คิดใหญ่ พลิกประเทศ ฉบับเจ้าสัว “ศุภชัย เจียรวนนท์” จอมทัพเครือเจริญโภคภัณฑ์
ศุภชัย เจียรวนนท์ บุตรชายคนที่ 4 ของ เจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ วันนี้ในวัย 54 ปี ศุภชัย คือ ทายาทผู้รับไม้ต่อจากเจ้าสัวผู้พ่อให้กุมบังเหียน “เครือเจริญโภคภัณฑ์” คุมอาณาจักรการค้า การเกษตร การลงทุน ค้าปลีก และอสังหาฯ ที่ใหญ่ที่สุดในไทย ท่ามกลางวิกฤติ และบริบทโลกที่เปลี่ยน
ศุภชัย เจียรวนนท์ บุตรชายคนที่ 4 ของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ศุภชัย หรือ “เจ้าสัวน้อย” นามที่มักถูกเรียกขานจากสื่อมายาวนาน วันนี้ในวัย 54 ปี เขา คือ ทายาทผู้รับไม้ต่อจากเจ้าสัวผู้พ่อให้กุมบังเหียน “เครือเจริญโภคภัณฑ์” คุมอาณาจักรการค้า การเกษตร การลงทุน ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ท่ามกลางวิกฤติ และบริบทโลกที่เปลี่ยนไป ตระกูล “เจียรวนนท์” ถูกจัดอันดับโดย “ฟอร์บส์ เอเชีย” ยกให้เป็นตระกูลที่มั่งคั่งมากที่สุดในปี 2564 ครองทรัพย์สินมากกว่า 9.48 แสนล้านบาท
นอกจากนั่งในตำแหน่งประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์แล้ว “ศุภชัย” ยังรั้งผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจในเครือ ทั้งประธานคณะกรรมการ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ รองประธานกรรมการ บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
อาณาจักรที่เขารับไม้ต่อ มีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจอย่างมหาศาล รวมถึง เมกะโปรเจครถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินมูลค่ากว่า “2 แสนล้านบาท” ที่ตอกย้ำความยิ่งใหญ่ของ “เครือเจริญโภคภัณฑ์" หรือ ซีพี กรุ๊ป ที่มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
หากเส้นทางแรกที่ปูทางให้ “ศุภชัย” ขึ้นทำเนียบนักธุรกิจแถวหน้าที่ประสบความสำเร็จ เป็น Role Model ให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ คือ “แม่ทัพ” ปลุกปั้นธุรกิจโทรคมนาคมยุคแรกของตระกูล จนสามารถ นำพาธุรกิจที่มีเม็ดเงินไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท พลิกโฉมสู่ “ทรู คอร์ปอเรชั่น” ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมอันดับ 2 ของไทย ด้วยวิชั่นที่เฉียบคม
ทุกการปรากฏตัวของ “ศุภชัย” เขามักส่ง message สำคัญ กระตุกต่อมคิดให้ภาคธุรกิจและรัฐอยู่เสมอ ทั้งเรื่อง ดิจิทัล ทรานส์ ฟอร์เมชั่น ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล การศึกษา การยกระดับการเกษตร “เจ้าสัวน้อย” เชื่อว่า เหล่านี้ คือ องค์ประกอบสำคัญของการพลิกโฉมประเทศ ท่ามกลางวิกฤติใหญ่ที่เปลี่ยนโลก ให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
“ศุภชัย” ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ในโอกาสครบรอบ 35 ปี ถ่ายทอดมุมมองแนวคิดรับมือโลกยุคใหม่ พร้อมเปิดตำราแนะการปรับตัวของธุรกิจ ในยุคที่ “ต้องรอด” และฉกฉวยโอกาสให้ได้ท่ามกลางวิกฤติ
“ศุภชัย” บอกว่า วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนทั่วโลก ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และระบบเศรษฐกิจทั้งโลกเป็นวงกว้าง สำหรับประเทศไทยสถานการณ์โควิด-19 น่าจะดีขึ้นเป็นลำดับ ผลจากการเร่งฉีดวัคซีนเชิงรุก และมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ จึงเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาได้ในเร็ววัน
“โควิดทำให้โลกทั้งโลกเปลี่ยนเร็วขึ้น เศรษฐกิจเปลี่ยน อุตสาหกรรมก็เปลี่ยน การทำงานก็เปลี่ยน การเรียนก็เปลี่ยน แทนที่ต้องใช้เวลาหลายปีในการปรับเปลี่ยน โควิด เร่งกระบวนการทั้งหมด หลังโควิดคงไม่เหมือนเดิมเป็นเหมือนการดิสรัปที่สะเทือนไปทั้งอุตสาหกรรม บางอุตสาหกรรมอาจทำให้ ทำธุรกิจแบบเดิมไม่ได้ และบางธุรกิจอาจได้ประโยชน์หากปรับตัวได้ เช่น เรื่องของสุขภาพ ก็อาจจะเป็นโอกาส ดังนั้น เรื่องสุขภาพ และความปลอดภัย คงจะเป็นส่วนสำคัญในทุกอุตสาหกรรม”
เขา อ้างถึงตัวเลขธนาคารโลก ที่ประเมินจีดีพีไทยปี 2564 เฉลี่ยปรับเพิ่มเป็นบวกที่ 2.2% เทียบจากปี 2563 ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย และสภาพัฒน์คาดการณ์ว่า จีดีพีไทยปี 2564 จะเพิ่มขึ้น 0.7- 1.2% แม้ตัวเลขจีดีพี ประเทศไทย จะยังน้อยเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค แต่ก็เป็นการสะท้อนให้ประเทศไทยต้องปรับตัว
“โควิด-19”เผยจุดอ่อนประเทศ
“สิ่งที่เป็นเรื่องท้าทายสำหรับประเทศไทย คือ ความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล Digital Divide ซึ่งโควิดทำให้เห็นว่า การเข้าถึงเทคโนโลยีด้านดิจิทัลนั้นสำคัญ เช่น ระบบการศึกษาเห็นเลยว่า นักเรียนที่เข้าไม่ถึงคอมพิวเตอร์จะเสียโอกาสในการเรียนรู้ การทำงานก็เช่นกัน หากองค์กรใดไม่ใช้เทคโนโลยี และไม่ปรับตัวบุคลากรในการเสริมองค์ความรู้ใหม่ Upskill Reskill ก็จะแข่งขันยากขึ้น ดังนั้น หลังโควิดจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งอาจต้องเริ่มจากการเร่งฉีดวัคซีนในกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ด้านเศรษฐกิจ ให้มีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบจำนวนมากพอ เพื่อเปิดให้ระบบเศรษฐกิจกลับมาเร็วที่สุด และขยายไปทั่วประเทศ ทั้งนี้ ต้องพยายามรักษาธุรกิจทุกขนาดให้อยู่รอดได้”
ขณะที่ หากมองถึงผลของโควิดในอีกมุม ศุภชัย มองว่า ได้สร้างผลกระทบเชิงบวก ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งมีบทบาทขยายตัวต่อไปได้ในอนาคต รวมทั้งมีการปรับขยับโครงสร้างของธุรกิจต่างๆ ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น จากวิกฤติโควิด ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยเติบโตถึง 81% มีมูลค่าตลาดสูงถึง 294,000 ล้านบาท
ดังนั้นวิกฤติโควิด-19 จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมหาศาลในอุตสาหกรรม และธุรกิจหลายประเภทตามมา ทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ธุรกิจโลจิสติกส์และขนส่งที่จะพัฒนามากขึ้นตามรูปแบบการค้าขายแบบออนไลน์ และสร้างธุรกิจออนไลน์ให้กับเอสเอ็มอีในประเทศได้เร็วขึ้น ดังนั้นถ้าภาครัฐและเอกชนรายใหญ่ร่วมมือกัน จะทำให้เอสเอ็มอีไทยเติบโตได้เร็ว และจะมีผลให้เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทยเติบโตตามไปด้วย
หนักกว่าต้มยำกุ้ง-แนะฟื้นเกษตรดึง “ดิจิทัล”
ศุภชัย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจช่วงวิกฤติโควิดครั้งนี้ เป็นวิกฤติครั้งใหญ่ และส่งผลกระทบในวงกว้างกว่าสมัยวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 สมัยนั้นได้รับผลกระทบเฉพาะกลุ่มโดยเฉพาะบริษัทใหญ่ ภาคการเงินธนาคาร หลังจากมีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หลายธุรกิจล้มลง เศรษฐกิจถดถอย ภาครัฐแก้ไขปัญหาโดยการเพิ่มเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ปฏิรูปสถาบันการเงิน ปรับโครงสร้างหนี้ ภาคเอกชนเรียนรู้การบริหารความเสี่ยง
แต่สถานการณ์ครั้งนี้ต่างออกไป โควิด-19 กระทบทุกคนเป็นวงกว้าง ทั้งภาคธุรกิจ และสังคม ทุกธุรกิจ ไม่สามารถดำเนินได้ปกติ บางอุตสาหกรรมปรับตัวแล้วก็ยังแย่ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ดังนั้น ภาครัฐต้องเข้ามาเยียวยา โดยเฉพาะหากเอสเอ็มอีสูญหาย เหมือนการเลี้ยงลูกที่กำลังจะเป็นผู้ใหญ่ จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศแล้วปล่อยให้ตายไป แทนที่จะเลี้ยงให้รอดอีกเพียง 1-2 ปี จะเป็นกำลังสำคัญในทางเศรษฐกิจ แต่หากปล่อยให้ธุรกิจขนาดกลางกับเล็ก ล้มหายตายจากไป พอพ้นโควิด การจะสร้างธุรกิจใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่าย
“ผมอยากให้เน้นเรื่องเกษตร ที่ต้องถือโอกาสนี้ทำเรื่องชลประทาน อย่าไปมองว่า ลงทุนด้านแหล่งน้ำ แล้วจะคืนทุนอย่างไร แต่ต้องมองภาพใหญ่ของประเทศ มองพื้นที่กักเก็บน้ำที่เป็นแก้มลิงอยู่แล้ว นำมากักเก็บน้ำช่วงหน้าฝน และนำไปใช้ช่วงหน้าแล้งด้วย เราต้องปรับตัวภาคเกษตร กลายเป็นเกษตรอุตสาหกรรม หากภาคการเกษตรของไทยแข็งแรง คนที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดก็พึ่งตัวเองได้ สามารถทำเกษตรที่ให้มูลค่าสูงได้หากน้ำเพียงพอ” เจ้าสัวน้อย ผุดไอเดีย
แม้ในประเทศไทย รูปแบบสหกรณ์อาจไม่สำเร็จเท่าที่ควร แต่การรวมตัวกันของชุมชน เป็นลักษณะเอสเอ็มอีที่มีการนำเทคโนโลยี การบริหารจัดการ มาใช้ด้านการเกษตร และมีเอสเอ็มอีมากกว่า 5,000 รายที่กระจายอยู่ตามตำบลต่างๆ ที่วางแผนสินค้าเกษตรที่ควรเพาะปลูก ตามความต้องการของตลาด และภาครัฐก็สนับสนุน หากปลูกพืชตามโซนนิ่งที่ตรงตามความต้องการของตลาด และ เอสเอ็มอีในรูปแบบสหกรณ์ ก็จะมาเพิ่มประสิทธิภาพ
“หากระบบเป็นไปลักษณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็มาเน้นเรื่องศูนย์วิจัย เพิ่มประสิทธิภาพด้านสายพันธุ์ ก็จะทำให้เกษตรกรไทย พ้นความยากจนได้ ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า เกษตรกรยังคงเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทย”
ส่วนในกลุ่ม “เอสเอ็มอี” นั้น เขามองว่า หลังโควิดจะมีโอกาสอีกมาก โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศไทย ในการไปสู่ตลาดที่กว้างขึ้นในระดับภูมิภาค ทั้งนี้ ธุรกิจ เล็ก กลาง ใหญ่ หากมีการประคองซึ่งกันและกัน โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ การใช้ข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับตลาดในต่างประเทศ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ คุณภาพสินค้า ระดับมาตรฐานสากล สินค้าไทย สามารถไปทำตลาดในต่างประเทศได้อีกมาก
“โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียที่กำลังเติบโต โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีความตั้งใจที่จะสร้างแพลตฟอร์มแห่งโอกาส ซึ่งเป็นการร่วมกันพัฒนาเอสเอ็มอี ไปแข่งขันในต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างยั่งยืน เป็นการเติบโตไปด้วยกันแบบ Inclusive อีกด้วย”
พลิกตำราแนะธุรกิจต้อง "รอด"
การอยู่รอดให้ได้ของธุรกิจในยุคนี้ ต้องอาศัยหลายแนวทางในการพยุงและฉวยโอกาสสร้างความแข็งแกร่งให้ได้ “ศุภชัย” แนะว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ภาคเอกชนต้องพิจารณาในการเผชิญหน้ากับวิกฤติโควิด-19 คือ
1.การประคองธุรกิจให้รอดให้ได้ ต้องมีการวิเคราะห์ต้นทุน เอกชนควรรัดเข็มขัดในสิ่งที่ยังรอได้ ยังไม่จำเป็น แต่ต้องพยายามรักษาการจ้างงานในวิกฤตินี้เพื่อช่วยรักษาระบบเศรษฐกิจและสังคมให้สามารถต่อสู้และอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้
ที่สำคัญ ต้องไม่ชะลอการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนที่นำไปสู่ศักยภาพใหม่ เช่น โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สร้างนวัตกรรมใหม่ ต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศให้มีคุณภาพดีขึ้น มีมูลค่าสูงขึ้น
“จากสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 เครือซีพี ยังคงประคองการจ้างงานในประเทศไทย และยังคงรับพนักงานเพิ่ม โดยปัจจุบันเครือซีพีมีพนักงานทั่วโลกรวมกว่า 450,000 คน และเป็นพนักงานในประเทศไทยราว 350,000 คน ซึ่งเครือซีพีประกาศว่า จะไม่ปลดพนักงานในช่วงโควิด เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และเป็นการพยุงเศรษฐกิจด้วย นอกจากนี้ยังมีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นด้วย เพื่อลดปัญหาเด็กจบใหม่ตกงาน ถือเป็นส่วนที่ภาคเอกชน ที่พอจะปรับตัวได้ ต้องเข้ามาช่วยกันในยามวิกฤติ”
2.คือ ใช้จังหวะของวิกฤติโควิด-19 ทำการ Digitalization องค์กร ทรานส์ฟอร์มไปสู่องค์กร 4.0 รับการขับเคลื่อนในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะเรื่องของ “ข้อมูล” ในโลกดิจิทัลจะเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เทคโนโลยีดิจิทัลจะไปอยู่ในทุกอุตสาหกรรม ตั้งแต่การออกแบบ กระบวนการผลิต ตลอดจนการขายและขนส่ง ซึ่งจะทำให้เกิดข้อมูลมหาศาลเกิดขึ้น
อีกทั้งทุกอุตสาหกรรมและธุรกิจในไทยวันนี้กำลังปรับตัวเข้าสู่ยุค O2O (Online to Offline) ส่งผ่านข้อมูลซึ่งกันและกันระหว่างธุรกิจออนไลน์และออฟไลน์ จึงต้องสร้างศักยภาพในการใช้ข้อมูลเพื่อทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ด้านดิจิทัล พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านดิจิทัล หรือ Digital Literacy ซึ่งภาคเอกชนต้องช่วยกันในการพัฒนาศักยภาพ การ UPSKILL RESKILL ให้บุคลากรมีความสามารถสูงขึ้น เช่น ในทักษะขั้นสูง ที่สามารถเขียนโปรแกรมได้ ไทยก็มีเพียง 1% ของจำนวนวัยทำงาน จึงต้องเร่งส่งเสริมพัฒนาให้เพิ่มขึ้นให้ได้ในระดับสากล เราเห็นตัวอย่างว่าในวิกฤติโควิด-19 นี้ ธุรกิจที่มีความคล่องตัวสูงส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเทคโนโลยี และขับเคลื่อนด้วยข้อมูลทางดิจิทัล ทำให้บริษัทเกิดไดนามิคหรือปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว”
และ 3. เศรษฐกิจยุคต่อไปจะเป็นยุค Inclusiveness ที่ต้องเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เป็นรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) มีความร่วมมือกันในระหว่างอุตสาหกรรมด้วยกันเพื่อร่วมกันสร้างระบบนิเวศน์ ที่จะส่งเสริมให้ ภาคเอกชน เอสเอ็มอี แม้กระทั่งเกษตรกรจะสามารถเติบโตได้ และต้องใช้โอกาสนี้นำประสบการณ์และศักยภาพของเอกชนรายใหญ่ช่วยนำพาธุรกิจรายเล็ก กลาง และรายย่อยของไทยที่มีมากกว่า 3.1 ล้านรายให้สามารถอยู่ต่อไปได้
แนะรัฐเร่งวัคซีน เยียวยา ปรับธุรกิจแข่งได้
ศุภชัย แนะไปถึงภาครัฐด้วยว่า สิ่งสำคัญในเชิงนโยบายที่รัฐต้องเน้นเป็นพิเศษ ประเด็นแรก คือ เรื่องความปลอดภัยและสุขภาพของประชาชน ซึ่งต้องเร่งควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้เร็วที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและหัวใจของประเทศให้กลับมาฟื้นตัวเร็วที่สุด โดยเร่งการจัดหาวัคซีน ซึ่งถือว่าปัจจุบันมีวัคซีนเข้ามามากขึ้น แต่ก็ต้องเร่งฉีดให้รวดเร็ว
นอกจากนี้ การเข้าถึงยาถือว่าเป็นส่วนสำคัญ ควรมีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียให้รวดเร็วเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ซึ่งนับว่ายังสูงอยู่ รวมถึงการตรวจเชิงรุก ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง จัดเตรียมเรื่อง HOME ISOLATION และ การเตรียมโรงพยาบาลสนามและอุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจให้เพียงพอ และควรมีการจัดการข้อมูล และเข้าถึงการแพทย์ทางไกล Telehealth โดยต้องมองว่า โควิดอาจอยู่กับเราในระยะยาว และอาจมีโรคระบาดใหม่ๆ เกิดขึ้นด้วย ดังนั้น การปรับตัวเพื่ออนาคต จึงเป็นเรื่องที่ควรดำเนินการแบบครบถ้วนไปเลย
ประเด็นที่สอง เขาเห็นว่า การประคองเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนยังเป็นเรื่องสำคัญ รัฐต้องเร่งเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน รักษาการจ้างงาน อาจมีโครงการ COPAY กับภาคเอกชน มีการชดเชยร้านอาหาร ร้านค้าที่ถูกปิด สูญเสียรายได้ มีการจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ต้องค้ำประกัน เช่น ภาคการท่องเที่ยว หลังโควิด หากภาครัฐรักษาการจ้างงานไว้ได้ ธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับมาเดินต่อได้เลย นอกจากนี้ควรมีการประคองธุรกิจ 4.0 รักษา Startup เพื่อธุรกิจที่สำคัญของไทยในยุคต่อไปจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี
เร่งดึงนักลงทุน จูงใจสิทธิพิเศษ
ประเด็นสุดท้าย คือ การเตรียมตัวเข้าสู่การฟื้นฟู โดยปรับตัวธุรกิจสู่การแข่งขันในยุคใหม่ ธุรกิจ 4.0 ต้องไปเชิญเข้ามา ไม่ต้องไปต่อคิว BOI ต้องทำให้เกิดเป็น One Stop Service ได้รับการดูแลที่มีเงื่อนไขที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ ที่แย่งตัวบริษัทขนาดใหญ่ ที่ต้องการขยายตลาดในอาเซียน
“เรื่องนี้ต้องเป็นเชิงรุก ไม่ได้รอให้นักลงทุนมาขอ แต่เราต้องไปถามว่า คุณต้องการอะไร และ เราจะสู้กับประเทศอื่นๆได้อย่างไร เพราะบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้มีทางเลือก ซึ่งอีอีซีของไทยมีศักยภาพ ที่จะดึงผู้เล่นระดับโลก 4.0 มาเมืองไทย และจะมาสร้างงาน สร้างอาชีพ และ สร้างภาษีให้กับประเทศไทยอีกมากมาย ดังนั้น ต้องขับเคลื่อนเชิงรุกอย่างรวดเร็ว”
ศุภชัย ย้ำว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากควบคุมการระบาด รัฐควรเน้นไปที่การดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในประเทศไทย สร้างความมั่นใจให้เอกชน การกลับมาของการลงทุนจากต่างประเทศ และการกลับมาของนักท่องเที่ยว ที่มองว่าประเทศไทยจะสามารถบริหารจัดการ และอยู่กับสถานการณ์โควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ รัฐต้องขยายการลงทุนต่อเนื่อง ต้องทำให้นักลงทุนต่างชาติเห็นว่าไทยไม่ได้หยุดลงทุน ยังมีการขยายธุรกิจ รวมทั้งผลักดันการลงทุนใหม่ๆ เช่น อีอีซีให้คืบหน้า เนื่องจากในครึ่งปีแรกของปี 2564 มูลค่า FDI ลดลงถึง 24% เทียบปี 2563 แต่กลับกันเวียดนามมีมูลค่า FDI เพิ่มขึ้นกว่า 13.2%เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ พร้อมกับการสร้างโอกาสให้มีการกลับมาของการลงทุนจากต่างประเทศ และการกลับมาของนักท่องเที่ยว
“ภาครัฐควรใช้โอกาสนี้ปฏิรูปในหลายเรื่องทำให้ประเทศไทยมีระบบนิเวศหรือโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมแข่งขันและเติบโตในเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ อาทิ การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้หลายุรกิจอุตสาหกรรมขยับคล่องตัวขึ้น เพราะถ้าเราจะเติบโต เราต้องลงทุน หรือต้องทำสิ่งที่ต่างไปจากเดิม เปิดโอกาสให้ธุรกิจ E-Wallet อื่นๆเข้าร่วมโครงการของรัฐ รวมถึงต้องสามารถสร้างนวัตกรรม เพิ่มมูลค่า เร่งสปีดประเทศไทยขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับผู้เล่นระดับโลก”