‘ไอบีเอ็ม’ ชู เทคโนโลยีเครื่องมือกู้วิกฤติประเทศ
โควิด-19 เปิดพรมให้เห็นปัญหาที่ซ่อนไว้ ทำให้เห็นว่าประเทศ ธุรกิจ ยังต้องการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยในการขับเคลื่อนองค์กรและการใช้ชีวิต
ในเวทีเสวนา “Innovation Beyond Business โอกาสนวัตกรรมเศรษฐกิจ” ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เปิดมุมมองว่า โควิด-19 เป็นหายนะที่ช็อกโลก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้เปิดพรมให้เห็นปัญหาที่ซ่อนไว้ ทำให้เห็นว่าประเทศ ธุรกิจ ยังต้องการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยในการขับเคลื่อนองค์กรและการใช้ชีวิต
อย่างไรก็ดี หากประเมินถึงความพร้อมในการรับมือของประเทศไทย สิ่งที่ควรจะเป็นเทียบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงทั้งแง่ธุรกิจ อุตสาหกรรม และผู้ใช้งาน คะแนนที่ประเมินได้ขอให้ 5 เต็ม 10
โดยเห็นได้จาก ปัญหาความพร้อมเมื่อต้องทำงานจากที่บ้าน ออนไลน์เทรนนิ่ง เรียนออนไลน์ การเข้าถึงเทคโนโลยี รวมถึงดีไวซ์ซึ่งจะมีกี่ครอบครัวที่มีอุปกรณ์พร้อมให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือได้ ขณะเดียวกันหลายๆ องค์กรยังไม่พร้อมด้านไอทีอินฟราสตรักเจอร์และดีไวซ์สำหรับให้พนักงานทำงาน
'เทคโนโลยี'กุญแจฝ่าวิกฤติ
เธอกล่าวว่า โควิดทำให้ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นถูกเร่งขึ้นมาและปีนี้เห็นได้ว่าหลายองค์กรมีการปรับตัวมากขึ้น เทคโนโลยีเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติ มีส่วนสำคัญต่อการลดต้นทุน ทำให้การบริหารจัดการมีความยืดหยุ่น
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากในยุคแห่งคลาวด์และข้อมูลคือการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ ทุกวันนี้ทั้งข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลธุรกิจ ถูกคุกคามจากหลากหลายวิธีโดยอาชญากรไซเบอร์ จากข้อมูลพบว่า 85% ของข้อมูลที่มีการรั่วไหลมาจากการตั้งค่าระบบคลาวด์ที่ไม่ถูกต้อง 25% ถูกจู่โจมโดยแรนซัมแวร์ และอีกประเด็นสำคัญคือ การสร้างความโปร่งใสการใช้งานเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นเอไอหรือบล็อกเชนในการดูแลซัพพลายเชน
ผู้บริหารไอบีเอ็มกล่าวว่า วันนี้สถานการณ์โลกเข้าขั้นวิกฤติ ถูกท้าทายด้วยปัญหาสภาพแวดล้อม วิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยี ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการร่วมมือกัน ขณะเดียวกันรีสกิล อัพสกิล เป็นคำที่ต้องมี คำว่าบิ๊กดาต้า คลาวด์คอมพิวติ้ง ไม่ได้เป็นคำของไอทีหรือซีไอโอเท่านั้น
“การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อบริหารจัดการสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการใช้ชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ หากไม่เริ่มลงมืออาจสายเกินไป ที่สำคัญในช่วงเวลาวิกฤติแบบนี้เทคโนโลยีสำคัญพอๆ กับคนที่อยู่ในองค์กรและอยู่ในประเทศที่จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้ก้าวข้ามวิกฤติไปด้วยกัน”
ต้องมี ‘Mindful Leadership’
สำหรับผู้นำองค์กร สิ่งที่ต้องมีคือ “Mindful Leadership” ที่ต้องเปิดกว้าง รับฟัง เพื่อทำความเข้าใจ และพยายามดูว่าจะปรับได้อย่างไร มากกว่านั้นระมัดระวังเรื่องการเข้าไปตัดสินและมีอคติ เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้แม้มีความแตกต่าง
ที่ผ่านมา ผู้บริหารต้องปรับตัวอย่างมาก นอกจากขับเคลื่อนธุรกิจ ต้องมีความเข้าใจเรื่องการขับเคลื่อนบุคลากร มีวิธีคิดสำหรับรับมือพนักงานหลายเจเนอเรชั่น การเข้ามาของวิกฤติ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว รวมไปถึงการเปิดกว้างเรื่องนวัตกรรม ผู้นำที่จะพาธุรกิจไปข้างหน้าได้ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดจาก “What if” ไปเป็น “What is”
สำหรับการเปิดประเทศ ภายใต้คำถามที่ว่าพร้อมไหมที่จะเปิดเมืองเนื่องจากวันนี้การเข้าถึงวัคซีนอาจยังไม่ถึง 70% ทว่าหากต้องการจะเปิดควรมีระบบที่เข้ามารองรับ เพื่อช่วยให้สามารถขับเคลื่อนการเปิดประเทศ เอสเอ็มอี ผู้ให้บริการ โดยเทคโนโลยีที่ต้องนำมาใช้คือ “ดิจิทัล เฮลธ์ พาส” หรือ “ดิจิทัล วัคซีน พาสปอร์ต”
’Gig Worker’ คนเจนใหม่
นอกจากนี้ ที่ต้องปรับตัวคือคนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวไปสู่โลกการทำงาน งานวิจัยของประเทศออสเตรเลียพบว่า 70% ของเด็กที่จบใหม่จะพบว่างานของพวกเขาถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี เช่นเอไอ ออโตเมชั่น หลายคนพูดถึงการที่เทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่คน แต่ความเป็นจริงคือทำให้เกิดอาชีพใหม่ๆ เกิดเป็นงานที่เรียกว่า “Gig Worker” หรือประเภทฟรีแลนซ์ที่ต่อไปมีโอกาสเกิดขึ้นจำนวนมหาศาล
เทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปชั่นสกิลเซ็ต ไม่ได้มาแทนคนแต่จะมาใช้ร่วมกัน “Artificial intelligence” จะมารวมกับ "Human intelligence” คนรุ่นใหม่ต้องมีทักษะทั้งเชิงธุรกิจ ความรู้ความเชี่ยวชาญสาขาเฉพาะทาง การสื่อสาร การเข้าสังคม การทำงานร่วมกัน ทักษะด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงทักษะทางไอทีที่ตอบโจทย์ความต้องการยุคใหม่