“ดีอีเอส” ผนึก 4 กระทรวง คลอด "แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ" รับ 1 พ.ย.
“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส แถลงร่วม 4 กระทรวง ชูนวัตกรรมดิจิทัลปฏิรูประบบสาธารณสุขผ่านโครงการ “ยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม โดยการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขแบบบูรณาการ (EPI)” ดึง "บิ๊ก ดาต้า" ต่อยอดสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพระดับสากล
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวระหว่างร่วมงานประชุมการปฏิรูประบบสาธารณสุข Big Rock 1 “ยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม โดยการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขแบบบูรณาการ (EPI : Ending Pandemics through Innovation)” วันนี้ (31 ต.ค. 64) ว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำชับให้กระทรวงดิจิทัลฯ ขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลของประเทศ ตามกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการสาธารณสุข
ทั้งนี้ การจัดทำและขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสาธารณสุข Big Rock 1 “ยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม โดยการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขแบบบูรณาการ (Ending Pandemics through Innovation Program)” เป็นความร่วมมือระหว่าง 5 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน ขานรับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาระบบและแพลตฟอร์ม เพื่อรองรับการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพ (Health Link) ประชาชนและบริการในอนาคต ยกระดับงานบริการสาธารณสุขของประเทศไทย
“การก้าวเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล ทำให้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทอย่างมากในระบบสุขภาพโลก โครงการฯ นี้ จึงเป็นการนำเทคโนโลยีไอซีที มาเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมชุมชนเข้ากับระบบบริการสุขภาพ ระหว่างประชาชนและแพทย์ผู้ดูแล นอกจากนี้ยังช่วยให้ประชาชนรู้อาการของโรคที่เป็น วิธีที่จะได้รับการรักษา รู้ถึงสิทธิที่ตนพึงได้รับการบริการด้านสุขภาพอย่างมีคุณภาพ เป็นธรรม และปลอดภัย” นายชัยวุฒิกล่าว
ทั้งนี้ ดีอีเอส ได้มอบหมายให้สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (Government Big Data Institute : GBDi) ร่วมกับหน่วยงานภายใต้ สธ. และ อว. ดำเนินการศึกษา ออกแบบ พัฒนา และให้บริการระบบสารสนเทศ สนับสนุนการพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพระดับชาติให้มีมาตรฐานในระดับสากล โดยเฉพาะการนำข้อมูลระดับมหภาค มาประกอบการตัดสินใจในการวางแผน และพัฒนานโยบายด้านสุขภาพ รวมทั้งบริหารจัดการกับแนวโน้มด้านสุขภาพในอนาคต
ดังนั้น การพัฒนามาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบ จึงเป็นแนวคิดสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านข้อมูลสุขภาพของประเทศ อีกทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา การเบิกจ่ายประชาชนในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งสามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้ทั้งภายในและข้ามเครือข่ายบริการ โดยใช้แนวทางที่มีมาตรฐานมาช่วยอำนวยความสะดวกเพื่อให้การใช้ระบบข้อมูลสุขภาพร่วมกันมีความราบรื่นระหว่างระบบ เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ (Health Information Exchange) ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป้าหมายในการเพิ่มคุณภาพการบริการแก่ประชาชนได้ในที่สุด
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า บทบาทของดีอีเอสในโครงการนี้ มีหน้าที่หลักในการออกแบบ พัฒนา และดูแลจัดการระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสุขภาพขนาดใหญ่ โดยระบบ Health Link ตั้งอยู่บนคลาวด์ของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ได้รับมาตรฐานสากล ISO 27001 และใช้ Fast Healthcare Interoperability Resources (FHIR) จากองค์กร Health Level Seven (HL7) International ซึ่งเป็นมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพที่มีผู้ใช้งานทั่วโลก
ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนโครงการนี้ จะช่วยเพิ่มจำนวนประชาชนผู้ได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล ได้ทั่วถึงและครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ประกันตนจะได้รับประโยชน์และการอำนวยความสะดวกอย่างยิ่ง หากข้อมูลเชื่อมโยงกันได้อย่างสมบูรณ์ ผู้ประกันตนก็จะสามารถเข้าการรักษาข้ามโรงพยาบาลได้ การเบิกจ่ายก็จะเป็นไปโดยง่าย