"ยูนิคอร์นญี่ปุ่น" บุกตลาดไทย หนุนจับคู่ ชูเทคโนฯดาวเทียมเกษตร-คลีนเทค

"ยูนิคอร์นญี่ปุ่น" บุกตลาดไทย หนุนจับคู่ ชูเทคโนฯดาวเทียมเกษตร-คลีนเทค

ผ่านไปแล้วกับงาน “Rock Thailand” #3 ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ จับมือกับ สถานทูตฯญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย และเจโทร ภายใต้ธีม “Go Green and Clean toward Sustainable Society” โดยเป็นการดึงสตาร์ทอัพยูนิคอร์นด้านธุรกิจสีเขียว ชั้นนำของญี่ปุ่น ร่วมแชร์ความสำเร็จกับนักธุรกิจไทย

สร้างภูมิทัศน์อุตสาหกรรมใหม่

"ซึ่งความร่วมมือทางธุรกิจในด้านเทคสตาร์ทอัพระหว่างญี่ปุ่นและไทยนี้ จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศ ช่วยทำให้เรารับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่สังคมที่ยั่งยืน ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้กับสตาร์ทอัพไทย และสร้างกรอบความคิด (Mindset) ใหม่ว่า ไม่ใช่แค่การนำเทคโนโลยีที่คิดค้นมาใช้เท่านั้น แต่ยังเป็นการผนึกกำลังไปสู่การสร้างสรรค์ธุรกิจที่ยั่งยืน และสร้างภูมิทัศน์ใหม่ให้กับอุตสาหกรรมไปด้วยกัน" ศุภชัย เจียรวนนท์  ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าว 

และจากงานในครั้งนี้กรุงเทพธุรกิจได้ยกตัวอย่างสองผู้ประกอบการที่โดดเด่น เช่น Polar Star Space ให้บริการเทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจเพื่อการเกษตร โดยประยุกต์ใช้งานร่วมกับไอโอที และฐานข้อมูลเกี่ยวกับความยาวคลื่นแสงหรือสเปกตรัม ในเบื้องต้นให้บริการสำรวจหาโรคพืช อีกบริษัทคือ ACBIODE สตาร์ทอัพผู้พัฒนาแบตเตอรี่ AC แบบสแตนด์อโลนเครื่องแรกของโลก กับการจัดเก็บพลังงานที่ทดสอบพบว่ามีความจุเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับระบบทั่วไป ทั้งนี้อยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนาระบบดักจับคาร์บอนเพื่อนำมาใช้ประโยชน์

ดาวเทียมวิเคราะห์แปลงเกษตร

มาซาชิ คาวากุชิ ผู้แทนจาก Polar Star Space กล่าวว่า บริษัทก่อตั้งเมื่อปี 2560 โดย ทากาฮิโระ นากามูระ และเป็นบริษัทร่วมลงทุนของมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ซึ่งบริษัทฯถูกเลือกให้เป็น J-Startup โดยรัฐบาลญี่ปุ่น และมีดาวเทียมพิเศษในอวกาศที่ควบคุมได้อย่างแม่นยำทุกวัน เมื่อเทียบกับดาวเทียมปกติจะไปที่จุดเดิมทุก 2-3 สัปดาห์ 

"จากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศในปัจจุบันนี้ ส่งผลให้เกิดโรคในฟาร์มที่เพิ่มขึ้น ดาวเทียมสำรวจขนาดเล็กจึงเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะเข้ามาช่วยให้เราสามารถดูฟาร์มเหล่านี้จากอวกาศ เพื่อระบุโรคได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากการสูญเสียในแต่ละปี จากโรคในฟาร์มส่งผลให้สูญเงินมากกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี"

ขณะนี้บริษัทฯกำลังดำเนินการโปรเจ็กต์ที่แตกต่างกันอยู่ 2 โปรเจ็กต์ โดยโปรเจ็กต์แรกคือ การสำรวจต้นกล้วยในประเทศฟิลิปปินส์ และอีกโปรเจ็กต์คือการสำรวจต้นปาล์มในประเทศมาเลเซีย 

โดยในมาเลเซียคาดหวังที่จะลดการสูญเสียให้ได้กว่า 5 พันล้านดอลลาร์ต่อปี รวมถึงในประเทศอินโดนีเซียอีก 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี

ซึ่งการสำรวจโดยใช้กล้อง DIWATA Satellite ระบุจากความสูง 600 กิโลเมตรบนท้องฟ้า หลังจากนั้นได้ทำการประสานงานกับผู้ปฏิบัติงานภาคพื้นดินเพื่อแยกพืชที่เป็นโรคออกเพื่อยืนยันความน่าเชื่อถือในการค้นพบ  และพบว่าแม่นยำกว่า 90%  ขณะที่กล้องบนโดรนทั่วไปไม่สามารถตรวจจับได้

 "โรคระบาดในพืชมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องได้รับการระบุแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นปาล์มใช้เวลาเพียงแค่ 3-4 เดือนก็สามารถทำให้ต้นไม้ตายได้ เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่มีขนาดใหญ่ อาทิ พื้นที่กว่า 3 หมื่นไร่ต้องใช้การบินโดรนกว่า 1 หมื่นครั้ง ดังนั้นดาวเทียมจึงเหมาะกว่าในการตรวจสอบพื้นที่จำนวนมหาศาลแบบนี้ เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีภาคพื้นดิน อย่าง โดรน หรือ อุปกรณ์แบบพกพา"

ในขณะนี้ภารกิจที่ 1 จะโฟกัสในด้านอุตสาหกรรมการเกษตร ส่วนแต่ในอนาคตจะขยายไปในด้าน อุตสาหกรรมการประมง การพยากรณ์ภัยพิบัติ (ดินถล่มและไฟป่า) และการตรวจสอบการก่อสร้างตามลำดับ

ทาดาชิ คุโบะ ซีอีโอ ACBIODE กล่าวว่า AC Biode เป็นธุรกิจเทคโนโลยีสะอาด ตั้งอยู่ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีออฟฟิศอยู่ที่ประเทศอังกฤษ และประเทศลักเซมเบิร์ก โดยปัจจุบันกำลังดำเนินงานอยู่4 โปรเจคด้วยกันได้แก่ที่เก็บแบตเตอรี่,ตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีในการย่อยสลายขยะพลาสติก การหมุนเวียนชีวมวลสู่วัสดุต้านเชื้อแบคทีเรีย และโถสุขภัณฑ์แบบไม่ใช้น้ำ

"ขยะชีวมวลอย่างเถ้าถ่านเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดต่อสิ่งแวดล้อมและมีราคาแพงในการกำจัด ดังนั้นบริษัทฯจึงนำมารีไซเคิลเป็นหน้ากากต้านเชื้อแบคทีเรีย แผ่นกรองขจัดการปนเปื้อนกำมันตภาพรังสี"  

หมุนเวียนชีวมวล

ทาดาชิ กล่าวเสริมว่า โมเดลธุรกิจของบริษัทฯคือการให้บริการด้านวิศวกรรมแก่เจ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือพลังงานชีวภาพ  ซึ่งประโยชน์ที่ลูกค้าได้รับคือการประหยัดต้นทุนในการกำจัดเถ้าถ่าน ลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงความสามารถในการดูดซับน้ำมัน และการดูดซึมสารอันตราย โดยได้เสร็จสิ้น 2 โปรเจ็กต์ในประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนเถ้าถ่านหินเป็นตัวกรองอากาศ และขี้เถ้าชีวมวลเป็นตัวกรองและสารระงับกลิ่นกายอีกด้วย

ส่วนในประเทศไทยบริษัทฯได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของเถ้าชีวมวลกับบริษัทสหโคเจน ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสในการทำงานในประเทศไทย ทั้งยังได้ลงนามการจัดการเถ้าถ่านหิน ที่ประเทศคาซัคสถาน และอีกที่คือประเทศบังกลาเทศ กับบริษัท GCM Resources ประเทศอังกฤษ ส่วนขนาดตลาดที่ตั้งเป้าไว้คือ 57 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568  

"การดักจับคาร์บอนเป็นหัวข้อใหม่ที่เป็นที่นิยม เรากำลังทำการสำรวจ และได้มีการค้นวิธีที่จะลดต้นทุนในการดักจับคาร์บอน  ดังนั้นในขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการจัดหาตัวอย่างและวิเคราะห์เถ้าถ่าน โดยเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทฯที่สนใจสามารถเข้ามาเจรจาได้ เนื่องด้วยบริษัทฯมีทีมงานที่มีทักษะเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมพลังงาน ด้านวิศวกรรม และวิทยาศาสตร์  ดังนั้นจึงกำลังมองหาการระดมทุนและคู่ค้าทางธุรกิจที่สนใจในการดักจับคาร์บอน การล้างคราบน้ำมัน และ 4 โปรเจ็กต์ที่กล่าวไปข้างต้นทั้งประเทศไทยและประเทศอื่นๆเพื่อขยายการดำเนินงาน พร้อมทั้งเป็นการผลักดันธุรกิจและสิ่งแวดล้อมพร้อมกับเติบโตไปด้วยกัน"