วงการดิจิทัล จับตา 'สมรภูมิซูเปอร์แอพ' ในไทยระอุ หลัง Gojek ถูกเทคโอเวอร์
วงการดิจิทัลจับตาสมรภูมิซูเปอร์แอพในไทย เมื่อ“โกเจ็ก”สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น ถูกทุนใหญ่ แอร์เอเชีย เทคโอเวอร์ ผนึกกำลังหนุนความได้เปรียบ ชี้ตลาดจากนี้จะแข่งขันกันเดือดขึ้น ย้อนรอย “โกเจ็ก” สร้างสีสันร่วมปลุกกระแสดิลิเวอรี่ในไทย
ย้อนรอย ‘Gojek’ ในสมรภูมิดุุ
การเปลี่ยนแปลงของโกเจ็ก เริ่มส่งสัญญาณให้เห็นมาตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค.2564 ที่ได้มีการปรับทัพผู้บริหารใหม่ แต่งตั้งนายชรี ชากราวาร์ธี หัวหน้าธุรกิจฟู้ดต่างประเทศ เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ Gojek ประเทศไทย แทนนาย นายภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ซึ่งอำลาตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 31 ม.ค. 2564
นายภิญญา นับเป็นพนักงานยุคบุกเบิกที่สร้างผลงานความสำเร็จให้กับองค์กรจำนวนมากตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา ในฐานะผู้ก่อตั้งธุรกิจในประเทศไทย เขาและทีมงานได้ร่วมกันสร้าง GET ขึ้นมาจนกลายเป็นแพลตฟอร์มส่งอาหารที่เติบโตเร็วที่สุดในกรุงเทพฯ และได้วางรากฐานอีโคซิสเต็มที่แข็งแรง
ที่ผ่านมานับว่าโกเจ็กเป็นผู้เล่นที่มีศักยภาพสูงในการแข่งขัน ด้วยสายป่านทางเทคโนโลยีที่แข็งแรงของสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นสัญชาติอินโดนีเซีย ขณะที่การทำตลาดในไทยมีแผนการขยายตลาด พาร์ทเนอร์ การตลาด รวมถึงโปรโมชั่นที่ดึงดูดผู้ใช้ออกมาต่อเนื่อง ทว่าถูกท้าทายด้วยสมรภูมิการแข่งขันที่ดุเดือดจากผู้เล่นรายใหญ่และภายในประเทศ
ส่วนความเคลื่อนไหวล่าสุดต่อลูกค้า ทางโกเจ็กได้ส่งอีเมลชี้แจงว่า ถึงเวลาเริ่มต้นบทใหม่ในการเดินทางร่วมกันและส่งต่อการดำเนินงานในประเทศไทยให้กับแอร์เอเชีย ดิจิทัล บริการภายใต้แบรนด์ Gojek (GoRide, GoFood, GoSend) รวมถึง GoPay ในประเทศไทย จะยังคงให้บริการจนถึงวันที่ 31 ก.ค. จากนั้นทางแอร์เอเชียจะเข้ามาดำเนินการสานต่อการให้บริการ Super App ใหม่ทั้งหมดในประเทศเร็วๆนี้
สำหรับระหว่างนี้ขอให้ลูกค้าถอนเงินที่อยู่ในบัญชี GoPay ออกไปภายในวันที่ 31 ก.ค. การเติมเงินต่างๆ จะถูกปิดการใช้งานตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. แต่ทั้งนี้ยังคงสามารถใช้ยอดเงินคงเหลือเพื่อชำระค่าบริการ Gojek ได้จนถึงวันที่ 31 ก.ค.
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้บริการ GoRide, GoSend, GoFood) ผ่านแอพ Gojek ได้จนถึงวันที่ 31 ก.ค. ขณะที่ บัตรกำนัลและส่วนลดที่มีอยู่จะใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ก.ค.เช่นกัน
เก็ท(GET) เปิดตัวเมื่อปี 2562 และต่อมาในปี 2563 ได้มีการเปลี่ยนแบรนด์เป็น Gojek โดยแตกบริการไปหลากหลาย ได้แก่ บริการส่งอาหาร (GoFood) บริการเรียกรถจักรยานยนต์สาธารณะ (GoRide) บริการรับ-ส่งพัสดุ (GoSend) และบริการอีวอลเลต (GoPay) เป็นตัวกลางเชื่อมผู้ใช้บริการจำนวนมากเข้ากับพาร์ทเนอร์คนขับในระบบกว่า 50,000 คน และร้านอาหารกว่า 40,000 ร้าน ซึ่งกว่า 80% เป็นร้านค้าขนาดย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง
จากข้อมูลของ Creden data ระบุว่า ปัจจุบัน โกเจ็ก จดทะเบียนธุรกิจในไทยภายใต้ชื่อ บริษัท เวล็อคซ์ ดิจิตอล จำกัด (VELOX DIGITAL COMPANY LIMITED) โดยมี กมล วัชรมณี ถือหุ้น 91.88% เวล็อคซ์ เซ้าท์-อีส เอเชีย โฮลดิ้งส์ พีทีอี.แอลทีดี ของสิงคโปร์ 8.11 % โกเจค-สิงคโปร์ พีทีอี แอลทีดี 0.01%
ขณะที่ รายได้ปี 2563 ของ โกเจ็กในไทยอยู่ราว 187 ล้านบาท ขาดทุน 294 ล้านบาท ขณะที่ เมื่อปี 2562 โกเจ็กขาดทุนมากถึงกว่าพันล้านบาท
สู่เป้าซูเปอร์แอพมูลค่าสูง
นายเควิน อลูวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Gojek (โกเจ็ก) กล่าวว่า ดีลกับแอร์เอเชียครั้งนี้ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จของทีมในประเทศไทย ที่ขยายธุรกิจจากศูนย์สู่การเป็นผู้ให้บริการแบบออนดีมานด์ที่สร้างความแตกต่างให้กับผู้คนนับแสนหรือคนในประเทศ
ธุรกิจนี้สร้างขึ้นจากความสามารถและความมุ่งมั่นอย่างมหาศาล และแน่นอนว่าจะต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับพนักงานคนไทย และกลุ่มแอร์เอเชียตลอดการเปลี่ยนแปลงนี้
“แอร์เอเชีย ดิจิทัล และ airasia super app จะกลายเป็นพันธมิตรที่มีมูลค่าสูงสำหรับเรา เนื่องจากเรามีเป้าหมายเดียวกันในการนำเสนอบริการที่ดีขึ้นแก่ผู้ใช้ ในขณะเดียวกันก็ช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ขับขี่และร้านค้า ในขณะเดียวกัน ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยให้เราสามารถมุ่งเน้นไปที่ตลาดต่างประเทศไปยังเวียดนามและสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีที่สุดและโอกาสการเติบโตเชิงกลยุทธ์แก่เรา”