เปิดแผนโต ‘The Flying Thai Food’ ยกทัพแบรนด์สินค้า-นวัตกรรมไทยตีตลาดโลก!
หากคุณพักอาศัยในเมืองกุ้ยหลิน ฉางชา อู่ฮั่นและพื้นที่ใกล้เคียง ต้องการจับจ่ายสินค้าและอาหารไทยล้วนปักหมุดที่ Thaifeteria Nitinagin (ไทยเฟเทอเรีย นิธินาคิน์)หรือที่คนจีนเรียกว่า“เฟ่ยไท่ชาน”ร้านค้าปลีกสินค้าและอาหารไทยในเมืองจีน เสมือนห้างดองกินั่นเอง
นิธินาคิน์ มิ่งรุจิราลัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ (CBD) บริษัท จอยเอ็นโค จำกัด เจ้าของไทยเฟเทอเรีย กล่าวว่า ด้วยความที่เปรียบเสมือนร้านค้าของชำ ทำให้การเข้ามาในตลาดแรกๆ บริษัทสามารถจับเทรนด์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากได้ทำกลยุทธ์ Long Tail Marketing เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าจะจัดเก็บดาต้า พร้อมกับนำดาต้าเหล่านั้นมาวิเคราะห์เพื่อนำสินค้าที่มีมูลค่าสูงมาวางจำหน่าย
เฟ่ยไท่ชาน หรืออีกชื่อคือ The Flying Thai Food ไม่ได้มีชื่อเสียงแค่ร้านอาหารหรือสินค้าไทยเท่านั้น แต่ผลไม้ไทยก็ยังได้รับความนิยมเช่นกัน โดยเฉพาะ “ทุเรียน” แต่การที่จะนำทุเรียนไทยไปบุกตลาดจีนได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเหตุผลให้เขามีเสาะหาเทคโนโลยีที่สามารถช่วยลดการสูญเสียของผลไม้ กระทั่งได้พบงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในเรื่อง Active Coaching Packaging ช่วยชะลอการสุกของผลไม้ ทำให้การนำเข้าทุเรียนไปจำหน่ายที่ร้านอาหารในประเทศจีนง่ายขึ้น
“เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถยืดอายุอาหารสด อย่างทุเรียนในแพ็คเกจจิ้งที่ออกแบบมาพิเศษ ทั้งยังมีการพัฒนา Oxidant Control Box เป็นหนึ่งในกระบวนการของ Active Coaching ที่ช่วยควบคุมก๊าซมีเทนในผลไม้สุก ไม่ให้ปล่อยออกมามากจนเกินไปจนทำให้สุกเร็ว ช่วยย่นระยะเวลาการสุกได้นานถึง 30-45 วัน จากปกติ 3-5 วัน เท่านั้น และยังช่วยขจัดปัญหากลิ่นทุเรียนเวลาสุก และผลแตกขณะขนส่งหรือส่งออกต่างประเทศได้ 100%”
ทั้งยังได้มีการพัฒนาเทคโนโลยี Edible Coating หรือสารเคลือบผิวบนผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสาหร่าย เพื่อเคลือบบนผิวผลไม้ทำให้สุกช้าลง แต่ทว่าการใช้เทคโนโลยีการเคลือบต่อผลไม้ 1 ชนิดจะมีรูปแบบการใช้ที่แตกต่างกัน ฉะนั้น โนว์ฮาวแต่ละอย่างจึงต้องค่อนข้างชัดเจน เบื้องต้นผลไม้ที่นำมาใช้กับเทคโนโลยียืดอายุ ได้แก่ มะม่วง มังคุด ทุเรียนและลองกอง
ส่วนความท้าทายของการใช้งานนวัตกรรมยืดอายุ เขามองว่า ที่ผ่านมาไม่ค่อยนำมาใช้มากนัก เพราะด้วยต้นทุนค่อนข้างสูงอยู่ที่ 15-20 บาท อีกทั้งบรรจุภัณฑ์สามารถบรรจุทุเรียนได้แค่ 1 พู จึงไม่คุ้มค่าในการนำใช้กับการทำตลาดทุเรียนในเมืองไทย แต่เหมาะกับการนำมาใช้ใน The Flying Thai Food ที่มีฐานอยู่ในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากลูกค้ามีกำลังซื้อ
บินตรงส่งสินค้าไทยเจาะตลาดจีน
นิธินาคิน์ วางโมเดลธุรกิจบรรจุภัณฑ์ฯ คือ 1.ใช้กับสินค้าผลไม้ที่ร้าน โดยบรรจุทุเรียนได้ 1 พู ราคาเริ่มต้นที่ 70 หยวนต่อพู ซึ่งเป็นราคาทดลองตลาด แต่หากจำหน่ายในไทยอาจจะเป็นในเซกเตอร์ของการขายผ่านโมเดิร์นเทรด อย่างห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล หรือ สยามพารากอน 2. สำหรับการขายให้กับบริษัทคู่ค้าจะต้องดูเป็นดีล เนื่องจากราคาค่อนข้างสูง และเทคโนโลยีทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท ทั้งนี้บริษัทพยายามจะปรับราคาให้ลดลง โดยจะต้องเริ่มปรับโปรโมชั่นทางการตลาดใหม่นับเป็นความท้าทายในลำดับต่อไป
ทั้งนี้ The Flying Thai Food มีจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 4 ปีก่อน จากการเห็นโอกาสที่สินค้าไทยในโมเดลธุรกิจแบบ O2O (Online to Offline) ในจีนยังมีช่องว่าง ขณะเดียวกันคนจีนมีความชื่นชอบเมืองไทยและสินค้าไทย จึงเป็นที่มาของการริเริ่มทำร้านอาหารออนไลน์ ก่อนจะขยับสู่ออฟไลน์ในเวลาต่อมา และเริ่มมีการนำเข้าสินค้า แบรนด์ และอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ แฟรนไชส์ร้านขนมหวาน “ชีวิต ชีวา” หรือแม้กระทั่งแบรนด์สมุนไพร “อภัยภูเบศร” ทั้งได้มีการร่วมกับจังหวัดต่างๆในไทย อย่าง มุกดาหาร ผ่านการนำสินค้าและผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อไปจำหน่าย
ปัจจุบันมี 3 สาขา และมีแผนที่จะเปิดตัวอีก 6 สาขา รวมเป็น 9 สาขา ทั้งในประเทศจีน และสาขาต่างประเทศอย่าง Mitsui Lalaport กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้หากภาพรวมตลาดมีทิศทางเติบโต คาดว่าจะมีการขยายเข้าสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยเช่นกัน
สำหรับยอดขายผลไม้สูงเป็นอันดับ 1 เพราะด้วยมีพื้นที่รีเทล รองลงมาคือ ร้านอาหาร ในส่วนของรายได้คาดว่าปี 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท ส่วนปีที่ผ่านมายอดขายสูงถึง 45 ล้านบาท ทั้งนี้ยอดขายเติบโตค่อนข้างสูงเพราะสาขาที่เปิดเป็นขนาดใหญ่ อีกทั้งมีส่วนที่ทำเป็นออนไลน์เพิ่มขึ้น ทำให้มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเช่นกัน พร้อมกับตั้งเป้าปีถัดไปจะมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ขณะเดียวกันปัจจุบันบริษัทฯกำลังจะติดรอบซีรี่ส์ A จึงตั้งเป้าภายใน 3 ปี ต้องการขยายเป็น 30 สาขาทั่วโลก
เข้าสเปซเอฟ บ่มเพาะมืออาชีพ
จากประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาแบรนด์และการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่มุ่งเน้นการนำเข้าและส่งออกในตลาดโลก เขามองว่า การที่นำสินค้าไทยเข้าไปขายในต่างประเทศ จำเป็นที่จะต้องรีฟอร์มตัวเอง นอกจากธุรกิจรีเทลจะต้องเป็นนักพัฒนาสินค้าด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อมีพื้นที่และมีพาร์ทเนอร์ การพัฒนาสินค้าจะเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่จะช่วยสนับสนุนธุรกิจ
อีกทั้งการเข้าร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ผ่านโครงการสเปซเอฟ ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และเป็นการสร้างโปรไฟล์ให้กับบริษัท สร้างเครือข่ายด้านฟู้ด และนักลงทุนในรอบถัดไปค่อนข้างเยอะพอสมควร เนื่องจากบริษัทตั้งเป้าที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ที่จะทำให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น
ขณะเดียวกันเมื่อถามถึงความท้าทายในการทำธุรกิจนำเข้าแบรนด์สินค้าและอาหารไทย คือ การสร้างทีมและสเกลทีม เพราะด้านหนึ่งปัญหาหลักของสินค้าไทย คือ คนไทยชอบพัฒนาสินค้าก่อนเป็นอันดับแรก แต่มีความพร้อมในการส่งออกน้อย เช่น เอกสารสำหรับส่งออกไปจีน อาทิ MSDS ทั้งไม่มีการดีไซน์แพ็คเกจจิ้ง ไม่มีการลงทุนเรื่องการส่งออก ทำให้ไปสู่ตลาดโลกได้ยาก ดังนั้นเรื่องทีมในการบริหารจัดการจึงเป็นสิ่งสำคัญ