ปัจจัยสู่ความสำเร็จ "โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ"
โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ ซึ่งตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี เป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับคนพิการติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน
นางสาววันทนีย์ พันธชาติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. กระทรวง อว. กล่าวว่า อีกสิ่งหนึ่งคือการสร้างความมั่นใจให้กับทีมที่ต้องปฏิบัติงาน หรือทีมที่เข้ามาสนับสนุนในอาคารสถานที่ เช่น แม่บ้าน ช่าง พนักงานที่ทำงาน โดยมีการให้พนักงานทุกคนได้ฉีดวัคซีน เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจ ให้กับคนทำงานว่าจะไม่นำเชื้อไปแพร่ให้กับครอบครัวที่บ้าน ในด้านนวัตกรรม สวทช. ได้มีกระบวนการเรียนรู้และนำนวัตกรรมมาใช้กับทางกลุ่มผู้พิการ
โดยนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ทั้งหมด สวทช. ได้มีการพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนโรงพยาบาลอื่นๆ ซึ่งเป็นบุคคลทั่วไปอยู่แล้ว ซึ่งในส่วนของนวัตกรรมที่โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ จะมีการนำมาใช้อย่างเหมาะสมต่อการใช้งาน เช่น MagikTuch ระบบลิฟต์ไร้สัมผัส
เปลความดันลบไว้สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 Girm Zaber UV-C Sterilizer อุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวี-ซี ซึ่งมีทั้งระบบแบบ station และหุ่นยนต์บังคับ สำหรับใช้ทำความสะอาดทั้งก่อนเริ่มใช้พื้นที่และหลังใช้พื้นที่ ด้านอุปกรณ์ป้องกัน มีการพัฒนาหน้ากากอนามัยเซฟีพลัส (Safie Plus) และ หน้ากาก N95 nBreeze มีหมวกความดันลบและความดันบวก และในส่วนของเทคโนโลยีอีกกลุ่มหนึ่งที่นำเข้าไปช่วย คือระบบติดตามสุขภาพ หรือ A-MED Telehealth ที่ถูกขยายผลนำไปใช้ในหลายหน่วยงานและโรงพยาบาลสนามอื่นๆ สำหรับการติดตามผู้ป่วยทางไกล
โดยปัจจุบันถูกนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยในระบบ Home Isolation และ Community Isolation นอกจากนั้นแล้ว ยังมีเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลแบบเคลื่อนที่ได้ (BodiiRay M) สำหรับเอกซเรย์ปอด และระบบบริการล่ามทางไกล ซึ่ง สวทช. มีศูนย์ที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการเรียกว่าศูนย์ TTRS มีบริการล่ามให้แพทย์และผู้พิการตลอด 24 ชั่วโมง
อีกทั้งยังมีเรื่องของรถบังคับส่งของทางไกล “อารี” และ “ปิ่นโต 2” ได้รับความร่วมมือจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. และกรมวิทยาศาสตร์บริการนำมาสนับสนุนเพื่อลดการสัมผัสอีกด้วย
ด้าน นางสาวเสาวลักษณ์ วิจิตร ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวง พม. กล่าวว่า ปัจจัยสู่ความสำเร็จ มี 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1.ผู้บริหารของแต่ละหน่วยงานสนับสนุนนโยบาย 2.ทีมทำงานมีความเข้มแข็ง พร้อมในการปฏิบัติงานและชัดเจนในบทบาทหน้าที่ 3.การมีเครื่องมือสนับสนุนในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นคู่มือในการปฏิบัติงาน แนวทางการทำงานที่ชัดเจน เครื่องมือในการปฏิบัติงานหรือนวัตกรรมที่สนับสนุน เครื่องอุปโภคบริโภคที่ได้รับจากการบริจาครวมถึงสวัสดิการด้านที่พัก รถสำหรับเคลื่อนย้ายผู้พิการ และการฉีดวัคซีนให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน
และ 4.เครือข่ายพร้อมให้ความช่วยเหลือ ทั้งองค์กรด้านคนพิการ หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ภาคประชาชนที่เป็นอาสาสมัคร หรือภาคเอกชนที่สนับสนุนการทำงาน ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการสามารถดำเนินงานได้ นอกจากนี้ยังสามารถขยายผลต่อได้ในเชิงรูปแบบ คือการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามตามประเภทความพิการ การจัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวสำหรับคนพิการทุกประเภทความพิการ การส่งต่อในระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) และการขยายผลในเชิงกระบวนการ สู่ระดับจังหวัด
โดยบูรณาการความร่วมมือหลักของกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้แก่ พม. สธ. มท. และ อว. รวมถึงองค์กรคนพิการในพื้นที่ ผู้ช่วยเหลือคนพิการที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งปัจจุบันจังหวัดสุรินทร์ได้นำไปขยายผล โดยเปิดศูนย์บริการคนพิการจังหวัด และมีการเชื่อมโยงประสานกับแพทย์ในระดับพื้นที่ ผู้นำคนพิการในพื้นที่ สถาบันการศึกษา รวมถึงท้องถิ่นในการขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับกระบวนการในการทำงานที่โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ
แพทย์หญิงบุษกร โลหารชุน รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ ถือว่าเป็นโรงพยาบาลสนามเพื่อคนพิการต้นแบบของประเทศไทย โดยสถิติคนพิการที่เข้ารับการักษาที่โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ ตั้งแต่ 1 มิถุนายน จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ก.ย.2564) มีผู้ป่วยสะสม 619 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 506 ราย อายุผู้ป่วยเฉลี่ย 42 ปี โดยมีอายุต่ำสุด 2 เดือน และอายุสูงสุด 90 ปี ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามีทั้งพิการทางการมองเห็น พิการทางการได้ยิน พิการทางการเคลื่อนไหว และพิการทางสติปัญญา
นอกจากนั้นแล้วสิ่งสำคัญคือการร่วมสำรวจองค์ความรู้ทางการแพทย์ เพื่อประเมินว่าเมื่อจะต้องจัดวอร์ดพิเศษหรือหอผู้ป่วยพิเศษเพื่อรองรับภาวะโรคระบาดนี้จะทำอย่างไรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและชุมชนเกิดความมั่นใจ ในเรื่องของการดูแลการส่งต่อการบริหารจัดการทีมภายในจังหวัด การดูแลเตียงในระดับสีต่าง ๆ ซึ่งมีความสำคัญมาก และการทำ HI อย่างไรให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่ายังอยู่ในการดูแลของแพทย์ แม้จะอยู่ที่บ้าน
รวมไปถึงการประเมินในการเข้าถึงเวชภัณฑ์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจและการรักษาที่สมบูรณ์ ซึ่งในการทำงานนั้นไม่สามารถดำเนินงานเพียงองค์กรเดียวได้ จำเป็นต้องอาศัยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาสังคมเพื่อช่วยในด้านของการประสานงานเพื่อตอบรับ หรือเพื่อก้าวข้ามระเบียบ หรือข้อจำกัดบางอย่างในภาวะวิกฤติซึ่งในส่วนนี้ภาคประชาสังคมถือว่ามีส่วนสำคัญมาก
ด้าน นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ ถือว่าเป็นโรงพยาบาลสนามเพื่อคนพิการแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน และหวังว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนามเพื่อคนพิการต้นแบบต่อไปในอนาคต ซึ่งนำไปสู่การขยายผลในเชิงนโยบายตามมา เกิดระบบวิธีคิดในการทำให้คนพิการอยู่ในกระแสหลักของสังคม และเกิดระเบียบปฏิบัติที่รองรับการทำงาน ซึ่งจะเป็นตัวตั้งต้นที่ทำให้เกิดแนวนโยบาย ให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติงานได้
ซึ่งในอนาคตอยากนำ 4 ชุดความรู้ ได้แก่ 1. ชุดความรู้ในการพัฒนานโยบายสาธารณะ 2. ชุดความรู้ในเรื่องนวัตกรรมเทคโนโลยี 3. ชุดความรู้ในเรื่องของการขับเคลื่อนสวัสดิการ ด้านสุขภาพ และสวัสดิการสังคมสำหรับกลุ่มเปราะบาง และ 4. ชุดความรู้ในเรื่องขององค์กรช่วยเหลือตนเองของผู้พิการ มาเป็นโมเดลต่อยอดสู่การสร้างแผนรับมือภัยพิบัติและวิกฤติโรคระบาดในอนาคต