เปิดแผนบริหาร!! “ดาวเทียม” ใต้เงา "เอ็นที"

เปิดแผนบริหาร!! “ดาวเทียม” ใต้เงา "เอ็นที"

หลังไทยคมสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับ ดีอีเอส ที่กินเวลานานถึง 30 ปี และมอบทรัพย์สินคืนให้แก่รัฐตั้งแต่ 10 ก.ย. 2564 เพื่อส่งต่อไทยคม 4 และไทยคม 6 ให้ “เอ็นที"บริหาร กรุงเทพธุรกิจ" คุยกับ น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็นที ถึงแผนจากนี้

ภายหลังจากที่ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้สิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่งกินเวลายาวนานถึง 30 ปี ได้ส่งมอบทรัพย์สินคืนให้แก่รัฐตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา เพื่อส่งไม้ต่อในการบริหารไทยคม 4 และไทยคม 6 ให้กับ “เอ็นที” เข้ามาบริหารงาน "กรุงเทพธุรกิจ" คุยกับ น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ฉายภาพการบริหารงานภายใต้การคุมของรัฐว่า มีศักยภาพพอบริหารต่อได้ ประชาชนไม่ต้องกังวลว่าจะไม่สามารถรับชมโทรทัศน์ได้ และทีมมาร์เก็ตติ้งพร้อมทีมวิศวกรรมยังทำสามารถทำตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

เช็คทรัพย์สินก่อนเซ็นรับคืน

น.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากที่ไทยคมหมดสัญญาสัมปทาน ดาวเทียม 4 (ไอพีสตาร์) และ 6 กับกระทรวงดีอีเอสไปแล้วนั้น ที่ผ่านมา เอ็นที ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงดีอีเอสให้บริหารจัดการดาวเทียมต่อจากไทยคม ก็ได้ดำเนินการให้ฝ่ายขายติดต่อลูกค้าเก่าในประเทศ รวมถึงต่างประเทศเท่าที่จะทำได้ทันที ควบคู่กับการมองหาลูกค้าใหม่โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐด้วย

ขณะที่สัญญาการส่งมอบทรัพย์สินนั้นยังไม่มีการเซ็นรับแต่อย่างใด เพราะต้องอยู่ในกระบวนการตรวจสอบทั้งสัญญาและทรัพย์สินว่าถูกต้องและไม่ผิดกฎหมาย สัญญาได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และไม่ขัดคำสั่งศาลหรือไม่ เช่น กรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (สัญญาฉบับที่ 5) เห็นควรให้ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง ถือหุ้นในไทยคมไม่ต่ำกว่า 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ตามคำสั่งศาล ซึ่งมีการแก้เมื่อปี 2547 เป็น 40% 
 

รวมถึง กรณีการอนุมัติโครงการดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) โดยให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา กำหนดให้ไทยคม 4 ผนวกเข้ามาเป็นดาวเทียมภายใต้สัญญา และดำเนินการแก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

“ตอนนี้ยังไม่มีการเซ็นสัญญาใดๆกับไทยคมทั้งนั้น เรายังอยู่ในช่วงการตรวจสัญญาก่อนรับมอบทรัพย์สิน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ “

ไม่เดินตามกลยุทธ์แบบเดิม

น.อ. สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การรับมอบดาวเทียมมาบริหารจัดการต่อนั้น เรามีแนวทางกาารบริหารของเอ็นทีเอง เพราะเอ็นทีไม่ใช่เอกชน ดังนั้นการนำดาวเทียมมาบริหารจัดการต้องคำนึงถึงการให้บริการกับประชาชน กับสาธารณชน และหน่วยงานภาครัฐ เอ็นที คือ รัฐวิสาหกิจ ดาวเทียมที่ได้มาต้องนำมาส่งเสริมกับโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมอื่นๆที่เอ็นทีมี นำดาวเทียมไปใช้ในพื้นที่ห่างไกล ทดแทนการลากสายไฟเบอร์ที่เข้าไปไม่ถึง

ดังนั้น แผนการบริหารจัดการดาวเทียมดวงที่ 4 จะแตกต่างจากดวงที่ 6 เพราะดวงที่ 4 อายุวิศวกรรมอีกเพียง 2 ปี ซึ่งอาจจะอยู่ถึงหรือไม่ถึงก็ได้ การจะลงทุนใหม่อาจไม่คุ้มค่า ดังนั้นจึงควรนำไปให้บริการกับสาธารณประโยชน์ให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งตรงกับแนวคิดของรัฐวิสาหกิจที่ต้องช่วยให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยและห่างไกลได้เข้าถึงเทคโนโลยี 
 

ส่วนไทยคม 6 ยังมีอายุวิศวกรรมอีกประมาณ 8 ปี เอ็นทีก็ต้องทำแผนการให้บริการเพื่อภาครัฐด้วย เพื่อให้ภาครัฐมีดาวเทียมใช้ในราคาประหยัด   ซึ่งตอนนี้เอ็นทีมีความได้เปรียบตรงที่มีทรัพย์สินโทรคมนาคมทั้งของบมจ.กสท โทรคมนาคมเดิม และบมจ. ทีโอที เดิม ที่สามารถใช้งานร่วมกัน ทดแทนกัน และไม่ซ้ำซ้อนกันได้ ดังนั้นลูกค้าจึงมั่นใจได้ว่าบริการของเอ็นทีจะไม่สะดุดเพราะเรามีโครงข่ายที่มากที่สุดและสำรองการใช้งานร่วมกันได้

ซีอีโอใหม่ไทยคมรับงานปี65

นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไทยคม กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินแผนสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารเพื่อสร้างความยั่งยืน และต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ ดาวเทียม โดยคณะกรรมการบริษัท ได้พิจารณาแล้วได้เลือก นายปฐมภพ สุวรรณศิริ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งด้านเทคโนโลยี การพัฒนาธุรกิจ การขายและการตลาด และมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจระหว่างประเทศมาอย่างยาวนานร่วม 30 ปี

อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านการค้า ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมในบทบาทผู้นำขององค์กร ที่จะนำพาไทยคมให้ประสบความสำเร็จ ขยายโอกาสสู่ความท้าทายใหม่ๆ และเติบโตได้อย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต