เปิด '10 ข่าวปลอม' ที่ถูกแชร์ซ้ำ บ่อยสุด ปี 64 พุ่งเป้า 'เศรษฐกิจ'
“ทศพล เพ็งส้ม” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงดิจิทัลฯ เปิดสถิติ 10 อันดับข่าวปลอมและข่าวบิดเบือน ที่มีการแชร์วนซ้ำบ่อยสุดปี 64 พุ่งเป้าเศรษฐกิจ ใช้ปัญหาปากท้องลวงให้ประชาชนหลงเชื่อ
นายทศพล เพ็งส้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ (9 ก.ค. 64) ได้รับมอบหมายจากนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธานเปิดงานกิจกรรม "สร้างการรับรู้ เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม" จังหวัดขอนแก่น จัดโดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลฯ โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากคณะผู้บริหารส่วนราชการต่างๆ เครือข่ายภาคประชาชนและภาคเอกชน ตัวแทนจากบุคลากรทางการแพทย์และการศึกษา ตลอดจนสื่อมวลชน
ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดการข้อมูลที่เป็นเท็จทางสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะข่าวปลอมที่สร้างผลกระทบกับสาธารณชนในวงกว้าง และตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ได้มีมติให้ให้ทุกกระทรวงเตรียมดำเนินการเรื่องศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม อาจทำในรูปแบบของกระบวนการทำงานที่สนับสนุนการดำเนินการต่อต้านข่าวปลอม และให้โฆษกกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้องเร่งชี้แจงให้ข้อเท็จจริงกับสังคมและประสานงานกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และจังหวัดทุกจังหวัดอาจต้องเตรียมพร้อมในการจัดให้มีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจังหวัด เพื่อตรวจสอบข่าวปลอม บิดเบือนที่เกี่ยวข้องและจะต้องมีการชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ
นายทศพล กล่าวว่า สำหรับช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาพบว่าข่าวปลอม และข่าวบิดเบือนที่มีการแชร์วนซ้ำบ่อยที่สุดในรวม 10 ลำดับในรอบปี 2564 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้เผยแพร่เรียบร้อยแล้วในช่องทางเพจเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ ทวิตเตอร์ และ Line Official จะพบว่า ส่วนมากเป็นข่าวเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง การเงิน รายได้การกู้หนี้ อาจจะเป็นตัวบ่งช้สำคัญในเรื่องเศรษฐกิจของประเทศไทย ตัวอย่างข่าวปลอม 1. เรื่อง คลินิกแก้หนี้ ดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาท ดำเนินการผ่านธนาคารออมสิน กรุงไทย และ ธ.ก.ส 2. เรื่อง ธ. ออมสิน เพิ่มช่องทางซื้อสลากออมสิน ที่เพจขายหวยออนไลน์ 3. เรื่อง ธนาคารออมสินให้กู้ฉุกเฉิน 10,000 บาท ผ่านมือถือและผ่อน 400 บาทต่อเดือน 4. เรื่อง พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่วัดสังฆทาน จำนวน 300 ราย
5. เรื่อง ธนาคารออมสินเปิดลงทะเบียนปล่อยสินเชื่อเสริมพลังฐานรากรอบใหม่ ไม่ต้องมีคนค้ำ 6. เรื่อง ธนาคารออมสิน เตรียมเปิดให้กู้สินเชื่อเสริมพลังฐานราก รอบ 2 วงเงินทั้งหมด 1 หมื่นล้านบาท และเป็นลักษณะข่าวบิดเบือน 7. เรื่อง ธ.ออมสินปล่อยสินเชื่อเงินด่วน 50,000-100,000 ผ่อนชำระ 9 ปี ไม่ต้องมีคนค้ำ 8. เรื่อง ธ. ออมสิน เปิดให้ลงทะเบียน เข้าร่วมสินเชื่อธนาคารประชาชน 9. เรื่อง ภาพที่กล่าวถึงแอปฯ หมอชนะขอเข้าถึงประวัติการใช้งาน ไมค์ และข้อมูลต่อไวไฟ และ 10. เรื่อง เปิดให้ขอสินเชื่อเสริมพลังฐานราก ผ่านแอปฯ MyMo
“ทุกวันนี้จะเห็นว่าข่าวปลอมที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน ความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้ง 3 ระลอกนั้น รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมก็ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดการข่าวปลอม เพื่อลดความตื่นตระหนกของประชาชน และประชาชนจะต้องได้รับรู้ถึงข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม ในการแชร์ต่อข่าวปลอมทางโซเชียล อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ได้ และการดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำความผิดเป็นอีกหนึ่งมิติที่กระทรวงฯ บูรณาการทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” นายทศพลกล่าว
นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงฯ ได้ดำเนินการจัดการข่าวปลอมในภาพรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 25 ม.ค.63 -30 มิ.ย. 64 มีจำนวนข้อความที่ถูกคัดกรองทั้งหมดกว่า 83 ล้านข้อความ พบว่าเข้าหลักเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบ 7,307 ข้อความ เป็นข่าวประสานให้หน่วยงานต่างๆ ตรวจสอบจำนวน 3,583 เรื่อง
โดยมีผลการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าข่าวปลอม/ข่าวบิดเบือนในหมวดสุขภาพ ยังครองอันดับ 1 จำนวน 2,373 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 66 ตามมาด้วย หมวดนโยบายรัฐ 1,086 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 30 และหมวดเศรษฐกิจ 124 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 4 ตามลำดับ
ทั้งนี้ ปัจจุบันศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้มีการจัดทำคู่มือการแจ้งข่าวปลอมสำหรับประชาชน และมีเนื้อหารู้เท่าทันข่าวปลอมเพื่อแจกจ่ายเผยแพร่ให้กับประชาชน และทุกภาคส่วนที่สนใจ เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดการรู้เท่าทันข่าวลวงบนโลกออนไลน์ โดยแนะนำมีวิธีตรวจสอบข่าวปลอม ได้แก่ ให้อ่านข่าวทั้งหมดโดยยังไม่เชื่อพาดหัวข่าวเพียงอย่างเดียว ควรตรวจสอบ URL ของเว็บไซต์ที่นำมาเผยแพร่และตรวจสอบแหล่งที่มา ตัวตนของผู้เขียน ดูความผิดปกติของตัวสะกด ภาษาที่ใช้ หรือการเรียบเรียง พิจารณาภาพประกอบข่าว วันที่เผยแพร่ข่าว แหล่งของข้อมูลที่ผู้เขียนนำมาใช้ หรือหาข้อมูลเปรียบเทียบกับเว็บไซต์อื่น เป็นต้น