สกสว.ระดมผู้ทรงคุณวุฒิมองภาพอนาคต ยกระดับโลจิสติกส์-ระบบรางของประเทศ

สกสว.ระดมผู้ทรงคุณวุฒิมองภาพอนาคต ยกระดับโลจิสติกส์-ระบบรางของประเทศ

สกสว.ระดมผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมประชุมข้อคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านโลจิสติกส์ส่วนราชการ ภาคการศึกษา และเอกชน ในหัวข้อ “การตรวจสอบสภาพแวดล้อมภายนอก เพื่อการมองภาพอนาคต ด้านโลจิสติกส์และระบบรางของประเทศ” กลไกสำคัญในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ และกลั่นกรองประเด็นสำคัญ

สกสว.ระดมผู้ทรงคุณวุฒิมองภาพอนาคต ยกระดับโลจิสติกส์-ระบบรางของประเทศ

เอก จินดาพล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านความสามารถในการแข่งขัน สกสว. กล่าวว่า สกสว. มีหน้าที่ในการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้าน ววน. ของประเทศ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยปัจจุบัน สกสว. ได้จัดตั้งหน่วยบูรณาการประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ ววน. (SAT : Strategic Agenda Team) ในประเด็นต่าง ๆ รวมถึงทางด้านโลจิสติกส์และระบบรางของประเทศ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ และกลั่นกรองประเด็นสำคัญ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน สู่การจัดทำแผนด้าน ววน. ของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

 

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าใน (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2570 ได้มีการกำหนดแผนงานพัฒนาระบบโลจิสติกส์และระบบรางของประเทศให้ทันสมัยได้มาตรฐานสากล แข่งขันได้ และเชื่อมต่อกับเครือข่ายรองรับระบบเศรษฐกิจนวัตกรรมในภูมิภาคอาเซียน โดยมีการวัดผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญจาก 1. ดัชนีชี้วัดขีดความสามารถโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index: LPI) ของประเทศไทย 2. ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศต่อ GDP 3. สัดส่วนการขนส่งสินค้าทางราง โดยใช้โครงข่ายระบบรางที่ทันสมัยของประเทศ และ 4. จำนวนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการวิจัย พัฒนาและผลิตด้านโลจิสติกส์และระบบรางในสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภาคเอกชน

 

สกสว.ระดมผู้ทรงคุณวุฒิมองภาพอนาคต ยกระดับโลจิสติกส์-ระบบรางของประเทศ

รศ.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการของหน่วยบูรณาการประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ ววน. (SAT) ด้านโลจิสติกส์และระบบรางของประเทศ กล่าวว่า ข้อมูลจากรายงานสำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรายงานว่า ในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยมีสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) อยู่ที่ 14.1 % หรือคิดเป็นเงินประมาณ 2,215.7 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจาก GDP ที่ลดลงจากภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตามเมื่อสังเกตตัวชี้วัดความสามารถด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย จัดอยู่ในอันดับที่ 32 ของโลก ขณะที่ประเทศเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 39 และประเทศมาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 41

สกสว.ระดมผู้ทรงคุณวุฒิมองภาพอนาคต ยกระดับโลจิสติกส์-ระบบรางของประเทศ

ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศเพื่อนบ้านสามารถพัฒนาความสามารถด้านโลจิสติกส์กำลังจะเทียบเท่ากับประเทศไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาด้านโลจิสติกส์เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขัน โดยการประชุมในครั้งนี้ได้ใช้เครื่องมือ การวิเคราะห์ ปัจจัยภายนอก (PESTEL Analysis) เป็นกรอบในการวิเคราะห์ซึ่งประกอบด้วย ด้านการเมืองและนโยบาย (Politics) ด้านเศรษฐกิจ (Economy) ด้านสังคม (Social) ด้านเทคโนโลยี (Technology) ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) และด้านกฎหมาย (Legal)

อย่างไรก็ตามการประชุมในวันนี้ถือเป็นการระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มย่อย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ให้ข้อคิดเห็นที่มีต่อการตรวจสอบสภาพแวดล้อมภายนอก (Environmental Scanning) ตามกรอบการวิเคราะห์ ปัจจัยภายนอก (PESTEL Analysis) ซึ่งผลจากการประชุมในครั้งนี้ถือเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับกระบวนการศึกษาการมองภาพอนาคต (Foresight) ในมุมของ ววน. ด้านโลจิสติกส์และระบบรางของประเทศ ที่กำลังจะเกิดขึ้นใน 1-2 เดือนถัดไป