‘นาถ-ชัยยุทธ’ นำทัพ ’จีเอเบิล’ เขย่าโลก ‘ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม’
เทคโนโลยีมาแรงที่จะมีผลต่อทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม ได้แก่ คลาวด์ ซิเคียวริตี้ บิ๊กดาต้า และการทำงานแบบอัตโนมัติ
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ผลักดันให้องค์กรธุรกิจทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยต่างเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ...
นาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทจีเอเบิล กล่าวว่า ผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกโดย “การ์ทเนอร์” เพื่อจัดอันดับ Top Business Priorities ปี 2564 – 2565 พบว่า องค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นหัวใจสำคัญ
ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มีความแตกต่างกันในหลากหลายมิติได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงสามประเด็นหลักซึ่งประกอบด้วย 1.การสร้างรายได้และการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจรูปแบบใหม่ โดยมุ่งเน้นการสร้างตลาดใหม่และการตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล
ขณะที่ 2.การทำธุรกิจดิจิทัลด้วยการทำงานแบบ “digitalization” ซึ่งนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ในองค์กร ลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด และ 3. การทรานส์ฟอร์มองค์กร ด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง กลยุทธ์ รูปแบบการดำเนินธุรกิจ ไปจนถึงพัฒนาบุคลากร เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค
+++ชูจุดต่าง SI++
สำหรับจีเอเบิล มุ่งช่วยลูกค้าปฏิรูปองค์กรโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการขับเคลื่อนให้ธุรกิจประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยมีมุมมองว่าภาพรวมธุรกิจผู้ให้บริการติดตั้งระบบไอที(เอสไอ) ทั่วโลกรวมถึงในไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทว่ารูปแบบการแข่งขันจะต่างกันออกไป ซึ่งผู้ให้บริการต้องหาจุดต่าง มองไปถึงความต้องการเฉพาะทางของลูกค้า
"นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ บริการ และโซลูชั่น ต้องให้ความสำคัญกับการทำงานของทีมงานที่มีความเร็ว น่าเชื่อถือ ใส่ใจกับโจทย์ธุรกิจของลูกค้า ขณะนี้ยังได้มองไปถึงหลังการแพร่ระบาดซึ่งเชื่อว่าการเข้าถึงวัคซีนที่มากขึ้นจะทำให้สถานการณ์โดยรวมกลับมาดีขึ้น"
สำหรับ 5 เทคโนโลยีที่จะคาดว่าส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมใน 3 ปีข้างหน้าประกอบด้วย เอไอ ดิจิทัลไลเซชั่น ออมนิแชนแนล การลงทุนระบบไอที(General IT-Related) และคลาวด์คอมพิวติ้ง
ชัยยุทธ ชุณหะชา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจปี 2564 กลุ่มบริษัทจีเอเบิล มุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมก้าวผ่านข้อจำกัดต่างๆ ด้วยกลยุทธ์ที่สร้างจุดเด่น และความแตกต่างในการให้บริการ 3 ด้าน ประกอบด้วย
1.การพัฒนาตัวเองสู่ System Integration Plus Plus (SI++) นอกจากการสร้างรากฐานด้านเทคโนโลยี มุ่งช่วยลูกค้าต่อยอดทางธุรกิจด้วยดิจิทัล ตอบโจทย์เทคโนโลยีมาแรง 4 กลุ่มโซลูชั่น ที่จะมีผลต่อทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม ได้แก่ คลาวด์ ซิเคียวริตี้ บิ๊กดาต้า และการทำงานแบบอัตโนมัติ (Robotic Process Automation)
การ์ทเนอร์คาดการณ์ไว้ว่า ปีนี้ภาพรวมการลงทุนคลาวด์ในประเทศไทยจะขยายตัวกว่า 32%, บิ๊กดาต้า 19%, ซิเคียวริตี้ 10% และอาร์พีเอ 20% ตลาดที่เติบโตแบบก้าวกระโดดและยังไม่มีขีดจำกัดนี้จะเปิดโอกาสให้บริษัทก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำได้
สำหรับกลยุทธ์ 2.สร้างทางเลือกใหม่สำหรับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ในรูปแบบ “Transformation As a Service (TAAS)” ด้วยโซลูชั่นแบบครบวงจร (One Stop Service) 3.สร้างความแตกต่างและการเติบโตด้วย “Own IP Platform” พัฒนา IP Platform ที่เป็นลิขสิทธิ์ของจีเอเบิล เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และการเติบโตแบบก้าวกระโดด
+++หวังโตสองหลักทุกปี
ชัยยุทธ ประเมินว่า โอกาสทางการตลาดยังคงเปิดกว้าง จึงเชื่อมั่นว่าจีเอเบิลจะสามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดด โดยตั้งเป้ารายได้ปี 2564 ไว้ที่ 5,800 ล้านบาท ระหว่างปี 2564-2568 จะมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยปีละ 13% เฉพาะกลุ่มธุรกิจ TAAS และไอพีแพลตฟอร์มจะเติบโตได้ 31% ส่วนธุรกิจเอสไอเติบโตประมาณ 9%
“ปัจจัยการเติบโตมาจากศักยภาพของตัวบริษัทเอง ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ บริการโซลูชั่น และความเข้าใจความต้องการลูกค้า ขณะที่ปัจจัยภายนอกรับอานิสงส์การขยายตัวของตลาดไอทีทั่วโลกที่ยังอยู่ระหว่างขาขึ้น รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยอุดช่องว่างการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ”
จีเอเบิลเชื่อว่า มีจุดแข็งที่ทำให้มีความแตกต่างและได้เปรียบคู่แข่งในตลาดหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการโดยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ โดยมีนักพัฒนาระบบและซอฟแวร์ (developer in-house) มากกว่า 1,000 คน ประสบการณ์และความเข้าใจในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น ธุรกิจการเงิน ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจประกัน ภาคอุตสาหกรรมพลังงาน ตลอดจนสถาบันการศึกษา นอกจากนี้ ยังเป็นพันธมิตรกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก และมีศักยภาพในการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ด้านฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล