วช. หนุน ม.แม่ฟ้าหลวง พัฒนา ข้าวฟองสุรดา ฟองน้ำห้ามเลือดในห้องผ่าตัด

วช. หนุน ม.แม่ฟ้าหลวง พัฒนา ข้าวฟองสุรดา ฟองน้ำห้ามเลือดในห้องผ่าตัด

ม.แม่ฟ้าหลวง เดินหน้าเต็มกำลัง หลัง วช. ดันพัฒนา นวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ "ข้าวฟองสุรดา" ฟองน้ำข้าวเจ้าสำหรับห้ามเลือดในห้องผ่าตัด ย่อยสลายได้หมดสิ้นภายในร่างกายเพียง 3 สัปดาห์

ผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิดติดอันดับหนึ่งของโลก เช่น ข้าวเจ้า มันสำปะหลัง และ ยางพารา แต่เกษตรกรไทยกลับยากจน เพราะสินค้าเกษตรเป็นสารอินทรีย์ทำให้เกิดการบูดเน่า เสียหายเร็ว จึงถูกกดราคา การแปรรูปวัตถุดิบจากต้นน้ำ ให้สามารถเก็บและถนอมคุณสมบัติพื้นฐานได้อย่างยาวนาน อาทิกันบูด หรือการปรับปรุงวัตถุดิบกลางน้ำให้มีคุณภาพที่สูงขึ้นในระดับอุตสาหกรรมอาหารและเภสัชกรรม และการดัดแปลงเป็นสินค้าปลายน้ำให้มีราคาสูงขึ้น เช่น เครื่องมือแพทย์ ที่พัฒนาจากข้าวเจ้า

162574859996
นายแพทย์สิทธิพร บุณยนิตย์ หัวหน้าโครงการวิจัย อาจารย์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยนวัตกรรมชีววัสดุและเครื่องมือแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ได้ทำการวิจัยพัฒนาการประดิษฐ์นวัตกรรมเครื่องมือแพทย์จากวัตถุดิบเกษตรไทย โดยเลือกข้าวเจ้า และกระดูกสัตว์ มาประดิษฐ์คิดค้นสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือแพทย์ ที่ได้มาตรฐานตามกำหนดขององค์กรผลิตเครื่องมือแพทย์นานาชาติ

นายแพทย์สิทธิพรฯ กล่าวว่า ที่เลือกข้าวเจ้าและกระดูกสัตว์เป็นวัตถุดิบตั้งต้น เพราะข้าวเจ้า มีองค์ประกอบหลัก 80 % เป็นแป้งคาร์โบไฮเดรต ที่ย่อยสลายได้หมดสิ้นภายในร่างกายมนุษย์ การนำข้าวเจ้ามาแปรรูปเป็นวัสดุชนิดฟองน้ำให้ศัลยแพทย์ใช้ห้ามเลือดในห้องผ่าตัดแบบไร้เชื้อ ด้วยหลักการดูดซับของเหลวเข้าสู่ข้างในเนื้อชิ้นงาน เกิดมีน้ำหนักสูงขึ้นกว่าน้ำหนักแห้ง 30 เท่า ใช้กดทับหยุดเลือดที่กำลังรินไหลจากบริเวณความดันต่ำ เช่นหลอดเลือดดำ หรือหลอดเลือดฝอย เมื่อปล่อยทิ้งชิ้นงานไว้กับที่ เนื้อเยื่อร่างกายก็สามารถย่อยสลายสมบูรณ์ได้ใน3สัปดาห์ และก่อปฏิกิริยาอักเสบตามธรรมชาติที่น้อยกว่า เนื่องจากสินค้าต่างประเทศเป็นโปรตีน ส่วนกระดูกสัตว์ 70% เป็นแร่ธาตุแคลเซียมฟอสเฟตไฮดรอกไซด์ ซึ่งมีโครงสร้างโมเลกุล เช่นเดียวกับกระดูกมนุษย์ กระดูกวัวแปรรูปเป็นกระดูกเทียม ใช้รักษาซ่อมแซมเติมเต็มช่องว่างในกระดูกผู้ป่วยที่บาดเจ็บเสียหาย

162574863576

จนไม่อาจซ่อมแซมได้ด้วยตนเอง เช่นกระดุมปิดตรึงกะโหลกศีรษะ แท่งผงเม็ดสำหรับเติมเต็มโพรงที่แหว่งโหว่ กระดูกเทียมจะเป็นโครงสะพานนำร่องให้กระดูกใหม่ที่มีชีวิตมาเชื่อมต่อกันโดยสนิท การผลิตชีววัสดุจากข้าวเจ้าและกระดูกสัตว์ ซึ่งสามารถดำเนินการประดิษฐ์คิดค้นได้ภายในประเทศไทย ด้วยฐานความรู้ความเป็นไทย โดยนักวิทยาศาสตร์ไทย สร้างสรรค์เป็นเครื่องมือแพทย์ตามเกณฑ์การแพทย์ที่ได้มาตรฐานตามกำหนดขององค์กรผลิตเครื่องมือแพทย์นานาชาติ รับประกันจากกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขไทย ว่ามีความน่าเชื่อถือ ถูกต้อง ปลอดภัย ต่อผู้ป่วยและมีประสิทธิภาพเชิงการใช้งานจริง อีกทั้งมีคุณภาพที่ดีขึ้น และราคาถูกลง เมื่อเทียบกับสินค้าชนิดเดียวกันจากต่างประเทศ

ซึ่งวัสดุห้ามเลือดชนิดฟองน้ำ ประเทศไทยมีสถิติการใช้งาน ประมาณ 200,000 ชิ้นต่อปี ทั้งหมดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ชิ้นละประมาณ 400 บาท มีมูลค่ารวม 80 ล้านบาทต่อปี ส่วนฟองน้ำข้าวเจ้าห้ามเลือดของไทย มีราคาชิ้นละ 200 บาท สามารถลดการขาดดุล 40 ล้านบาทต่อปี ส่วนกระดุมยึดตรึงกะโหลก สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ผลิตจากโลหะไทเทเนียม ราคา 3,000 บาท ต่อคู่ (2 ชิ้น) ทั้งประเทศใช้งานประมาณ 20,000 คู่ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 60 ล้านบาท

ส่วนกระดุมกระดูกวัว ของไทยราคาคู่ละ 150 บาท ถูกกว่า 20 เท่า และความพิเศษจากกระดุมกระดูกวัว ที่ทำมาจากกระดูกเทียม เมื่อใช้งานเชื่อมตรึงกะโหลกศีรษะผู้ป่วยจนสำเร็จ ร่างกายก็จะสร้างกระดูกใหม่ที่มีชีวิตมาเชื่อมติดจนเป็นเนื้อเดียวกัน ในขณะที่สินค้าจากต่างประเทศทำมาจากโลหะ ก็จะเป็นวัสดุแปลกปลอมที่อยู่กับที่ตลอดกาล และมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น อนุภาคโลหะสึกกร่อน ออกมาทำให้เนื้อเยื่อรอบข้างของผู้ป่วยอักเสบจนเจ็บปวดรุนแรง หรือหลุดออกไปตกค้างในอวัยวะภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น ม้าม หรือตับ แล้วกระตุ้นปฏิกิริยาก่อมะเร็งได้

 

162574866659

การประดิษฐ์นวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ จากวัตถุดิบเกษตรไทยนี้ จึงนับเป็นเทคโนโลยีของคนไทย ที่เกิดเป็นครั้งแรกในโลกและในประเทศไทย ที่ใช้วัตถุดิบและเทคโนโลยีของไทย ที่มีราคาถูกกว่าของต่างประเทศมาก ในรูปแบบเศรษฐกิจเชิงสารอินทรีย์ ขยะเป็นสูญ และปลอดมลภาวะ หากมีการยอมรับจากผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้นก็จะสามารถลดงบประมาณการนำเข้าและเพิ่มการส่งออกได้ปีละหลายร้อยล้านบาท ส่วนอนาคตจะมีการค้นคว้าเพื่อแปรรูปวัตถุดิบเกษตรไทยทุกชนิด

ไม่ว่าจะเป็น ข้าวเจ้า มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย น้ำมันปาล์ม เปลือกหอย เห็ดรา ผลไม้ หรือสมุนไพร ให้มีมูลค่าเพิ่ม เปลี่ยนแปลงเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูงขายได้ราคา อย่างเครื่องมือแพทย์ ส่วนการขยายผลสู่ตลาดเชิงพาณิชย์นั้น นายแพทย์สิทธิพร กล่าวว่า ขณะนี้กำลังหาความร่วมมือกับพันธมิตรภาคเอกชน ที่มีกำลังการผลิตระดับอุตสาหกรรม และมีเครือข่ายตลาดเชิงพาณิชย์ที่ครอบคลุม ทั้งในประเทศ ในระดับ ASEAN ASIA และทั่วโลก ระดมทุนยกระดับขีดความสามารถด้านการผลิต จนมีการได้รับมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ระดับสากล ให้เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ เช่น GMP GDPMD ISO CE FDA เป็นต้น


ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติ คือข้าวเจ้า และกระดูกสัตว์ให้กลายเป็นชีววัสดุ สำหรับใช้งานทางการแพทย์นี้ ถือเป็นงานประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือแพทย์ฝีมือคนไทยที่ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร เปลี่ยนแปลงเป็นสินค้าที่มีคุณภาพชั้นสูงขายได้ราคาแพง ลดปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ลดงบประมาณการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ ได้อย่างดีอีกด้วย