะเป็นการพัฒนาศักยภาพและกำลังคนของไทย ให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง หรือ ที่เรียกว่า 'ดีพเทค' ให้เป็นที่ประจักษ์ได้เป็นอย่างดี โดยทั้งหมดนี้จะทำให้ 'ไทย' ก้าวสู่การเป็นประเทศหนึ่งที่มีดีไม่แพ้ชาติใดในโลก จนสามารถเปลี่ยนนิยามจากคำว่า 'ผู้ซื้อ' สู่ 'ผู้สร้าง' ได้อย่างเต็มภาคภูมิ