‘ชาร์จฯ’ รุกปั้นอีโคซิสเต็ม ส่ง‘แอพฯ-ควิกชาร์จ’ บุกตลาดเต็มสูบ
รถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี เข้ามามีบทบาทมากขึ้นทำให้มีแนวโน้มความต้องการใช้งานพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด และเป็นที่ทราบกันดีว่าการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สร้างความกังวลให้กับผู้ใช้อีวี ทั้งจำนวนสถานีชาร์จ อุปกรณ์ชาร์จ ตลอดจนความปลอดภัย
ทำให้ “พีระภัทร ศิริจันทโรภาส” ผู้ที่ชื่นชอบรถยนต์เป็นทุนเดิม ได้เห็นถึงการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ที่สหรัฐอเมริกากำลังมาแรง และดีมานด์ค่อนข้างสูง รวมทั้งโอกาสของธุรกิจพลังงานสำหรับรถยนต์ที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต พร้อมกับมีแนวคิดว่าพลังงานไฟฟ้าเป็นโอกาสทางธุรกิจอย่างหนึ่งที่อยากจะนำเสนอเข้ามาในประเทศไทย จึงเริ่มโปรเจกต์ในปี2561 ด้วยทุนส่วนตัวของตนเองและเพื่อนๆ กับการเป็นผู้ให้บริการด้านการชาร์จรถอีวีอย่างครบวงจร ทั้งในรูปแบบของการซื้อมาขายไปของจำหน่ายอุปกรณ์ชาร์จฯ รวมถึงการพัฒนาสถานีชาร์จ (EV Charging Station) ซอฟต์แวร์ และแอพพลิเคชั่นให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ภายใต้ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE)
พีระภัทร ในฐานะกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า หากมองย้อนกลับไปชาร์จได้มีการเริ่มทำธุรกิจซื้อมาขายไปทางด้านฮาร์ดแวร์ก่อนเป็นอันดับแรก และต่อมาได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นในปี 2562 ซึ่งปัจจุบันได้เปิดให้ใช้บริการแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เนื่องจากยังต้องมีการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆเพิ่มขึ้นร่วมกับพาร์ทเนอร์ ทั้งนี้ผู้ใช้งานส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าที่อยู่ในโครงการของพาร์ทเนอร์ อย่าง แสนสิริ เซ็นทรัล และผู้ใช้งานทั่วไปที่ใช้รถอีวี
"การขยายสู่การทำแอพฯ เนื่องจากมองว่าปัจจุบันบริษัทที่ซื้อขายเครื่องชาร์จฯอยู่แล้วไม่ได้มีจุดเด่นมากนัก ดังนั้นการที่จะแตกต่างและแข็งแกร่งกว่าผู้เล่นรายอื่น จำเป็นต้องทำให้เป็นอีโคซิสเต็มครบวงจร ดังนั้น "แอพพลิเคชั่น" จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยมีการดีไซน์ครบลูปทั้งระบบจองที่จอดรถ ระบบเก็บเงิน ส่วนฟีดแบ็กพบว่าจากการที่ยังไม่ถือเป็นที่ใช้งานอย่างกว้างขวางของตลาดมากนัก เนื่องจากจำนวนคนไทยที่ใช้รถอีวียังไม่มาก แต่ในระยะยาวถือว่าตอบโจทย์เรื่องการให้บริการที่จอดรถค่อนข้างดี ซึ่งสามารถเลือกได้ว่าชาร์จกี่โมง และสามารถตรวจสอบได้ว่าการบันทึกการใช้ไฟฟ้ากี่หน่วย ค่าใช้จ่ายเท่าไรต่อเดือน เป็นเบสิกฟีเจอร์ที่โหลดให้กับลูกค้า"
ในอนาคตชาร์จฯมีแผนที่จะพัฒนาเรื่องระบบการจ่ายเงินให้ครอบคลุมการใช้งานของผู้ใช้บริการมากขึ้น เช่น จากเดิมที่สามารถชำระเงินผ่านบัตรเครดิตและเดบิต ก็จะพัฒนาให้ครอบคลุมถึงการจ่ายด้วย E – wallet ทั้งเติมเงินผ่าน QR Payment หรือการใช้ Utility token โดยขณะนี้อยู่ระหว่างแผนการปล่อย utility token /coin ที่ใช้จ่ายผ่านแอปฯได้ ซึ่งกำลังศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ ก.ล.ต.ให้สามารถออกมาให้บริการได้เร็วๆนี้ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่ให้การยอมรับการใช้ token/coin ในวงกว้างมากขึ้น
ทั้งนี้ปัจจุบันชาร์จฯได้รับการสนับสนุนทั้งจากแสนสิริ ในการให้บริการชาร์จรถพลังงานไฟฟ้าในโครงการคอนโดมิเนียมของแสนสิริครอบคลุมทุกเซ็กเมนท์ รวมทั้งล่าสุดยังได้รับการสนับสนุน จากบมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในรูปแบบของผู้ถือหุ้นสนับสนุนการบริการของชาร์จให้ครอบคลุมลูกค้าในกลุ่มรถอีวีที่ต้องการชาร์จระหว่างการเดินทาง นำร่องแห่งแรกภายในสถานีบริการน้ำมันบางจากที่สุขุมวิท 62 ซึ่งจะเปิดให้บริการราวไตรมาส 3/64 โดยทั้งหมดนี้จะเป็นการร่วมทั้งด้านฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ที่อยู่ภายใต้นิติบุคคลของชาร์จฯ ซึ่งถือเป็น ทรัพย์สินทางปัญญาของทางบริษัท
พีระภัทร กล่าวต่อไปว่า EV Charging ในไทยมี 2,100 หัวชาร์จ ซึ่งการแข่งขันค่อนข้างสูง ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน อาทิ ปตท. การไฟฟ้าภูมิภาค ลงมาเล่นในสนามนี้จำนวนมาก เนื่องจากเห็นว่าภาพของตลาดอีวีชัดเจนขึ้นและทุกคนก็อยากจะกลายมาเป็นผู้ขายพลังงานในอนาคต จึงคาดว่าใน 4 ปี มูลค่าการตลาดจะเติบโตขึ้นแตะ 1.4 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่ม 170 เท่าตัวจากปัจจุบัน ดังนั้นจำเป็นต้องมีสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับที่เพียงพอต่อการใช้งาน เพื่อให้ผู้ใช้เข้าถึงการชาร์จได้อย่างทั่วถึง
“ชาร์จฯตั้งเป้าหมายแผนการดำเนินภายในระยะ 3 ปี (2564-2566) ไว้ว่า จะต้องมีสถานที่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ให้เยอะที่สุด และมีพาร์ทเนอร์ในเชิงอสังหาริมทรัพย์ บริษัทรถยนต์ หรือ พาร์ทเนอร์ที่มีสถานที่ไลฟ์สไตล์ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีเครื่องชาร์จเยอะมากนัก ดังนั้นในเฟสแรกรายได้หลักจะมาจากการขายฮาร์ดแวร์ หรือ โซลูชั่นที่ดีไซน์ขึ้นมา โดยปัจจุบันราคาอุปกรณ์ชาร์จในตลาดเริ่มต้นที่ 4 พันบาท ซึ่งคาดว่าในอนาคตมีแนวโน้มลดลง จึงคาดว่าภายใน 3 ปีจะมียอดจำหน่ายเครื่องชาร์จโตอย่างก้าวกระโดด”
ชูโรดแมพตีตื้นสู่เบอร์ 1
ส่วนเป้าหมายการดำเนินงานภายในระยะ 5 ปี (2564-2568) พีระภัทร ชี้ว่า บริษัทฯจะสามารถสร้างยอดขายได้ 3,000 ล้านบาท จากการขายเครื่องชาร์จ 16,000 เครื่อง โดยเป้าหมายรายได้ดังกล่าวจะมาจากการขายอุปกรณ์ให้กับโครงการที่พักอาศัย 30% และ 70% มาจากยอดขายไฟฟ้า จากหัวชาร์จที่กระจายอยู่ 250 แห่ง ให้บริการหัวชาร์จในแหล่งไลฟ์สไตล์ชั้นนำ ซึ่งจะส่งผลให้ บริษัทฯขึ้นเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรม ครองส่วนแบ่งการตลาดผู้ให้บริการด้านธุรกิจการชาร์จรถอีวี ในทุกรูปแบบมากกว่า 30% ซึ่งปัจจุบันได้จับมือกับศูนย์การค้าและค่ายรถยนต์ชั้นนำกว่า 7 ราย (ศูนย์การค้า 5 แห่ง ค่ายรถยนต์ 2 แห่ง) อาทิ เซ็นทรัลเอ็มบาสซี โชว์รูมรถยนต์ปอร์เช่
ขณะเดียวกันพื้นที่ครอบคลุมของชาร์จจะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ด้วยเหตุผลจะมาจากการจัดลำดับความสำคัญของการขยายเครือข่าย แบ่งเป็น 3 ส่วนที่เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายตามพฤติกรรมของผู้บริโภค ประกอบด้วย
1.NIGHT กลุ่มผู้ใช้บริการชาร์จที่เน้นการชาร์จที่บ้าน ซึ่งกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนสูงสุดหรือคิดเป็น 80% ของผู้ใช้รถอีวีทั้งหมด
2.DAY กลุ่มผู้ใช้บริการชาร์จระหว่างวัน ที่เน้นการชาร์จที่จุดหมายปลายทาง เช่น ศูนย์การค้า แหล่งไลฟ์สไตล์ อาคารสำนักงาน โดยกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 15%
3.ON THE GO กลุ่มผู้ใช้บริการชาร์จที่เน้นการชาร์จตามสถานีชาร์จระหว่างเดินทางระหว่างจังหวัด หรือสถานที่อื่นๆ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนน้อยที่สุดคือ 5%
สำหรับกลยุทธ์การเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่มนั้นได้จับมือกับพันธมิตรที่หลากหลายกลุ่มธุรกิจ เพื่อให้เข้าถึงพฤติกรรมกลุ่มลูกค้าให้มากที่สุด รวมถึงจัดหาโซลูชั่นการชาร์จอีวีให้กับพันธมิตร เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในทุกกลุ่มแบบเฉพาะเจาะจง
ทั้งนี้โดยจุดเด่นปัจจุบันของชาร์จฯ 1.ฮาร์ดแวร์ เป็นโปรดักท์ของแบรนด์ ABB ที่มีความแข็งแกร่งในด้านการวิจัยและพัฒนา และเป็นพาร์ทเนอร์กับกับบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่จึงสามารถทำให้เครื่องชาร์จสื่อสารกับรถทุกยี่ห้อได้โดยไม่ติดขัด 2.ซอฟต์แวร์ ที่สามารถตรวจสอบสถานีชาร์จระหว่างการเดินทาง และแท็กข้อมูลการใช้งานไฟฟ้าได้ รวมทั้ง ารเป็นองค์กรของคนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับ “Focus-Discipline-Speed” จนกลายเป็นจุดแข็งที่เหนือคู่แข่ง
"โครงสร้างพื้นฐานที่ทำทั้งหมดจะเน้นที่บริษัทอสังหาริมทัพย์ประมาณ 90% ส่วนในปีนี้เป็นปีแรกที่บริษัทเริ่มโฟกัสเรื่องของพาร์ทเนอร์ที่เป็นบริษัทรถยนต์ ขณะเดียวกันได้มีการจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่เป็นบริษัทพลังงาน อย่าง สถานีบริการน้ำมันเพิ่มขึ้น และขยายพื้นที่สู่หัวเมืองสำคัญ อาทิ พัทยา เขาใหญ่ หัวหิน เชียงใหม่ ภูเก็ต ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อตอบโจทย์ทั้งผู้ใช้และสถานที่อย่างครอบคลุม"
‘นโยบาย’ต้องชัด ‘รัฐ’ ต้องช่วยดัน
ส่วน 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจด้านการชาร์จอีวีเติบโตคือ 1.นโยบายการลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ 2.ค่ายรถยนต์หันมาผลิตอีวีในราคาประหยัดที่จับต้องง่ายขึ้น และองค์ความรู้ของผู้บริโภคที่เข้าใจถึงการใช้งานมากยิ่งขึ้น 3.นวัตกรรมการชาร์จที่เร็วขึ้นเป็นหัวชาร์จแบบชาร์จเร็ว (Quick Charge)
ด้านความท้าทาย พีระภัทร มองว่า ประเทศไทยยังไม่ชัดเจนเรื่องอัตราค่าไฟฟ้า ซึ่งรัฐจะต้องกำหนดค่าไฟฟ้าขายส่งที่จูงใจและมีอัตราตราต่ำกว่าในปัจจุบัน เพราะภาคเอกชนไม่กล้าลงทุนด้วยกังวลว่าจะต้องปรับเปลี่ยนภายหลังทำให้กำหนดต้นทุนได้ยาก อีกทั้งเรื่องกฎหมายที่ยังเป็นเรื่องใหม่ รวมทั้งการสร้างระบบนิเวศให้เพียงพอเพื่อให้ผู้ใช้รถเกิดความเชื่อมั่น ทำให้การสร้างประสบการณ์และการรับรู้ของผู้ใช้รถอีวี รวมถึงเป้าหมายในการเป็นเบอร์หนึ่งของธุรกิจ EV Charging ที่ครบวงจร ซึ่งเบื้องต้นได้มีการวางกลยุทธ์ที่ชัดเจน และมีคณะที่ปรึกษาซึ่งประกอบไปด้วยผู้นำธุรกิจในหลากหลายเซกเตอร์ ตลอดจน Strategic Partner ที่มีประสบการณทำให้มั่นใจว่าสามารถไปสู่เป้าหมายได้อย่างแน่นอน