เปิดกลลวง ‘โจรไซเบอร์’ สร้างบอทโกง 'สตรีมมิงเพลง’
บริการสตรีมมิงเพลงที่กำลังเฟื่องฟูได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคเพลงของผู้คนอย่างมีนัยยะสำคัญ...
งานวิจัยของดีลอยต์เรื่องชีวิตดิจิทัลซึ่งกำลังเติบโตในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่า การฟังเพลงผ่านสตรีมมิงคือหนึ่งในสามความบันเทิงทางดิจิทัลที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนหนุ่มสาว
โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีการประมาณการณ์ว่าตลาดสตรีมมิงดนตรีในภูมิภาคนี้จะเติบโตกว่า 13 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2570
เอพริล เทย์สัน รองประธาน ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย แอดจัสต์ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มวิเคราะห์การตลาด กล่าวว่า การฟังเพลงผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิงที่มีอัตราการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง ได้สร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมดนตรีทำรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมาคือกลุ่มมิจฉาชีพได้พุ่งเป้าเพื่อขโมยรายได้อันชอบธรรมจากเหล่าศิลปินและนักดนตรี ทำให้ต้องคอยระแวดระวังและต่อสู้เพื่อจะเอาชนะกลุ่มมิจฉาชีพ ที่ขณะนี้นิยมใช้รูปแบบการฉ้อโกงด้วย “บอท” เป็นเครื่องมือหลักในการขโมยรายได้
ใช้’บัญชีปลอม’โกยรายได้
ข้อมูลระบุว่า พวกฉ้อโกงมองหาช่องโหว่เพื่อดูดรายได้จากผู้ประกอบการเพลงด้วยกันสองส่วนหลัก หนึ่งในนั้นคือการสร้างบอทมาลวงให้มีการเปลี่ยนถ่ายรายได้จากครีเอทีฟโฆษณามาเข้ากระเป๋าพวกเขาเอง
โดยมิจฉาชีพจะเปลี่ยนการเล่นเพลงหรือสร้าง "แทร็คปลอม” และให้บอทช่วยทำให้ผู้ที่ไม่ใช่ศิลปินบนแพลตฟอร์มขโมยรายได้เป็นล้านๆ ดอลลาร์ไปจากศิลปิน ด้วยการสร้าง “บัญชีปลอม” หลายพันบัญชีซึ่งสามารถเล่นเพลงซึ่งพวกมิจฉาชีพมาขึ้นทะเบียนไว้
ที่ผ่านมา ผู้ให้บริการสตรีมมิงหลายรายกำหนดระยะเวลาเล่นเพลงว่า ต้องยาวกว่า 30 วินาทีจึงจะสามารถสร้างรายได้ ด้วยเวลา 86,400วินาทีในแต่ละวันพวกบอทจึงสามารถเล่นเพลงได้ถึง 2,880 เพลงต่อวันต่ออุปกรณ์หนึ่งเครื่อง
หากมีบอท 1,000 ตัวก็เล่นได้ 2.9 ล้านแทร็กซึ่งประมาณได้ว่าในหนึ่งเดือนมีการเล่นเพลงไม่ถูกกฎหมาย 86.4 ล้านครั้ง หากเทียบเป็นเงินแล้วก็อาจเกือบหนึ่งในสี่ของรายได้ที่หายไป
+++สร้างเครื่องมือลวงผู้ฟัง
สร้างเครื่องมือลวงผู้ฟัง
ด้วยพฤติกรรมของผู้ใช้บริการที่มีเวลาน้อย ส่วนใหญ่จึงมักจะนิยมการติดตาม “ลิสต์เพลงฮิต” หรือฟังดนตรีที่กำลังอยู่ในกระแสแทนที่จะสร้างเพลย์ลิสต์ของตัวเอง และนี่คือช่องโหว่ที่สองที่มิจฉาชีพไร้ยางอายใช้ลูกเล่นต่างๆ ของบอทพลิกแพลงขั้นตอนตามปกติของการทำงานในแพลตฟอร์มผ่านสตรีมมิ่งครั้งละปริมาณมาก หรือ “bulk streaming”
ส่วนวิธีการหารายได้นั้นก็ไม่ได้ซับซ้อน พวกฉ้อโกงจะสร้างอุปกรณ์ฟาร์มบอทขนาดใหญ่ไว้ฟังแทร็กเป็นพันเป็นหมื่นครั้ง ทำให้เพลงนั้นๆ ขยับขึ้นตำแหน่งที่สูงขึ้นในการค้นหา และเป็นไปได้ว่าอาจได้รับการบรรจุไว้ในเพลย์ลิสต์ยอดนิยม
ที่น่าสนใจคือ วิธีการนี้สามารถดึงดูดความสนใจคนฟัง ผู้ให้บริการบอทจึงเล่นกับระบบโดยใช้ลูกเล่นนี้เป็นเครื่องมือในการโปรโมทดนตรีเพื่อสร้างจุดน่าสนใจ แม้สิ่งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของศิลปินโดยตรง แต่มันก็ย้ายเป้าหมายอย่างหน้าตาเฉย คนที่มีทุนทรัพย์สามารถว่าจ้างผู้ให้บริการบอทเพื่อทำให้คนหันมาสนใจแต่ไม่ได้สนใจศิลปินซึ่งควรเป็นเป้าหมายที่แท้จริง
เอพริลบอกว่า ภัยจากการฉ้อโกงด้วยบอทยังคงคุกคามวงการนี้อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับวงการเกมและอีคอมเมิร์ซ และยังไม่มีวี่แววว่าจะหายไป ค่ายเพลงและผู้ให้บริการสตรีมมิงจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคอยตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าการแบ่งปันผลประโยชน์มีความเที่ยงธรรมในหมู่ศิลปินและเจ้าของลิขสิทธิ์
โดยกุญแจสำคัญในการก้าวไปข้างหน้าในเกมนี้คือ การเตรียมพร้อมในระดับองค์กร ธุรกิจควรมีทีมเฉพาะกิจไว้คอยอัพเดตนวัตกรรมล่าสุดของบอทในการลวงสตรีมมิง รวมไปถึงมาตรการต่างๆ ของการป้องกันการฉ้อโกง ป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ ก่อนที่การฉ้อโกงจะกลายเป็นบ่อนทำลายความไว้วางใจของผู้ใช้ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อธุรกิจ
“แม้เราจะระมัดระวังอย่างดีแล้ว แต่บอทก็ยังสามารถเจาะเข้าแอพได้โดยไม่ถูกตรวจจับและสร้างความเสียหายแก่แอพได้อย่างมากมาย การตรวจจับบอทนั้นเป็นงานที่ต้องลงทุนลงแรงการเฝ้าระวังทำให้ทีมไอทีต้องเสียเวลา ดังนั้นจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่พร้อมรับมือ ซึ่งเอไอ แมชีนเลิร์นนิง และการใช้ประโยชน์จากความซับซ้อนของข้อมูลจะช่วยได้อย่างมาก”