'มอร์ลูป’ โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน แปลงร่าง ‘ผ้า’ ค้างโกดังเป็นวัตถุดิบมูลค่าสูง
ใครว่า “ผ้าเหลือทิ้ง” ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ “มอร์ลูป” (moreloop) ธุรกิจเพื่อสังคมที่มีเป้าหมาย “Make Circular Economy a Reality” ด้วยการชุบชีวิตของเหลือจากระบบอุตสาหกรรมสิ่งทอให้มีมูลค่า
ผ่านการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ตัวกลางรับผ้าคงค้างในสต็อกที่เหลือจากการผลิตในโรงงานผลิตเสื้อผ้าและโรงงานทอผ้ามาจำหน่าย ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและกลายเป็นโมเดลธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน
รับไม้ต่อสานเส้นทางธุรกิจ
จุดเริ่มต้นไอเดียมาจากการผสมผสานการแก้ปัญหาทางธุรกิจและต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงของสองซีอีโอรุ่นใหม่ เริ่มจาก “ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์” บัณฑิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่นำความรู้มาต่อยอดให้กับโรงงานผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว
เพราะคลุกคลีอยู่ในแวดวงนี้มาตั้งแต่เยาว์ บวกกับมีแนวคิดของวิศวกรที่อยากจะแก้ไขปัญหาท่ามกลางการเผชิญหน้ากับสถานการณ์อาทิตย์อัสดง (Sunset Industry) ของอุตสาหกรรมสิ่งทอ จึงเป็นตัวกระตุ้นให้เธอมองหาหนทางแก้ปัญหาธุรกิจด้วยการจัดการสต็อกผ้า ที่เหลือจากการผลิตในโรงงาน
เธอเล่าว่าเมื่อได้เข้ามาช่วยงานในโรงงานก็พบว่ามีวัตถุดิบที่ไม่ได้ใช้ หรือ เหลือจากกระบวนการผลิต เนื่องจากเวลาสั่งผ้าเพื่อทำการผลิตจะต้องสั่งเผื่อสูญเสีย 3-5% ซึ่งเรียกว่าผ้าคงค้างในสต็อกจึงรู้สึกเสียดายและจึงคิดหาวิธีจัดการกับวัตถุดิบเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น การจำหน่ายแบบเหมาซื้อ หรือแม้กระทั่งการออกแบรนด์ใหม่ แต่ทุกครั้งเมื่อย้อนกลับไปมองโกดัง พบว่าผ้าไม่ได้ถูกใช้เยอะแบบที่คาดหวัง จึงพยายามหาไอเดียอื่นๆ
กระทั่งเจอเฟซบุ๊คของ “อมรพล หุวะนันทน์” อดีตนักวิเคราะห์ด้านการเงินและความเสี่ยง จบการศึกษาสาขาการเงิน มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ปริญญาโท M.Sc. Banking and International Finance Cass Business School ประเทศอังกฤษ มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับมาร์เก็ตเพลสและการทำสตาร์ทอัพ เนื่องจากเขาต้องการที่จะปฏิวัติอุตสาหกรรมและสร้างสิ่งใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเฉพาะในเรื่อง “ของเหลือ” และ “การจัดการขยะ” กระทั่งได้พูดคุยก็พบว่ามีอุดมการณ์ที่เข้ากับปัญหาของเธอได้อย่างลงตัว
ปลุกชีวิตผ้าค้างสต็อก
ด้าน อมรพล เล่าว่า สิ่งสำคัญสำหรับการแก้ปัญหาขยะคือ “ต้องไม่มองขยะเป็นขยะ แต่ต้องมองขยะเป็นวัตถุดิบ” ส่วนตัวเคยวิเคราะห์บริษัทพบว่าในอุตสาหกรรมมีวัตถุดิบเหลือในโรงงานที่เป็นปัญหามากกว่า 50 ล้านตันต่อปี ถือเป็นโอกาสที่ใหญ่มากที่จะสร้างตลาดเพื่อนำของเหลือที่ซ่อนอยู่ในโรงงานออกมาจำหน่ายให้ทุกคนได้ใช้วัสดุตรงนี้
ทั้งนี้ ธมลวรรณ กล่าวว่า การทำงานของมอร์ลูปเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่รวบรวมข้อมูลของผ้าส่วนเกินของแต่ละโรงงานมารวมกัน โดยเป็นแหล่งรวมวัตถุดิบ แบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือผู้ซื้อ และผู้ขาย โดยด้านผู้ขายจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอที่มีผ้าค้างสต็อก ซึ่งปัจจุบันมี 70 แห่ง มีผ้าอยู่บนแพลตฟอร์มรวมกัน 1 ล้านหลาแบ่งเป็นกว่า 4,000 ชนิด
ส่วนด้านผู้ซื้อจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1.ซื้อเป็นวัตถุดิบ โดยส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์ที่อยากจะเริ่มต้นทำสินค้า หรือบุคคลธรรมดาที่อยากจะนำผ้าไปใช้ 2.ผลิตสินค้าสำเร็จรูป ให้กับองค์กร อาทิ ยูนิฟอร์ม หน้ากากอนามัย กระเป๋า 3.สินค้าของมอร์ลูปเอง ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้ระบายผ้าที่ไม่ตั้งใจให้เหลือในราคาที่สมเหตุสมผล
ความท้าทายจากการดำเนินธุรกิจพวกเขามองว่า 1.จะทำยังไงให้คนอื่นเข้าใจในสิ่งที่กำลังทำ และเข้าใจว่าการใช้ผ้าเหลือมีข้อจำกัดซึ่งไม่ได้ทุกอย่างที่ต้องการ อย่างเช่น สี จำนวน 2.การสื่อสารที่จะสามารถขยาย หรือจะทำให้โมเดลยั่งยืนในระยะยาวได้อย่างไร เพราะโมเดลธุรกิจของมอร์ลูปไม่ได้มีต้นแบบที่สำเร็จให้ดูเป็นตัวอย่าง
สำหรับแผนธุรกิจในระยะ 2-3 ปีนับจากนี้ ในส่วนของการสร้างรายได้จะเร่งการทำการตลาดและระบบหลังบ้านมากขึ้นเพื่อให้เป็นที่รู้จัก พร้อมกับขยายฐานการทำงานให้มีประสิทธิภาพทั้งตลาดในไทยและต่างประเทศ ขณะที่การเติบโตในส่วนของการสร้างผลกระทบ ตั้งเป้าภายในปี 2567 จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ 1 ล้านกิโลคาร์บอน ปัจจุบันทำได้แล้ว 4 แสนกิโลคาร์บอน
แนวทางรับมือโควิด
สำรับผลกระทบจากวิกฤติโควิด ในระลอกแรกนั้นกลุ่มลูกค้าที่ซื้อเป็นวัตถุดิบหรือ B2C เติบโตเป็นเท่าตัว เนื่องจากแพลตฟอร์มออนไลน์ทำให้คนเข้าถึงแบรนด์ได้มากขึ้น แต่กระนั้นก็ยังได้รับผลกระทบจากโควิด เนื่องจากโมเดลธุรกิจแบ่งเป็น 1.จำหน่ายผ้าให้กับนักออกแบบเพื่อนำไปผลิต 2. B2B องค์กรจ้างผลิตสินค้าให้ตามต้องการคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 70% ซึ่งในส่วนนี้ลดเหลือ 0%
“เราจึงคิดหาทางออกด้วยการทำเป็นคอลเลคชั่น กลายเป็นว่าโดนใจผู้บริโภคทำให้ได้งาน B2B มากขึ้นและส่งออกไปจำหน่ายที่ยุโรป บริษัทจึงรอดจากสถานการณ์โควิดระลอกนั้นได้จนกระทั่งระลอกนี้หนักมากจึงต้องมอนิเตอร์ต่อไป”
สำหรับบทเรียนที่ได้จากโควิด ทั้งสองมองว่า หากอยู่เฉยและไม่หามุมที่เข้ากับองค์กรก็จะไม่เกิดสิ่งใหม่ และจะต้องมีการทำ Scenario Planning มองภาพในอนาคตที่ต้องอาศัยความคิดในหลากหลายมุมมอง ทั้ง Best case และ Worst case ด้วยเช่นกัน