AWN จ่ายค่าประมูลคลื่น 1800 MHz งวดสุดท้ายแล้ว!! 3,346.69 ล้านบาท
สำนักงาน กสทช. รับเงินประมูลคลื่น 1800 ของ AWN ในราคาประมูลสูงสุด 12,511 ล้านบาท โดยชำระค่าประมูลงวดที่ 3 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย จำนวน 3,346.69 ล้านบาท
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (11 ต.ค. 2564) บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวอร์ค จำกัด (AWN) ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz ชุดที่ 1 ช่วงความถี่ 1740-1745 MHz คู่กับ 1835-1840 MHz เมื่อปี 2561 ในราคาประมูลสูงสุด 12,511 ล้านบาท ได้นำเงินค่าประมูลงวดที่ 3 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย จำนวน 3,346.69 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) มาชำระให้กับสำนักงาน กสทช. แล้ว ตามเงื่อนไขของการชำระเงินประมูล
โดยเงินค่าประมูลดังกล่าว สำนักงาน กสทช. จะรีบนำส่งกระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป
สำหรับเงินค่าประมูลงวดที่ 1 และงวดที่ 2 ที่ AWN ได้ชำระมาก่อนหน้านี้ จำนวน 10,040.08 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) สำนักงาน กสทช. ได้นำส่งเงินดังกล่าวให้กระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ในฐานะผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในมูลค่ารวม 12,511,000,000 บาท เป็นตัวแทนชำระเงินค่าคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz งวดที่ 3 งวดสุดท้าย จำนวน 3,346,692,500 บาท (สามพันสามร้อยสี่สิบหกล้านหกแสนเก้าหมื่นสองพันห้าร้อยบาทถ้วน) รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำส่งเงินเป็นรายได้ของแผ่นดินในการพัฒนาประเทศต่อไป
นายสมชัย กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 31 ปีของ AIS เราได้มีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงและติดอาวุธดิจิทัลให้กับประเทศ ด้วยเม็ดเงินกว่า 500,000 ล้านบาทในการพัฒนา Digital Infrastructure และอีกกว่า 200,000 ล้านบาท สำหรับค่าใบอนุญาต รวมไปถึงการสร้างบุคลากรด้านดิจิทัล ทั้งในส่วนของพนักงานเอไอเอสเอง และผ่านการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ และท้ายที่สุดคือ ร่วมปลดล็อคการเข้าถึงดิจิทัลแพลตฟอร์มด้วยเทคโนโลยี 5G ที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมประเทศชั้นนำของโลก"
ดังนั้น ในฐานะที่ประเทศไทย มีจุดได้เปรียบอยู่ที่ศักยภาพของคน และ โครงสร้างพื้นฐานอย่าง 5G ที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ การนำศักยภาพทั้งหมดมาเสริมความเข้มแข็งของประเทศได้อย่างดีที่สุด ซึ่งต้องมีการร่วมมือกันจาก 3 ภาคส่วน เริ่มจากภาคประชาชนที่ต้องมีความพร้อมที่จะปรับตัวรับมือกับการใช้ Digital ให้เกิดประโยชน์กับการใช้ชีวิตในทุกแง่มุม
ต่อมาคือความแข็งแกร่งของภาครัฐที่มีทรัพยากรในมือมหาศาล เช่น กสทช. ที่ได้บริหารจัดการนโยบายการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อผสานเข้ากับ ภาคเอกชน ทั้งผู้ให้บริการเครือข่ายและผู้ประกอบการทุกกลุ่มใน Digital Ecosystem ที่ต่างเดินหน้าทำงาน และลงทุนต่อเนื่อง เพื่อสร้าง Digital Infrastructure และให้บริการลูกค้าอย่างดีที่สุด
"ผมเชื่อมั่นว่า ประเทศไทย จะเป็นศูนย์รวมของอุตสาหกรรมดิจิทัลและเติบโต พร้อมรับมือกับความท้าทายจากสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างแน่นอน" นายสมชัย กล่าว